สถานีคิดเลขที่ 12 : สื่อทรงอิทธิพล

รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (กระทรวงที่พรรคการเมืองไม่ยอมแย่งชิง) ตอบคำถามเรื่องหนังสือพิมพ์/เว็บไซต์ วอชิงตันโพสต์ ลงบทบรรณาธิการที่มีเนื้อหาฟันธงไทยมีประชาธิปไตยปลอม ว่าเป็นเพียงความเห็นของสื่อ จึงไม่ต้องชี้แจงอะไร

เพียงแต่ นายดอน ปรมัติวินัย อดีตทูตใหญ่ของไทยประจำสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน เห็นว่าถึงแม้วอชิงตันโพสต์เป็นสื่อดัง แต่ก็ไม่น่าใช่ทรงอิทธิพล เพราะตอนนี้ที่มีอิทธิพลคือโซเชียลมีเดีย

ประเด็นนี้จริง แต่ก็น่าคิดว่าวอชิงตันโพสต์เองมีเนื้อหาไหลเวียนอยู่ในโลกโซเชียลด้วย เพราะมีเว็บไซต์นำเสนอข่าวบทความพร้อมให้ชาวเน็ตแชร์ทุกเมื่อ

จะว่าไม่มีอิทธิพลเลยคงไม่ได้

Advertisement

ยิ่งวอชิงตันโพสต์มีประวัติศาสตร์เขย่าการเมืองสหรัฐ ในคดีวอเตอร์เกต ถึงขั้นประธานาธิบดีต้องลาออกก่อนถูกสภาถอดถอน เมื่อปี 2517 ยิ่งเป็นชื่อเสียงที่ยากจะมองข้าม

เพียงแต่ยุครัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ดูจะตั้งใจมองข้ามพร้อมเปิดศึกโจมตีสื่อซ้ำๆ ด้วยวาทะข่าวปลอม หรือ fake news อยู่เป็นนิจ

เมื่อปี 2560 วอชิงตันโพสต์เคยลงบทความวิเคราะห์สถานการณ์ประชาธิปไตย ของ ไบรอัน คลาสส์ วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยว่า เขียนแบบวางหมากให้ประชาธิปไตยถูกควบคุมเป็นฉบับของปลอม หรือ counterfeit democracy ทั้งแพคเกจ

คำว่า counterfeit มักใช้กับพวกสินค้าลอกเลียนแบบ จะก๊อปเกรดเอ หรือเกรดบี ก็แล้วแต่ คือของปลอมอยู่ดี

ส่วนครั้งนี้ บทบรรณาธิการของวอชิงตันโพสต์ เรียกประชาธิปไตยของไทยว่า crude mockery of democracy เป็นคำแรงขึ้นมาอีกระดับ

เพราะ mockery มีความหมายว่า การเย้ยหยัน ดูถูก ส่วน crude ก็คือ หยาบๆ ดิบๆ สรุปแล้วเป็นประชาธิปไตยเก๊ สร้างภาพอย่างหยาบๆ ไม่เกรงอกเกรงใจต้นฉบับ

เป้าหมายที่วอชิงตันโพสต์เรียกร้อง ไม่เกี่ยวกับไทยโดยตรง แต่เป็นรัฐบาลทรัมป์ที่พร้อมจะอ้าแขนรับรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งสื่อดังฉบับนี้เห็นว่า ยังไม่คู่ควรฟื้นฟูความสัมพันธ์กันอย่างเต็มรูปแบบ

แม้บท บ.ก.นี้เขียนเผื่อไว้ว่า เป็นไปได้สูงว่า รัฐบาลทรัมป์อาจจะมองข้ามข้อเรียกร้องนี้ เหมือนกับกรณีอียิปต์ และซาอุดีอาระเบีย ที่รัฐบาลทรัมป์ก็ไม่สนใจเช่นกันว่าจะมีประชาธิปไตยปลอมหรือไม่ หรือละเมิดสิทธิอย่างไร

กรณีอียิปต์ ผู้รัฐประหารได้ดิบได้ดี ชนะเลือกตั้งร้อยละ 96 ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะสหรัฐผวากลุ่มมุสลิม บราเธอร์ฮูด เป็นรัฐบาลมากกว่า

ส่วนซาอุดีอาระเบีย ขนาดอื้อฉาวอย่างหนักในคดีสังหาร นายจามาล คาช็อกกี

ผู้สื่อข่าวอิสระและคอลัมนิสต์ของวอชิงตันโพสต์ คาสถานกงสุลในนครอิสตันบูล นายทรัมป์ก็รู้จักแยกแยะ งัดใช้อำนาจประธานาธิบดี อ้างสถานการณ์ฉุกเฉินว่าต้องรับมือภัยคุกคามจากอิหร่าน อนุญาตให้ทางการซาอุดีอาระเบียซื้ออาวุธจากสหรัฐ มูลค่าราว 2.5 แสนล้านบาทได้

แต่หน้าที่สื่อมวลชน ถ้าไม่ให้แสดงความคิดเห็นตามอุดมการณ์หรือจุดยืน ไม่สะท้อนความคิดของประชาชน มัวแต่ประจบประแจงฝ่ายครองอำนาจ ก็คงไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนมาถึงปัจจุบัน

และความเชื่อถือนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สื่อทรงอิทธิพล

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image