พยายามเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ : นิธิ เอียวศรีวงศ์

ก็พอมีเหตุผลอยู่เหมือนกัน ที่พรรคร่วมประชาธิปไตยจะเลือกเป็นฝ่ายค้าน แทนที่จะพยายามจัดตั้งรัฐบาลขึ้นให้ได้ เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับไม่น่ารักซึ่งเราถูกบังคับให้ใช้อยู่เวลานี้ ถึงเป็นรัฐบาลไปก็จะถูกองค์กรของชนชั้นนำคว่ำในเวลาไม่นาน การเป็นฝ่ายค้านกลับเป็นที่ต้องตาของประชาชนมากกว่า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นครั้งหน้า (ในเวลาอีกไม่น่าจะนาน)

แต่ภายใต้วิกฤตทางการเมืองที่หนักหนาสาหัสอย่างที่ประเทศไทยไม่เคยเผชิญมาก่อนเช่นนี้ สมควรหรือที่เป้าหมายของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย จะมีเพียงผลสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งหน้า ตรรกะอีกอย่างหนึ่งของการยอมเป็นฝ่ายค้านคือยอมจำนนต่อสภาพการณ์อันเลวร้าย ไม่ว่าในทางการเมือง, เศรษฐกิจ, หรือสังคม ซึ่งถูกสถาปนาขึ้นในประเทศไทยด้วยอำนาจเถื่อนของกองทัพ ขอเพียงพอมีที่ยืนในเวทีการเมืองเท่านั้น

จะแตกต่างอะไรกับพรรคการเมือง ที่ในท่ามกลางวิกฤตในทุกด้านเช่นนี้ ใช้วิธีหาเสียงด้วยนโยบายเปิดเสรีกัญชา และเปิดเสรีแท็กซี่แกร็บ ไม่ใช่การเปิดเสรีสองด้านนี้ไม่มีประโยชน์ มีแน่ แต่ถึงเปิดเสรีได้ ก็ไม่ลดทอนอำนาจเผด็จการของชนชั้นนำลงแต่อย่างใด แน่นอนว่าคงมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งสามารถใช้รถส่วนตัวทำมาหากินได้สะดวกขึ้น มีคนจำนวนหนึ่งใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคหรือบรรเทาความทุกข์ทรมานที่ร่างกายต้องทนรับได้ แต่คนทั้งหมดเหล่านี้ล้วนต้องอยู่ภายใต้เศรษฐกิจที่เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ภายใต้ระบบการเมืองที่ปฏิเสธสิทธิเสมอภาค และเสรีภาพในแทบจะทุกทาง โดยไม่อาจใช้การเลือกตั้งเพื่อ “เลือก” ผู้ปกครอง และกำกับควบคุมผู้ปกครองได้เลย

ตรงกันข้าม หากมองเป้าหมายทางการเมืองที่การนำประเทศไทยให้หลุดพ้นจากวิกฤตอันใหญ่หลวงครั้งนี้ ความพยายามจัดตั้งรัฐบาล แม้ในที่สุดแล้วอาจไม่สำเร็จ กลับเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยควรถือเป็นภารกิจสำคัญสุดที่ต้องร่วมมือกันผลักดันให้สำเร็จ

Advertisement

ยิ่งกว่าการตีฝีปากของฝ่ายค้านในสภา ภารกิจนี้ไม่อาจทำสำเร็จได้ หากปราศจากการมีส่วนร่วมอย่าง “กัมมันตะ” ของประชาชน ไม่เฉพาะแต่ผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงขยายเป้าหมายทางการเมืองคือระบอบประชาธิปไตย ให้เป็นเป้าหมายร่วมของประชาชนในวงกว้างขึ้น

ดังนั้น ความพยายามบากบั่นที่จะจัดตั้งรัฐบาล (ไม่ว่าในบั้นปลายจะสำเร็จหรือไม่) โดยตัวของมันเองจึงเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อการเมืองไทย ซึ่งจะขอพูดถึงดังนี้

Advertisement

1.ถ้าหวังจะปิดฉาก คสช.และการแทรกแซงของกองทัพอย่างไม่นองเลือด ต้องทำให้ประชาชนเห็นและวางใจว่า การเคลื่อนไหวโดยสงบตามวิถีทางประชาธิปไตย และการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม (ซึ่งไม่เกิดในการเลือกตั้งครั้งนี้) อาจนำไปสู่ชัยชนะได้ แม้ไม่ใช่ชัยชนะเต็มร้อย แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะก้าวต่อไปโดยไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อกันอีก

อย่าลืมว่า ประชาชนฝ่ายที่ต้องการนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ได้เสียสละต่อสู้กับเผด็จการ คสช.มาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หลายคนเสียอิสรภาพ, หลายคนมีคดีติดตัว, หลายคนบาดเจ็บ, หลายคนถูกคุกคามทั้งตนเองและครอบครัว, ฯลฯ จนในที่สุดเผด็จการก็ต้องยอมให้มีการเลือกตั้ง จะทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นพิธีกรรมที่ให้ความชอบธรรมแก่ คสช. โดยฝ่ายประชาธิปไตยยอมจำนนอย่างไม่ดิ้นรนเลย ย่อมเป็นการทำลายกำลังใจของประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย จนเหมือนเป็นหน้าไหว้หลังหลอกให้แก่อุดมการณ์ที่ยึดถือร่วมกันระหว่างพรรคการเมืองและประชาชน

2.ความพยายามจนสุดความสามารถของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ทำให้หนทางไปสู่อำนาจของเผด็จการหลังการเลือกตั้งไม่ราบเรียบจนเกินไป ความไม่ราบเรียบนี้จะเตือนข้าราชการทั้งระบบว่า จะวางใจให้แก่อำนาจปืนของเผด็จการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ปราการที่ปลอดภัยกว่าอยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริตเที่ยงธรรมตามกฎหมาย ถึงไม่เรียกร้องให้ข้าราชการหันมาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างออกหน้า แต่อย่างน้อยก็ต้องไม่พยายามเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งตนเอง โดยการใช้กฎหมายอย่างบิดเบี้ยวเพื่อเอาใจเผด็จการ

3.เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ในองค์กรอิสระทั้งหลาย เจ้าหน้าที่ประจำต้องสำนึกว่า อำนาจเถื่อน (จากการยึดอำนาจและแต่งตั้งพรรคพวกตามใจชอบ) ที่คุ้มหัวตัวอยู่นั้น ไม่จีรังยั่งยืน เพราะเพียงการเลือกตั้งโดยสงบ อำนาจนั้นก็สั่นสะเทือนเสียแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีทางทราบได้แน่ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไรและอย่างไร การทอดอนาคตของตนเองไว้กับอำนาจที่ขาดความชอบธรรมและไม่มั่นคงนี้ สู้เอาสุจริตมาเป็นเกราะบังตนเองให้ปลอดภัยไม่ได้

ในฝ่ายกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากอำนาจเถื่อน ก็ต้องเกิดสำนึกอย่างเดียวกัน ถึงจะยังฉ้อฉลอำนาจ (abuse of power) ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังให้เนียนกว่าที่ผ่านมา (ไม่มีอะไรดีขึ้นหรอก แต่ก็บาดตาประชาชนน้อยลง)

4.ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การแก้รัฐธรรมนูญ เพราะประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้เลยภายใต้รัฐธรรมนูญไม่น่ารักฉบับนี้

แต่ก็เป็นที่ตกลงพร้อมใจในหมู่ชนชั้นนำเสียแล้วว่า พร้อมจะแบ่งปันอำนาจให้คนกลุ่มอื่นได้ไม่มากไปกว่าที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดไว้ ฉะนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงบางส่วนหรือทั้งฉบับจึงไม่อาจทำสำเร็จได้อย่างง่ายๆ หากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชน (ด้วยการเคลื่อนไหวอย่างพร้อมเพรียงทั้งประเทศ)

ดังนั้น กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระยะนี้ การเคลื่อนไหวนอกสภาจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าหรือยิ่งกว่าในสภาเสียอีก หากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะมีผลกระทบได้กว้างขวางอย่างรวดเร็วกว่า แม้กระนั้น ถึงต้องเป็นฝ่ายค้าน ก็ยังอาจประสานการดำเนินการในสภาและนอกสภาเข้าด้วยกัน เพื่อให้บังเกิดผลได้เหมือนกัน เพียงแต่อาจต้องใช้เวลามากกว่ากัน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การยกเลิกคำสั่งและกฎหมายที่เป็นภัยแก่ประเทศชาติ ซึ่งออกมาในช่วงที่ คสช.ถืออำนาจ, การเยียวยาความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วจากคำสั่งของ คสช. ล้วนทำได้ง่ายขึ้นหากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ทั้งสิ้น

5.แม้ว่าความหวังในการปิดสวิตช์ ส.ว.ได้ถูกลิดรอนไปแล้ว ด้วยวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยสูตรพิลึกพิลั่นซึ่ง กกต.นำมาใช้ แต่ในส่วนที่สภาผู้แทนราษฎรสามารถทำได้โดยอิสระจากวุฒิสภาที่มีจากการแต่งตั้ง เช่น เลือกประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาด้วย พรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็ควรพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ให้บุคคลจากพรรคสืบทอดอำนาจได้ดำรงตำแหน่งนี้ อย่างน้อยก็เป็นชัยชนะเล็กๆ ที่สำคัญอันหนึ่ง ที่อาจบังเกิดผลอย่างที่กล่าวข้างต้นบ้าง ไม่มากก็น้อย

การเมืองคือศิลปะของความเป็นไปได้ ไม่ควรมีความหมายเพียงการได้ทำตามประสงค์เมื่อได้เสียงข้างมากเท่านั้น แม้ด้วยเสียงข้างน้อย ก็ยังมีความเป็นไปได้อีกมากที่ต้องเสาะหา และพัฒนามันขึ้นมาให้เป็นหนทางไปสู่ความเป็นไปได้ที่ใหญ่และสำคัญขึ้นในอนาคตข้างหน้า

นิธิ เอียวศรีวงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image