บทนำ : 5 ปีรัฐประหาร

นักศึกษาประชาชนหลายกลุ่ม ออกมาเคลื่อนไหวทำกิจกรรม รำลึกวาระครบ 5 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ดำเนินการโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มี
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการที่มี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ของการเมืองไทย

สาเหตุของรัฐประหาร เริ่มจากการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับเหมาเข่ง เมื่อเดือนตุลาคม 2556 แม้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยอมถอนร่างกฎหมาย แต่กลุ่ม กปปส. หรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ยกระดับการชุมนุม เป็นการขับไล่รัฐบาล กระทั่งรัฐบาลยุบสภาในเดือน ธ.ค. กำหนดเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.2557 แต่ม็อบยืนกรานให้รัฐบาลลาออก ขัดขวางการเลือกตั้งจนประชาชนหลายพื้นที่ไปใช้สิทธิไม่ได้ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี พ้นตำแหน่ง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระทำขัดรัฐธรรมนูญ โดยแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการ นายนิวัฒน์ธำรงรักษาการแทน ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ผบ.ทบ.ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และจัดการประชุมเพื่อหาทางออก ในการประชุมวันที่ 22 พ.ค.ที่สโมสร ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ถามตัวแทนพรรคเพื่อไทยว่าจะลาออกหรือไม่ ทางตัวแทนตอบว่า ตามกฎหมาย รัฐบาลรักษาการลาออกไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศยึดอำนาจ ควบคุมตัวตัวแทนฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2557 สนช. เลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐประหารดังกล่าว คนไทยจำนวนหนึ่งยินดี โดยเห็นว่าเป็นทางออกของวิกฤต แต่คนไทยอีกจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย และเชื่อว่าวิกฤตคือการสร้างสถานการณ์เพื่อเป็นเงื่อนไขยึดอำนาจ และชี้ว่ารัฐประหารจะไม่แก้ปัญหาใดๆ ขณะที่นานาชาติเรียกร้องให้ประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งที่เสรีและจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน ซึ่งบัดนี้การเลือกตั้งได้เกิดขึ้นแล้ว แต่รัฐบาลใหม่ จะมาจากเจตนารมณ์ของประชาชนที่ลงคะแนนเลือกตั้ง หรือเป็นไปตามแนวทางที่ดีไซน์ไว้ก่อน ยังเป็นที่สงสัย และเป็นที่จับตาของทุกฝ่ายในขณะนี้ว่า กลุ่มผู้ยึดอำนาจยังไม่หลีกทางให้ระบบปกติได้เกิดขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image