ประชาธิปัตย์ทรยศต่อประชาชน : วีรพงษ์ รามางกูร

พรรคประชาธิปัตย์โดยการลงคะแนนเสียงของกรรมการกลางและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ลงมติเข้าร่วมขบวนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ซึ่งมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ เป็นเหตุให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคหลายสมัยต้องออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากพรรคมีมติทวนคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการของผู้นำปัจจุบัน เหมือนกับที่ผู้นำเผด็จการในอดีต เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เคยทำมาแล้ว

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยกวาทะของมหาตมะ คานธี ผู้นำในการเรียกร้องเอกราชของอินเดียจากจักรวรรดินิยมอังกฤษ จนทำให้เกิดขบวนการเรียกร้องเอกราชจากอาณานิคมของอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม รวมทั้งสหรัฐอเมริกาในกรณีของฟิลิปปินส์ มหาตมะ คานธีจึงได้รับการยกย่องจากประชาชนผู้ถูกกดขี่จากทั่วโลกว่าเป็นผู้สร้างระบอบประชาธิปไตยให้กับประเทศที่มีพลเมืองมากที่สุดในโลก มีพลเมืองที่ยากจนที่สุดในโลกในขณะนั้น มีพลเมืองที่มีการแบ่งชั้นวรรณะโดยชาติกำเนิดและโดยฐานะทางเศรษฐกิจ มีผู้ปกครองทั้งที่เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นและคนที่ยอมเป็นสุนัขรับใช้เจ้าอาณานิคม รวมทั้งคนผิวขาวเชื้อชาติอังกฤษที่เข้ามาปกครองอินเดียเพื่อรักษาสถานะของตนเอง

คานธีเคยประกาศบาป 7 ประการ 1 ในบาป 7 ประการคือ การเมืองที่ไม่มีหลักการ หรือ Politics without principle แม้ว่านายอภิสิทธิ์เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในค่ายทหาร เคยคว่ำบาตรการเลือกตั้ง เคยร่วมกันกับอดีตผู้นำพรรคที่ไปร่วมมือกับทหารจัดตั้ง กปปส.

เพราะทราบดีว่าประชาธิปัตย์ลงแข่งขันในการเลือกตั้งก็คงจะแพ้พรรคไทยรักไทย ซึ่งบัดนี้กลายมาเป็นพรรคเพื่อไทย

Advertisement

ปกติพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลด้วยตนเอง ทุกครั้งที่ได้เป็นแกนนำหรือเข้าร่วมรัฐบาลเพราะอาศัยการแอบอิงกับทหาร หรือไม่ก็เพราะทหารเพลี่ยงพล้ำถูกประชาชนเดินขบวนขับไล่ เช่น กรณีจอมพลผิน ชุณหะวัณ ทำปฏิวัติในปลายปี 2489 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำปฏิวัติในปี 2500 โดยอ้างการเลือกตั้งสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม การเลือกตั้งโดยพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้จัดตั้งรัฐบาลจนเกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 เรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ก็แพ้การเลือกตั้งและสูญพันธุ์ในเขตกรุงเทพมหานคร

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่แล้วยังกล่าวต่อไปว่า ประชาชนเกือบ 4 ล้านคนที่ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเชื่อมั่นว่าพรรคจะยึดมั่นในคำมั่นสัญญาของหัวหน้าพรรคที่ให้ไว้กับประชาชน ซึ่งก็เหมือนกับคำสาบานต่อหน้าแม่พระธรณีบีบมวยผม เมื่อพรรคไม่รักษาคำมั่นสัญญาโดยอ้างว่าเป็นคำมั่นของหัวหน้าพรรค ไม่มีความผูกพันกับพรรค จึงชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยึดมั่นกับคำขวัญของพรรคที่ว่า “สัจจัง เว อมตา วาจา” สัจวาจาเป็นสิ่งที่ไม่ตาย

เท่ากับว่าอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาประณามพรรคประชาธิปัตย์ของตนเอง รวมทั้งกรณีประธานที่ปรึกษาพรรคที่ไปรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย ไปทำหน้าที่รับใช้ผู้แต่งตั้งที่สั่งให้สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลออกเสียงลงคะแนนให้ได้ตำแหน่ง ผู้ที่เคยให้สัจวาจาว่า “ผมยึดมั่นในระบอบรัฐสภา” กำลังไปรับใช้รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่ต่างอะไรกับจอมพลถนอม กิตติขจร และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นระบอบเผด็จการครึ่งใบ เป็นสิ่งปกติของพรรคประชาธิปัตย์ที่กระทำเช่นนี้มาตลอด ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร

Advertisement

สิ่งที่แปลกประหลาดก็คือ ทำไมหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่แล้วเกิดมารังเกียจหัวหน้า คสช.ที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำปฏิวัติรัฐประหาร สถาปนาตัวเองโดยใช้ปากกระบอกปืน ตั้งตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี จับผู้ที่เห็นต่างเอาไป “ปรับทัศนคติ” แบบเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหลายเมื่อทำการปฏิวัติประชาชน ได้อำนาจรัฐมาก็จะจับนักการเมือง นักประชาธิปไตย นักวิชาการ นักคิดนักเขียน ไปปรับความคิดเสียใหม่ในค่ายที่เรียกว่า “reeducation camp” เมื่อทำการยึดอำนาจจากพวกเราประชาชนก็ทำอย่างเดียวกันสำหรับปัญญาชนที่มีชื่อเสียง เพื่อปิดปาก แม้แต่อดีตประธานวุฒิสภาที่ออกมาคัดค้านการทำรัฐประหารครั้งนี้ก็ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ

การคัดค้านระบอบเผด็จการทหารหรือเผด็จการโดยสภา ซึ่งไม่มีเพราะมีวาระให้ต้องเลือกตั้งกันใหม่ตามกำหนด ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แต่สำหรับเผด็จการนั้นจะพยายามใช้เล่ห์กลทางภาษา ซึ่งมีนักกฎหมายที่ไร้อุดมการณ์ ไร้ยางอาย ทำงานรับใช้เพื่ออยู่ในอำนาจให้นานที่สุด แม้จะต้องตระบัดสัตย์ว่าจะอยู่อีกไม่นาน แต่งเป็นเพลงออกอากาศอยู่ทุกวันก็ตาม

การที่พรรคประชาธิปัตย์ละทิ้งคำสัญญา ทวนคำสาบานที่ให้ไว้กับประชาชนเกือบ 4 ล้านคน ไปเห็นแก่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นประธานรัฐสภาด้วยอย่างไร้ยางอาย ที่เคยให้สัจวาจาว่าตนสนับสนุนระบอบรัฐสภา

หลายคนผิดหวังกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่ควรจะผิดหวังเพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นเช่นนี้มานานแล้ว คือ “ปากว่าตาขยิบ” ทะเลาะแย่งชิงกันเอง หักหลังกันเองภายในพรรค หักหลังแย่งชิงกับพรรคทหารที่เป็นแกนหลักที่ตนกลืนน้ำลายเข้าไปร่วมด้วย

ส่วนพรรคภูมิใจไทยไม่ควรจะต้องผิดหวัง เพราะไม่ควรจะหวังอะไรจากพรรคการเมืองพรรคนี้ แต่ต้องขอคารวะเพราะออกมายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ตอนที่หาเสียงได้ให้สัญญากับผู้สนับสนุนพรรคตนว่าจะไม่ร่วมการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ตอนนั้นเป็นเรื่องหาเสียง แต่จะเข้าร่วมรัฐบาลเพราะเป็นของจริง ถึงอย่างไรผู้นำคนเดิมก็ชนะเสียงในรัฐสภาอยู่แล้วเพราะมีสมาชิกวุฒิสภาของตนที่เลือกเข้ามาเอง แต่งตั้งเอง มาช่วยยกมือลงคะแนนถ่วงเสียงของสภาผู้แทนราษฎร และจะเป็นแม่เหล็กดึงพรรคเล็กพรรคน้อยที่ได้คะแนนเสียงไม่ถึง 71,000 เสียง จำนวน 11 พรรค ให้ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

มีข่าวว่า กรรมการ กกต.คงจะถูกฟ้องทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เหมือนกับกรรมการ กกต.ชุดก่อนหน้านั้นเป็นแน่ ซึ่งจะคอยดูว่าองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองจะปฏิบัติตนอย่างไร จะซื่อสัตย์ต่อตนเองหรือซื่อสัตย์ต่อผู้ที่แต่งตั้งตน พวกเราประชาชนผู้ถูกปกครองคงได้แต่คอยดูด้วยความสลดใจ

แต่ทุกครั้งที่เห็นประธานสภาผู้แทนราษฎรขึ้นบัลลังก์ทำหน้าที่ จิตก็ตวัดไปถึงสัจวาจาที่ท่านเคยกล่าวเป็นสัตย์ว่า “ผมเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา” แต่ไม่ได้บอกว่าระบอบรัฐสภาแบบไหน แบบเผด็จการครึ่งใบ หรือเผด็จการเต็มใบ ซึ่งจะได้รับความร่วมมือจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ช่วยปูทางให้สามารถทำปฏิวัติรัฐประหารได้ทุกครั้ง

ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ก็สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการโดยการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ เหมือนกับจอมพลถนอมตั้งพรรคสหประชาไทย และ พล.อ.สุจินดาตั้งพรรคสามัคคีธรรม โดยให้พ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค สมัยนั้นผู้คนชื่นชมการอภิปรายของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับที่รับเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรของพรรคสืบทอดอำนาจเผด็จการปัจจุบันอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ทุกอย่างก็เป็นไปได้สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ตนซึ่งไม่เคยชนะการเลือกตั้งได้เข้าร่วมรัฐบาล ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพของรัฐเผด็จการด้วย ผู้คนที่เคยชื่นชม “ใบมีดโกนอาบน้ำผึ้ง” คนที่เคยอภิปรายต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐมนตรีในปี 2535 นั้น คนผู้นี้ได้ขึ้นไปนั่งอยู่บนบัลลังก์อย่างสงบเสงี่ยมเสียแล้ว ก็ไม่ควรจะไปเสียดายและไม่ควรจะไปคาดหวังอะไรจากคนนี้อีกต่อไป มาเสียคนคราวนี้คงได้จบชีวิตทางการเมืองเสียที

การสืบทอดอำนาจในครั้งนี้ไม่น่าจะไปรอด เพราะคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตยต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ มีเสียงต่างกันไม่มาก แม้จะใช้เล่ห์กลเอารัดเอาเปรียบอย่างที่ชายชาติทหารเขาไม่ทำกัน

การกล่าวเท็จอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน การอ้างว่าเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ก็เป็นวาทะที่เป็นเท็จ เพราะการสนับสนุนสืบทอดอำนาจเผด็จการและการทรยศต่อสัจวาจาของตนว่า “ตนเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา” ก็ได้เห็นกันแล้วเมื่อตอนอายุ 80 ว่าไม่เป็นความจริงและมาเสียคนเอาตอนแก่

ถ้าพรรคจะทรยศต่อผู้เลือกตนก็ควรให้ผู้นำรุ่นใหม่ในพรรคขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ เพราะตนเคยเป็นมาแล้วทุกตำแหน่ง การสืบทอดอำนาจเผด็จการเป็นการดึงให้ประเทศชาติถอยหลังย้อนยุคกลับไป 60 ปี เป็นที่รังเกียจในประชาคมระหว่างประเทศ ใครๆ ก็รู้ว่าการเลือกตั้งภายใต้อำนาจเผด็จการนั้นเป็นอย่างไร

พฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกของพรรคประชาธิปัตย์คราวนี้ล่อนจ้อนจริงๆ ที่หัวหน้า คสช.เคยสบประมาทว่าให้คอยดูพรรคประชาธิปัตย์ตอนจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งไว้ จะ

ปากว่าตาขยิบหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image