สะพานแห่งกาลเวลา : ทำไมถึงอยากไป ‘ดวงจันทร์’ กันนัก?

การทำเหมืองแร่บนดวงจันทร์ในจินตนาการของจิตรกร (ภาพ-NASA)

ระยะหลังมานี้มีแต่ข่าวคราวหลายชาติเปิดโครงการส่งยานไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์กัน ตั้งแต่จีนที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการส่งยานไปลงยังด้านไกลของดวงจันทร์ได้เป็นชาติแรกเมื่อตอนต้นปี และมีโครงการจะกลับไปเก็บตัวอย่างพื้นผิวกลับมาวิเคราะห์อีกด้วย เรื่อยไปถึงองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ที่จะส่งมนุษย์อวกาศไปลงบนดวงจันทร์อีกครั้ง หลังจากที่เคยประสบผลสำเร็จส่งมนุษย์ไปเดินบนพื้นผิวดวงจันทร์มาแล้ว 12 คนในโครงการอพอลโลในอดีต

แม้แต่รัสเซียเองก็ยังคาดหวังว่าจะส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์ให้ได้ก่อนหน้าที่โครงการของสหรัฐอเมริกาจะประสบผลสำเร็จ หรือสหภาพยุโรปเองก็เตรียมส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์ภายในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อมองหาน้ำในสภาพเยือกแข็งที่บริเวณใกล้ขั้วใต้เช่นกัน

ดวงจันทร์มีอะไรหรือ? ทำไมถึงอยากไปกันนัก

จริงๆ แล้วบนดวงจันทร์ไม่เพียงไม่น่าอยู่ แต่มนุษย์ยังใช้อยู่อาศัยไม่ได้

Advertisement

ดวงจันทร์ไม่เพียงไม่มีบรรยากาศ ไม่มีออกซิเจนเท่านั้น อุณหภูมิบนพื้นผิวยังแตกต่างกันอย่างมากในตอนกลางวันกับกลางคืน กลางวันอาจร้อนได้ถึง 130 องศาเซลเซียส ชนิดย่างไก่ไหม้ได้ทั้งเล้า ส่วนกลางคืนลดลงถึงติดลบ 170 องศาเซลเซียส เย็นจัดยิ่งกว่าหนาวเข้ากระดูกด้วยซ้ำไป

ถ้าการขาดอากาศหายใจกับอุณหภูมิสุดโต่งเช่นนั้นยังทำให้ตายไม่ได้ มนุษย์ก็ยังต้องเผชิญกับการถล่มของอุกกาบาตน้อยใหญ่ หรือการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ ที่ถึงตายแน่นอน

แต่ถ้าคนเราจำเป็นต้องไปใช้ชีวิตอยู่บนนั้นไม่วันใดก็วันหนึ่งข้างหน้า เราก็จำเป็นต้องเรียนรู้ให้ได้ว่า ทำอย่างไรถึงจะรับมือและเอาชนะอันตรายที่ถึงแก่ชีวิตเหล่านี้ได้

ไม่แต่เท่านั้น เรายังต้องมีที่พักอาศัยบนนั้น ต้องมีอากาศสำหรับหายใจ ต้องมีอาหารและพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงจรวดในการเดินทางกลับโลก หรือสำหรับเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในห้วงอวกาศต่อไป

นั่นหมายถึงว่าเราจำเป็นต้องมีแหล่งทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้นของเราให้ได้ เพราะเราไม่สามารถนำพาทั้งหมดขึ้นไปจากโลกพร้อมกับตัวเราได้ ต้นทุนมหาศาลเกินไป

แหล่งทรัพยากรที่ดีที่สุดก็คือ บนพื้นผิวดวงจันทร์นั่นแหละ

แต่ถ้าต้องการนำทรัพยากรทั้งหลายบนดวงจันทร์มาใช้ มนุษย์ก็จำเป็นต้องไปตั้งหลักแหล่งอยู่บนนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปักหลักชั่วคราวหรือถาวรก็ตามที เพื่อนำเอาสรรพสิ่งทั้งหลายที่อาจมีอยู่ในชั้นผิวดินของดวงจันทร์ หรือลึกลงไปมากกว่านั้นขึ้นมา เปลี่ยนมันให้อยู่ในสภาพที่มนุษย์เราใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นออกซิเจนสำหรับหายใจ เป็นไฟฟ้า หรือเป็นวัสดุสำหรับก่อสร้าง และเชื้อเพลิงจรวดก็ตามที

แล้วการขึ้นไปตั้งหลักแหล่งเพื่อทำเหมืองบนดวงจันทร์จนประสบผลสำเร็จนั้น จะส่งผลประโยชน์อื่นๆ ให้เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น ทำให้นิคมบนดวงจันทร์ดังกล่าวสามารถกลายเป็นฐาน เพื่อการฝึกฝนและเตรียมการ สำหรับภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ไกลออกไป เช่นที่ดาวอังคาร เป็นต้น

ถัดมาการพัฒนาที่พักและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนดวงจันทร์ เป็นไปได้สูงมากที่จะก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีหายากขึ้นมาอีกมากมาย ที่สามารถนำมาปรับใช้หรือทำให้เกิดประโยชน์แก่โลกและมนุษย์บนโลก

นอกจากนั้นยังมีโอกาสไม่น้อยที่สินแร่หรือวัสดุที่ผลิตได้บนดวงจันทร์อาจมีมากและคุ้มค่าพอต่อการส่งกลับมาใช้ประโยชน์บนโลกด้วยอีกต่างหาก

ตัวอย่างของสินแร่มีค่าที่เชื่อกันว่ามีอยู่บนดวงจันทร์อย่างเช่น ฮีเลียม-3 ที่เป็นไอโซโทปซึ่งไม่แผ่กัมมันตภาพรังสีของฮีเลียม ซึ่งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเตาปฏิกรณ์ปรมาณู ฟิวชั่น เพื่อผลิตพลังงานได้เป็นจำนวนมหาศาล แต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยนิด เป็นต้น

เพื่อลดต้นทุน สร้างโอกาสและความสะดวกในการสำรวจอวกาศห้วงลึก ไกลออกไปจากโลกในอนาคต ดวงจันทร์ เป็นฐานที่จำเป็นสำหรับมนุษย์

สินแร่และอะไรอีกหลายอย่างบนดวงจันทร์ จำเป็นต่อการสร้างฐานที่มั่นดังกล่าว การสำรวจดวงจันทร์อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวนี้จึงจำเป็นต้องมีขึ้น

ใครถึงก่อน ประสบความสำเร็จก่อน ย่อมฉกฉวยโอกาสได้ก่อนและก้าวไปไกลกว่าชาติอื่นๆ

หลายทศวรรษข้างหน้านี้ จึงถูกเรียกขานกันอย่างไม่เป็นทางการแล้วว่าเป็น ยุคใหม่ของการสำรวจดวงจันทร์ ครับ

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image