ภาพเก่าเล่าตำนาน : ใครและทำไมต้องสังหาร นายพลออง ซาน (2)

(ภาพจาก http://www.thaitribune.org/contents/detail/378?content_id=20990&rand=1472191471)

ท่านผู้อ่านให้ความเมตตาติดตาม ถามไถ่เรื่องของ นายพลออง ซาน อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง…ขอบคุณ มติชน ที่ให้พื้นที่ผมได้แบ่งปันข้อมูลกับสาธารณชนครับ….

คนไทยคุ้นชินกับชื่อของ นางออง ซาน ซูจี หญิงเหล็กที่เป็นผู้นำคนสำคัญในเมียนมาเพื่อนบ้านของเรา เธอเป็นลูกสาวของนายพลออง ซาน และเธอก็เคยมาเยี่ยมพี่น้องชาวเมียนมาที่ทำงานที่สมุทรสาคร เมื่อ 23 มิถุนายน 2559

กลับมาเรื่องของ นายพลออง ซาน บิดาแห่งเอกราชของชาวเมียนมา เป็นวีรบุรุษคนสำคัญ ท่านถูกสังหารโหดในวัย 32 ปี เมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2490 ขณะที่เด็กหญิงออง ซาน ซูจี อายุ 2 ขวบ

ขอเรียนท่านผู้อ่านอีกครั้งว่า ออง ซาน มิได้จบจากโรงเรียนนายร้อยที่ไหน พ่อแม่เป็นชาวบ้านทำมาหากินในช่วงที่อังกฤษปกครองพม่า ชาวพม่ายากจน ทำงานหนักเพื่อความร่ำรวยของนายทุนอังกฤษที่สูบ ตักตวงทรัพยากร ไม้สัก ข้าว อัญมณี หยก พลอย แร่ธาตุสารพัด แบบหิวโหย เมามัน

Advertisement

พม่ามีปัญหาภายในอยู่ไม่น้อย แผ่นดินพม่าระอุไปด้วยความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าต่างๆ “ชนเผ่าพม่า” เป็นเพียง 1 ใน 135 ชนเผ่าเท่านั้น

ออง ซาน จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เป็นผู้วางแผนให้นักศึกษา ประชาชน พระสงฆ์ลุกขึ้นต่อสู้ ขับไล่อังกฤษออกจากพม่าโดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพญี่ปุ่นก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ยศนายพล เป็นการยกย่องท่านในฐานะผู้ก่อตั้งกองทัพพม่า ทำหน้าที่ของทหารกู้ชาติ ให้เป็นเอกราชได้สำเร็จ

Advertisement

ย้อนความในประวัติศาสตร์สักนิดครับ…

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวพม่า ก่อร่าง-สร้างแนวร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นเพื่อจะขับไล่อังกฤษให้ออกไปจากแผ่นดินพม่า ญี่ปุ่นกระโดดเข้าร่วมกับ “แนวร่วมกู้ชาติ” ของ ออง ซาน เป็นพันธมิตรจับมือ ร่วมด้วยช่วยกันรุมกินโต๊ะอังกฤษในพม่า…

ในเวลาต่อมา…ญี่ปุ่นลักลอบส่งเด็กหนุ่ม 30 คนไปที่ญี่ปุ่นเพื่อตกลงที่จะร่วมรบต่อสู้กับอังกฤษ 30 หนุ่มฉกรรจ์ย้ายไปฝึกที่บนเกาะไหหลำ แล้วย้ายไปฝึกต่อที่เกาะฟอร์โมซา (ไต้หวัน)

เมื่อฝึกจบ เด็กหนุ่ม 30 คน นำโดย ออง ซาน ออกจากเกาะไหหลำมาแวะขึ้นบกที่เวียดนาม เดินทางมาแวะที่กรุงเทพฯ นายแพทย์ชาวพม่าที่มีบ้านอยู่แถวซอยสวนพลู ให้การดูแลที่พัก เลี้ยงข้าวปลาอาหาร

ธันวาคม 2484 นักรบหนุ่มชาวพม่ามาประกาศตั้ง “กลุ่ม 30 สหาย” (Thirty Comrades) กรีดเลือดสาบานและดื่มเลือดร่วมกันที่กรุงเทพฯ ตั้งอุดมการณ์จะพลีชีพต่อสู้กับอังกฤษ …นี่เป็นประวัติศาสตร์การก่อตั้งกองทัพพม่าที่ไม่ค่อยมีใครทราบนะครับ

เมื่อกลับไปถึงพม่าแล้วจึงตั้งเป็น Burmese Independence Army (BIA) ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพญี่ปุ่น โจมตีกองทัพอังกฤษจนต้องร่นถอยเข้าไปในอินเดียและญี่ปุ่นปกครองพม่าแทน

เหมือนหนีเสือปะจระเข้..แถมเป็นจระเข้ขนาดยักษ์ซะด้วย

กองทัพเลือดซามูไรที่ปกครองพม่ามันโหดกว่าอังกฤษซะอีก มีการปล้นฆ่ากันทุกหนแห่ง ออง ซาน และกลุ่ม 30 สหายเริ่มอึดอัด

กองกำลัง BIA ชาวพม่าที่ตั้งใจจะกู้ชาติ “แปลงร่างเป็นกองโจร” ไปฆ่าชาวกะเหรี่ยงที่เคยรับใช้ เป็นลูกน้องอังกฤษ…กะเหรี่ยงโดนจับยิงเป้าแบบฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

พม่าฆ่ากะเหรี่ยงก็สะใจเหมือนได้ฆ่าคนอังกฤษ

กลุ่ม 30 สหายที่เคยดื่มเลือดสาบานที่กรุงเทพฯ แตกคอ ทรยศต่อกันแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน แม่ทัพญี่ปุ่นได้รับทราบพฤติกรรมเยี่ยงโจรของกลุ่ม BIA จึงสั่งยุติบทบาทและสลาย BIA

สิงหาคม 2485 ญี่ปุ่นตั้ง บา มอ เป็นนายกฯของพม่าและตั้ง ออง ซาน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่งตั้งยศ นายพล และเป็นผู้บัญชาการกองทัพแห่งชาติ (Burma National Army : BNA) มีกำลังพลประมาณ 4,000 คน และอู นุ เป็น รมว.กต.

รัฐบาลของนายบา มอ เป็นรัฐบาลเป็ดง่อย ไม่มีอำนาจการตัดสินใจ ความจริงที่ซ่อนอยู่ คือ ญี่ปุ่นมองพม่าเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อการทำสงคราม

สถานการณ์พลิกกลับ มิตรกลายเป็นศัตรู …บรรดาผู้นำระดับสูงของพม่าเริ่มคิดจะไล่ญี่ปุ่นออกจากพม่า

ต้องยอมรับว่า ออง ซาน ที่ตั้งใจดีต่อแผ่นดินเกิดตกที่นั่งลำบาก

กลับมาที่ประเด็นหลัก…ใครอยู่เบื้องหลังการสังหารออง ซาน

พ.ศ.2488 ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามต้องถอนทหารออกไปจากพม่า…อังกฤษหวนกลับเข้ามาปกครองแผ่นดินพม่าอีกครั้ง

พ่อค้าอังกฤษอยากมีส่วนแต่งตั้งนายกฯพม่าเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า

บริษัทการค้าของอังกฤษให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ อู ซอ (U Saw) นักการเมืองคู่ต่อสู้ของออง ซาน เพื่อจะผลักดันให้เป็นนายกฯพม่า

แผนการให้พม่าเป็นเอกราชของ ออง ซาน คืบหน้าต่อไปได้ 1 ขั้น เมื่อนายกฯอังกฤษชื่อ แอตลี (Atlee) เชิญออง ซาน และคณะเดินทางไปลอนดอน

อู ซอ เดินทางร่วมคณะไปพร้อมกับออง ซาน เพื่อทำข้อตกลงเตรียมการเป็นเอกราช อู ซอ ไม่ค่อยพอใจข้อตกลงที่ออง ซาน ทำกับอังกฤษ

คณะของออง ซาน กลับจากลอนดอนถึงย่างกุ้งพร้อมกับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่… มีเวลาเตรียมการสำหรับชาวพม่าเพื่อจะเป็นประเทศเอกราชภายใน 1 ปี

12กุมภาพันธุ์ 2490 ออง ซาน ผู้นำที่เก่งฉกาจเชิญผู้นำชนกลุ่มน้อย มาประชุมเพื่อจัดการเรื่องเอกภาพของพม่าเอง เกิดข้อตกลงเรียกว่าข้อตกลงที่พลิกโฉมหน้าแผ่นดินพม่าชื่อ ปางโหลง (Panglong Agreement)

ในเวลานั้น กองทัพพม่าและประชาชนเคารพชื่นชมออง ซาน กองทัพเผ่ากะเหรี่ยงและกองทัพของเผ่าคะฉิ่นสนับสนุนออง ซาน

สัญญาปางโหลง ที่ยิ่งใหญ่สำหรับแผ่นดิน สร้างความไม่พอใจให้อู ซอ ในเวลาเดียวกัน มีข่าวว่าเกิดการลักลอบค้าอาวุธจากหน่วยทหารของอังกฤษที่กลับเข้าไปในพม่า มีทหารขโมยอาวุธออกมาจากคลังมาขาย

ออง ซาน แจ้งผู้ว่าการรัฐอังกฤษให้ทราบ

อู ซอ (U Saw) เป็นใคร?

ช่วงเด็ก อู ซอ เรียนหนังสือในโบสถ์ของนักบวชโรมันคาทอลิก จบการศึกษาด้านกฎหมาย พ.ศ.2478 เขาซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ชื่อ Thuriya แล้วใช้เป็น

กระบอกเสียงเพื่อโฆษณาตัวเองที่จะก้าวไปสู่เวทีการเมือง เขาก้าวขึ้นเป็นนายกฯของพม่าที่อังกฤษแต่งตั้งช่วง พ.ศ.2483-2485 เป็นที่ทราบกันเปิดเผยว่า อู ซอ เป็นอริกับออง ซาน ในทุกท่วงท่า

เช้า 19 กรกฎาคม 2480 ณ อาคารสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ออง ซาน เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมการพิธีส่งมอบเอกราชคืนให้พม่า

รถบรรทุกขนาดกลางวิ่งมาจอดหน้าอาคาร กลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธกระโดดลงจากรถบรรทุก วิ่งขึ้นไปบนอาคาร พังประตูห้องประชุม ยมทูตทั้งหมดกราดกระหน่ำยิงด้วยปืนกล คมกระสุนพุ่งเข้าใส่ ออง ซาน และผู้เข้าร่วมประชุมอีก 6 คน รวมเสียชีวิต 7 คน

บิดาแห่งเอกราชของชาวพม่าและผู้สร้างความปรองดองระหว่างชนเผ่าในพม่าเสียชีวิตในห้องประชุม

การสอบสวนบ่งชี้ไปที่ อู ซอ ผู้หิวโหย ละโมบต่ออำนาจ

หน่วยงานของอังกฤษบุกจับตัว อู ซอ และพรรคพวกอีก 8 คน จัดตั้งศาลพิเศษโดย เซอร์ฮิวเบิรต์ แรนซ์ (ข้าหลวงอังกฤษที่ปกครองพม่า) เพื่อพิจารณาคดีสะเทือนขวัญแผ่นดินพม่า อู ซอ รับสารภาพว่าเป็นผู้บงการ

4 มือปืนนักฆ่า 3 คนใช้ปืนกลทอมมี่ นายยาน จี ออง ใช้ปืนสเตน หลังจากการลอบสังหาร อาวุธถูกนำไปยังประเทศอินเดียเพื่อตรวจสอบ และพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

30 ธันวาคม 2490 ศาลพิพากษาประหารชีวิตอู ซอ และมือปืน

4 มกราคม 2491 ในวันที่พม่าไร้ออง ซาน เป็นพิธีส่งมอบเอกราชคืนแก่พม่าในกรุงย่างกุ้ง…พม่าเป็นประเทศเอกราชตั้งแต่นั้นมา

มีความพยายามให้สอบสวนทวนความคดีสังหาร นายพลออง ซาน กันใหม่ แต่ศาลสูงของพม่าปฏิเสธคำร้อง ในที่สุดอู ซอ ผู้บงการสังหาร ออง ซาน ถูกแขวนคอ

ในคุกอินเส่ง (Insein) เมื่อ 8 พฤษภาคม 2481

ความลึกลับ ซับซ้อน การทรยศหักหลัง การยืมมือสังหาร อาวุธที่ใช้สังหารออง ซาน และคณะ เป็นเรื่องคาใจผู้คนรุ่นหลังไม่น้อย…

ทฤษฎีสมคบคิด ถูกหยิบยกมาพูด เพราะหลักฐานเพิ่มเติมที่ได้มาในเวลาต่อมา สำนักข่าว BBC เปิดเผยล่อนจ้อนเมื่อวันครบรอบ 50 ปีวันลอบสังหารในปี พ.ศ.2540 ระบุว่าเจ้าหน้าที่ระดับล่างของอังกฤษ เป็นผู้ลักลอบขายอาวุธที่ใช้สังหารให้แก่นักการเมืองพม่ารวมทั้ง อู ซอ

ร้อยเอก เดวิด วิเวียน ของอังกฤษ (Captain David Vivian) คือ ผู้รับผิดชอบการลักลอบค้าอาวุธ ร้อยเอกวิเวียน ถูกพิพากษาจำคุก 5 ปี ในข้อหาจัดหาอาวุธ และต่อมาช่วงเกิดเหตุนักโทษกะเหรี่ยงก่อจลาจลในคุกราวต้นปี พ.ศ.2482 ร้อยเอกวิเวียน แหกคุกหนีหายไปในกลีบเมฆ

อู นุ 1 ในกลุ่ม 30 สหาย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนออง ซาน

ความตายของออง ซาน และคณะ กลายเป็นมรดกบาป คือปัญหาชนกลุ่มน้อยที่จับอาวุธสู้รบกับกองทัพพม่ายาวนานกว่า 50 ปี

2 มีนาคม พ.ศ.2505 นายพลเนวิน 1 ในกลุ่ม 30 สหายที่ดื่มเลือดสาบานที่กรุงเทพฯ ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองจาก อู นุ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉีกข้อตกลงปางโหลง คุมขังผู้นำชนกลุ่มน้อย แล้วปิดประเทศพม่ายาว 26 ปี แผ่นดินพม่าระอุไปด้วยสงครามทุกแห่งหน และยังคงตามมาหลอกหลอนถึงนางออง ซาน ซูจี

จะดื่มเลือดสาบาน จะสัญญาต่อเทวดาฟ้าดินที่ไหน มีผลแค่ปลอบประโลมใจ เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน…อำนาจ เงินตรา บารมี หอมหวานเสมอ….

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ข้อมูลบางส่วนจาก Burma in Revolt: Opium and Insurgency since 1948: Lintner

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image