ที่สุดของนักการเมือง คือรักษาสัจจะและอุดมการณ์ : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

การเป็นพรรคการเมืองที่ต่อทอดเนื่องมายาวนาน ย่อมมีทั้งประวัติศาสตร์และตำนานมากมายจากสมาชิกหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นก่อตั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว ทั้งที่ยังอยู่กับพรรคหลังจากสมัครเข้าเป็นสมาชิกและโยกย้ายออกไปอยู่พรรคอื่นกับออกไปจัดตั้งพรรคใหม่ หรือออกไปทำมาหากินอย่างอื่น

พรรคประชาธิปัตย์คือพรรคที่ว่า ทั้งที่เคยรุ่งโรจน์ และล้มลุกคลุกคลาน เป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เหนียวแน่น ถึงขนาดยังไม่มีพรรคการเมืองใดจะสร้างนักการเมืองให้มีฝีปากกล้าอย่างประชาธิปัตย์ได้ดีกว่านี้ และยิ่งยงมาจนบัดนี้

การแยกออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์มีตั้งแต่ครั้งหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปเป็นสารพัดนักรวมทั้งนักหนังสือพิมพ์แล้วกลับมาเป็นนักการเมืองก่อตั้งพรรคกิจสังคม ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจาก “หม่อมพี่” หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อครั้งป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหาญกล้าตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ร่วมกับพรรคเกษตรสังคมด้วยเหตุรังเกียจพรรคธรรมสังคม

แม้มีเสียงสมาชิกเพียง 18 เสียง แต่ด้วยเหตุที่สามารถร่วมกับพรรคการเมืองอื่นได้โดยไม่รังเกียจ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ จึงก้าวขึ้นนั่งบัลลังก์ทำเนียบรัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรี

Advertisement

แล้วในที่สุด พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2519 เพราะเหตุไม่ยอมขับจอมพลถนอม กิตติขจร ออกจากประเทศไทย ขณะห่มผ้าเหลือง

กลับเข้ามาเมืองไทย เป็นเหตุให้สมาชิกคนหนึ่งคือ นายวีระ มุสิกพงศ์ อภิปรายกระทั่งหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ต้องลาออกกลางสภา แล้วเกิดเหตุ 6 ตุลา 19 ขึ้น

เหตุการณ์ครั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์แทบจะกลับคืนสภาพเดิมไม่ได้ การเลือกตั้งปี 2522 นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ตีกินสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียงหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว ทั้งนายวีระ มุสิกพงศ์ ยังลาออกจากพรรคไปจัดตั้งกลุ่ม 10 มกราคมขึ้น กระนั้น พรรคประชาธิปัตย์มิได้แตกแยกออก ด้วยสมาชิกที่ยังเกาะแน่นกับพรรคยังเหนียวแน่นในอุดมการณ์ต่อต้านเผด็จการ แม้หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นจำเป็นต้องเข้าร่วมกับพรรคการเมืองที่เรียกว่า “ขวาตกขอบ” ด้วยเหตุเพราะ “ข้อมูลใหม่” และผู้เป็นนายกรัฐมนตรีคือพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นตัวกลางไม่สังกัดพรรคใด กระทั่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 คน คือนายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งนายชวนยังเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรมาครั้งหนึ่งแล้วด้วย

Advertisement

หลังเกิดรัฐประหารอีกสองครั้ง พรรคประชาธิปัตย์ไม่ค่อยเข้มข้นกับการต่อต้านรัฐประหารเท่าที่ควร กระทั่งครั้งหลังสุดที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรียาวนาน 5 ปี สู้อุตส่าห์จัดการเลือกตั้งขณะ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร มีอำนาจเผด็จการในมือ ไม่ลงเลือกตั้ง ไม่ลดราอำนาจเผด็จการ

เลือกตั้งแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ยินดีสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งนายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร คือประธานรัฐสภา ที่ต้องเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ชื่อนายกรัฐมนตรี คือ พลเอก ประยุทธ์ ให้ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นการส่งเสริมให้นายกรัฐมนตรีสืบเนื่องจากเผด็จการ

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรค เนื่องจากจำนวนสมาชิกได้รับเลือกตั้งไม่ถึง 100 คน และยืนยันไม่ร่วมรัฐบาลและไม่สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อที่สุด พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และสนับสนุนให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จึงลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ ก่อนจะมีการลงมติร่วมรัฐบาลและสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์

ด้วยเหตุต้องการรักษาสัจจะที่ให้ไว้กับประชาชน และรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์ตามคติพรรคที่ว่า “สัจจังเว อมตาวาจา” ต้องรักษาคำพูดและรับผิดชอบต่อคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน “ผมเชื่อว่าการยึดมั่นอุดมการณ์และหลักการถึงจะเดินต่อไปได้ สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศในระยะยาวได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image