สหรัฐยกระดับสกัด ‘หัวเว่ย’

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

สหรัฐได้นำชื่อบริษัท “หัวเว่ย” จัดเข้าในบัญชีดำทางการค้า เป็นเหตุให้บรรดาธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่าง Google เป็นต้น จำต้องยุติความร่วมมือกับ “หัวเว่ย” เป็นการชั่วคราว

ท่ามกลางสงครามการค้ากำลังดุเดือด สหรัฐก็ทำการสกัดการพัฒนาไฮเทคของจีน

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก

มุมมองของสหรัฐก็คือ “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว”

Advertisement

ก็เพราะสหรัฐต้องการเพิ่มต้นทุนในการทำสงครามการค้า

แต่สหรัฐมองเหรียญเพียงด้านเดียว เพราะนี่คือ “ห่วงโซ่” ที่เชื่อมถึงกันทั่วโลก (Global supply chain) กรณีละม้ายกับสงครามการค้า คือ เสียหายทั้งคู่

การที่สกัด “หัวเว่ย” ก็เสียหายเช่นเดียวกัน

Advertisement

เป็นการกระทบต่อหุ้นส่วนทางธุรกิจในสหรัฐและการเจริญเติบโตเครือข่าย 5จี ทั่วโลก

สหรัฐเปิดสงครามเศรษฐกิจโดยอาศัยข้ออ้าง “ความมั่นคงประเทศ” ทำการ “ทุบขยี้” ธุรกิจของจีน โดยปราศจากวัตถุพยาน

กรณีไม่ต่างไปจากการรุกรานอิรักเมื่อปี 2003 เพราะเป็นการกล่าวที่ “เลื่อนลอย”

เป็นเรื่องใหญ่

ก็เพราะเทคนิค 5จี ของ “หัวเว่ย” นำหน้าธุรกิจประเภทเดียวกันทั่วโลก คุณภาพคุ้มค่า

วอชิงตันแถลงหลายครั้งแล้วว่า “การแข่งขันทางด้าน 5จี พ่ายแพ้แก่จีนไม่ได้แน่นอน”

และแล้ว “ขบวนการทุบขยี้” ก็เกิดขึ้น โดยมีประเด็นสำคัญอยู่ 2 ส่วน

1.”โดนัลด์ ทรัมป์” ลงนามใน “คำสั่งบริหาร” โดยประกาศให้เข้าสู่ “ภาวะฉุกเฉิน” ห้ามทำการค้าที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ อุปกรณ์สื่อสารของจีนจึงกลายเป็น “เป้าหลัก”

2.บรรจุหัวเว่ยให้เข้าอยู่ในบัญชีรายชื่อธุรกิจ 70 องค์กร ต้องถูกควบคุมตรวจสอบ บรรดาธุรกิจสหรัฐทั้งหลายที่จะทำการขายสินค้าและบริการให้แก่หัวเว่ย จักต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ทุกรายเสมอไป

ข้อ 1 มีผลกระทบน้อยเพราะหัวเว่ยมีธุรกิจในสหรัฐไม่มาก ส่วนข้อ 2 มีผลกระทบมาก

หัวเว่ยมิเพียงเป็นแนวหน้าระดับ 5จี ของโลก ยังเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก มาตรการที่วอชิงตันทุบขยี้หัวเว่ยนั้น ธุรกิจไฮเทคสหรัฐได้รับผลกระทบรุนแรง

การพัฒนาระบบ 5จี ทั่วโลกก็ต้องชะลอการเติบโตเช่นกัน

“หัวเว่ย” มีตลาดในยุโรปกว้างใหญ่ แต่ก็ไม่เคยประสบปัญหาเหมือนกับที่ “เมดอินยูเอสเอ” เพียงแต่พบว่าการออกแบบของผลิตภัณฑ์มีช่องโหว่ และขอให้ทำการแก้ไข เรื่องก็จบ

แต่สหรัฐกลับใช้มโนคติ โดยการกล่าวอ้าง “ความมั่นคงประเทศ” เป็นใบเบิกทางในการเชือดหัวเว่ย ซึ่งไม่มีหลักฐานอันใดสามารถยืนยันถึงความผิด ปราศจากเหตุผลและขาดความชอบธรรม และก็ไม่เห็นมีนักวิชาการสักคนออกมาพูดเรื่องนี้แต่อย่างใด

สรุป ประเทศจีนก็คือ “ศัตรู” นั่นเอง

การสร้างความชอบธรรมเพื่อกล่าวหาผู้อื่นนั้น ไม่ยาก อาทิ

ปี 2003 วอชิงตันกล่าวหาว่า “อิรักพัฒนาอาวุธร้ายแรงสามารถทำลายชีวิตมนุษย์”

“เพียงคำเดียวที่ปรารถนา” แต่มิใช่เพลงที่สุเทพ วงศ์กำแหง ขับร้อง

หากเป็นคำสั่งให้เปิดฉากสงคราม บุกรุกอิรักชนิดถอนรากถอนโคน บรรดาสื่ออเมริกันช่วยเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาล จนกระทั่งอิรักราบเป็นหน้ากลอง ความจริงจึงปรากฏว่า “อิรักไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ร้ายแรงแต่อย่างใด”

การทำสงครามทางเศรษฐกิจกับจีนวันนี้ไม่ต่างไปจากการโจมตีอิรักวันนั้น

การที่ธุรกิจจีนในสหรัฐที่โดนทุบโดนขยี้ มิเพียงแต่หัวเว่ย หากมีองค์กรอื่นอีก อาทิ

บริษัทจีนชื่อ “CRRC Corporation Limited” ได้ทำการแข่งขันในการก่อสร้างรถไฟใต้ดินที่นครนิวยอร์ก และชนะการประกวดด้วยความขาวสะอาด อะไหล่ตู้รถไฟส่วนใหญ่ผลิตในสหรัฐ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาล แต่ก็ยังมีนักการเมือง “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ”

ทั้งนี้ โดยชูธง “ความมั่นคงประเทศ” และขอให้ยับยั้งการประมูลของธุรกิจจีน

เนื่องจากธุรกิจไฮเทคของจีนมีการพัฒนารวดเร็ว จึงเป็นเหตุให้สหรัฐเกิดความรู้สึกว่า “ถูกคุกคาม” ฉะนั้น จึงสร้าง “ความชอบธรรม” ขึ้นมา เพื่อทำการสกัดกั้น

เวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศจีนทำการปรับปรุงโครงสร้างทางเทคโนโลยี ก็เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในประเด็นห่วงโซ่ทางธุรกิจของโลก

สหภาพยุโรปก็มีความกังวลการผูกขาดของธุรกิจไฮเทคของสหรัฐซึ่งได้แก่ facebook Google เป็นต้น จนลุกลามบานปลายเกิดการฟ้องกันขึ้น

การช่วงชิงความเป็นใหญ่ทางไฮเทคของสหรัฐในครั้งนี้ อาจเป็นเหตุนำมาซึ่งการรวมตัวระหว่างจีนกับสหภาพยุโรปซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่อยู่ในระนาบเดียวกัน

เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกข่มเหงรังแกอย่างปราศจากเหตุและผล

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image