มารดาประชารัฐ-เลือกตั้งผู้ว่าฯ นโยบายมีไว้ขาย

บรรยากาศการเมืองไทยลดความเครียดจากสภาวะอำนาจนิยมลงได้บ้าง หลังจากสภาผู้แทนราษฎรเปิดขึ้นอีกครั้งและปิดลงด้วยชัยชนะของพรรคลำดับรอง คว้าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานรัฐสภามาครองได้สำเร็จ แทนที่จะอยู่ในมือของพรรคแกนนำ

ความเป็นไปที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งยืนยันว่า ตำแหน่งแห่งหนผลประโยชน์ ชั้นเชิงลีลาที่เหนือกว่ามาก่อนจุดยืนทางการเมืองประชาธิปไตยหรือเผด็จการ รวมทั้งนโยบายสวยหรูต่างๆ นานา ที่ประกาศในเวทีหาเสียงเลือกตั้ง

สื่อมวลชนรายงานข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์เสนอเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ นอกจากเก้าอี้รัฐมนตรีตามโควต้าที่ได้รับแล้วจะต้องดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ 1 นำนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ไปปฏิบัติตามสโลแกน แก้จน สร้างคน สร้างชาติ 2 ต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น 3 แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย

การหลอมรวมนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อเป็นนโยบายรวมของรัฐบาลเที่ยวนี้ ไม่ได้มีเฉพาะนโยบายของแต่ละพรรคล้วนๆ เท่านั้น แต่มีมรดกของแม่น้ำห้าสายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ชาติเฉพาะด้าน และการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน ปะปนคลุกเคล้าอยู่ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยแสดงความเห็น ไม่เชื่อยุทธศาสตร์ 20 ปี และชี้ว่าเป็นแค่เครื่องมือไว้จำกัดรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาแล้ว

Advertisement

เมื่อความเป็นจริงเป็นเช่นนี้ พรรคร่วมรัฐบาลจะหลอมรวมนโยบายให้เป็นเนื้อเดียวและนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างไร

ในเวทีหาเสียงก็เกิดวิวาทะกันมาบ้างแล้ว กรณี ช่วงชิงสโลแกน ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน หรือ มารดาประชารัฐ ท้องปั๊บรับเดือนละ 3 พัน กับเกิดปั๊บรับเงินแสน กล่าวหากันไปมาว่า ใครลอกใครกันแน่

แม้ว่าแกนนำพรรคหลักจะพยายามเกี้ยเซี้ยว่า เรื่องแล้วไปแล้ว ว่ากันต่อไปข้างหน้าดีกว่าก็ตาม นโยบายที่ต่างกันชนิดตรงกันข้าม จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งบานปลายกลายเป็นมรสุมการเมืองร้อนแรงขึ้นหรือไม่

Advertisement

กรณีตัวอย่างนโยบายการกระจายอำนาจ พรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ย้ำแล้วย้ำอีกเพื่อแสดงถึงความยืนหยัดมั่นคงจะต้องผลักดันนโยบายนี้ให้ได้

โฆษกพรรคคนก่อนแถลงตอบโต้ที่ถูกกล่าวอ้างลอกเลียนสโลแกน “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” ว่า ปชป.ให้ความสำคัญและชูนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมาตั้งแต่ก่อตั้งพรรค 6 เมษายน 2489 ก่อนที่จะมีกฎหมายท้องถิ่น

โดยได้ตราไว้ในอุดมการณ์พรรค ปชป.วันที่ 6 เมษายน 2489 ข้อที่ 4 ความว่า พรรคจะกระจายอำนาจการดำเนินการในท้องถิ่นให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เนื่องจากความใกล้ชิดขององค์กรในท้องถิ่นมีมากกว่าส่วนกลาง

วันที่ 30 ธันวาคม 2551 รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า ได้วางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการบริหารประเทศ

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 นายอภิสิทธิ์ทำหนังสือเสนอความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 10 ข้อ ข้อที่ 3 ระบุว่า 3 กระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีหลักประกันว่า อปท.ต้องได้รับการกระจายอำนาจไม่น้อยกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2550 และผลักดันให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะระดับจังหวัดให้มีผู้บริหารจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งควบคู่กับกลไกการตรวจสอบ

ในการประชุมคณะกรรมการพรรคเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561 ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับพรรค หมวดการเมืองการบริหาร ระบุว่า ปรับโครงสร้างการเมืองการปกครองโดยยึดหลัก ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน กระจายอำนาจโดยนำระบบจังหวัดจัดการตนเองที่ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดมาจากการเลือกตั้งมาใช้ และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจเพิ่มขึ้นภายใต้หลักการธรรมาภิบาล

ยืนยัน เอาจริงเอาจังมาตามลำดับถึงขนาดนี้ จึงน่าติดตามว่า ความเป็นจริงทางปฏิบัติเที่ยวนี้ นโยบายจะเป็นแค่เครื่องมือต่อรองทางการเมืองเพื่อได้เก้าอี้รัฐมนตรีมากกว่าเท่านั้น มีหลักประกันอะไรว่าเมื่อมีอำนาจบริหารแล้วจะทำได้สำเร็จ

ขนาดมวลมหาประชาชนอันไพศาลนับล้านขานรับ เมื่อคราวคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ชูเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นธงนำในการเรียกร้อง และในการชี้แจงต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นัดประชุมครั้งที่ 10 วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ยังยืนยันการปฏิรูประบบราชการและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยยกเลิกอำนาจการบริหารราชการส่วนภูมิภาค กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง

เมื่อได้ร่วมรัฐบาลสำเร็จสมหวังตั้งใจ นโยบายเหล่านี้จะยังเป็นแค่เครื่องมือเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง หรือวาทกรรมเพื่อขอคะแนนเสียงชาวบ้านไปวันๆ อีกไม่นานได้เห็นกัน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image