ลัทธิมหาอำนาจหนึ่งเดียว การเมืองใหม่ของทรัมป์ : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

การเมืองใหม่เป็นการเมืองสุดโต่ง การกีดกันทางการค้าและสงครามการค้าในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ก็สะท้อนนัยทางการเมืองเช่นว่านี้ด้วย

โลกาภิวัตน์ที่รุ่งเรืองมาหลายทศวรรษให้โอกาสกับนักธุรกิจและผู้มั่งคั่งจำนวนหนึ่งในขณะเดียวกันนั้นก็ละทิ้งประชาชนไว้ห่างไกลเป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตอย่างคึกคักไปได้นานเพราะหนี้สินและกำลังซื้อของประชาชนไม่สามารถรองรับได้ ส่วนเกินทางเศรษฐกิจตกอยู่กับคนเพียงหยิบมือเดียว

ในสหรัฐอเมริกา ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีมากขึ้นทั้งจากโลกาภิวัตน์ทางการค้า การพลิกโฉมของเทคโนโลยีโลกและจากมาตรการกระตุ้นของเฟด โดยกลับเห็นความรุ่งเรืองคึกคักของจีนทั้งทางด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยีและประสิทธิผลของภาครัฐ

การเมืองในสหรัฐถูกผลักดันให้แบ่งขั้วมากขึ้นอย่างรวดเร็ว บุคลากรทางการเมืองดั้งเดิมของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันไม่สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ เสียงที่ไม่สังกัดพรรคมีมากขึ้น

Advertisement

การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา ทรัมป์จึงได้รับชัยชนะอย่างพลิกความคาดหมายเหนือกลุ่มผู้นำพรรคที่คร่ำหวอดแต่ประเมินฐานเสียงผู้ใช้แรงงานผิวขาวต่ำเกินไป

ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่กำลังสร้างภาพลักษณ์ใหม่ เป็นผู้นำที่พูดจริง ทำจริงและทำได้

เป้าหมายในการเลือกตั้งของทรัมป์มีพื้นที่หลักอยู่ที่รัฐแถบมิดเวสต์ซึ่งเป็นเขตที่อ่อนแอทางเศรษฐกิจและสูญเสียความสามารถการแข่งขันกับต่างประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐเหล่านี้เป็นรัฐที่ตัดสินผลแพ้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างสำคัญ (ตามระบบค่าคะแนนเลือกตั้งหรือ Electoral votes)

นโยบายสหรัฐมาก่อน (America First) เป็นแนวทางการเมืองที่โดนใจกลุ่มคนผิวขาวอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานเสียงที่เป็นผู้ใช้แรงงานหรือมีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ชาวอเมริกันผิวขาวเป็นประชากรที่ออกเสียงเลือกตั้งมากถึงร้อยละ 73.7 โดยในรัฐที่ชี้นำผลแพ้ชนะอย่างเช่น รัฐโอไฮโอ สัดส่วนนี้มีสูงมากถึงร้อยละ 84.4 (ในรัฐนี้กลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีมากถึงร้อยละ 56.7)

ในทางเศรษฐกิจ แนวทางชาตินิยมอเมริกันแบบมหาอำนาจหนึ่งเดียวอาศัยมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศอันเป็นกีดกันสินค้าและบริการของต่างประเทศอย่างมีเป้าหมาย แนวทางนี้มีองค์ประกอบได้แก่

1.การใช้มาตรการภาษีนำเข้ากับต่างประเทศในสินค้าที่สหรัฐมีปัญหาการแข่งขันกับต่างประเทศ สหรัฐต้องเน้นที่ผู้ผลิตภายในประเทศก่อน (Tariff protectionism)

2.การใช้มาตรการที่ถือว่าสหรัฐเป็นรัฐเชิงธุรกิจ ผลประโยชน์ของผู้ผลิตมีความสำคัญอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศควรวัดจากสิทธิและผลประโยชน์ที่ชาติตนได้รับแบบของแนวทางพาณิชย์นิยมในยุคอดีต (Mercantilism) การใช้แนวทางเจรจาระดับทวิภาคีจะทำให้สหรัฐได้เปรียบ

3.การสลายการแข่งขันระหว่างกลุ่มการค้า (Bloc competition) ที่เกิดขึ้นสมัยที่ญี่ปุ่นรุกตลาดทั่วโลก กลุ่มนาฟต้าเป็นการเปิดเสรีที่ไม่จำเป็น กลุ่มสหภาพยุโรปที่มีเยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นผู้นำควรลดความสำคัญลงและแยกอังกฤษออกมา กลุ่มการค้าในเอเชียก็ไม่ควรได้รับการยอมรับ สหรัฐต้องเน้นระบบโลกที่มีมหาอำนาจหนึ่งเดียวมิใช่ความร่วมมือแบบกลุ่มอำนาจเชิงภูมิภาค

4.การสลายบทบาทขององค์การการค้าโลกซึ่งเป็นเวทีเปิดเสรีพหุภาคีและสหรัฐควบคุมสภาพไม่ได้ดี แนวทางกีดกันทางการค้าฝ่ายเดียวเป็นการละเมิดกติกาและสัญญาที่สหรัฐกระทำไว้ในขณะที่การลาออกจากองค์การการค้าโลกเป็นทางเลือกที่จะเสียหายสำหรับสหรัฐอย่างมาก จีนถูกมองว่าได้ประโยชน์สูงสุดจากเวทีพหุภาคีนี้

5.การหยุดยั้งพลวัตทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งจะต้องดำเนินการลดบทบาททางการค้าและการลงทุนของจีน ไปจนถึงการสกัดกั้นความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีและอิทธิพลบนเวทีโลก ศตวรรษของจีนจะต้องไม่เกิดขึ้น

มาตรการภาษีนำเข้าที่กีดกันสินค้าเหล็ก อะลูมิเนียมและยานยนต์รวมทั้งการดำเนินการทางการค้าที่แข็งกร้าวต่อจีนล้วนมีนัยทางการเมืองที่จะช่วยให้ฐานเสียงแถบมิดเวสต์แน่นหนาขึ้น กลุ่มชาวบ้านผิวขาวและผู้ที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมอเมริกันจะรู้สึกถึงผลงานการบริหารประเทศที่โดดเด่นแบบไม่เคยเห็นมาก่อน

ส่วนรัฐทางใต้นับเป็นที่มั่นทางการเมืองสำคัญของพรรครีพับลิกัน ในรัฐเหล่านี้มีความเสี่ยงในระยะยาวต่อพรรครีพับลิกันและการเมืองฝ่ายขวาในอนาคตถ้าหากประชากรเชื้อสายละตินมีมากขึ้น

เท็กซัสซึ่งเป็นรัฐใหญ่และมีค่าคะแนนเลือกตั้งสูงมากมีชาวอเมริกันผิวขาวออกเสียงเลือกตั้งเหลือประมาณร้อยละ 61.3 ชาวอเมริกันสายละตินมักอาศัยอยู่ตามเขตชายแดนและนิยมเดโมแครต ส่วนนี้มีแนวโน้มเติบโตสูงและมีสัดส่วนรองลงมาที่ร้อยละ 20.7

ในแง่ของการวิเคราะห์ข้อมูลประชากรและการเมือง การหยุดยั้งการอพยพทางชายแดนเม็กซิโกเช่น การสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกหรือการบีบให้รัฐบาลเม็กซิโกจัดการกับประชาชนที่ต้องการอพยพไปหางานทำในสหรัฐ จึงมีความหมายทางการเมืองต่อทรัมป์ทั้งในแง่ของการรักษาสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงและการลดบทบาทของพวกเชื้อสายละตินในอนาคต

ถ้าหากกล่าวในเชิงยุทธศาสตร์ การก่อสงครามการค้ากับจีนนับเป็นงานการเมืองที่สำคัญและท้าทายที่สุด สงครามการค้าเป็นทางเลือกที่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์สนับสนุนน้อยมากและกลับจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจย้อนกลับมาถึงประเทศตนเอง

สงครามการค้ามิได้มีวัตถุประสงค์หลักทางเศรษฐกิจ ทีมงานของทำเนียบขาวจึงไม่มีและไม่ต้องการนักเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญ ทีมงานที่ใช้แนวทางประนีประประนอมกลับต้องหลุดออกจากตำแหน่งไป ทีมงานที่มีบทบาทสำคัญมักเหลือแต่สายเหยี่ยวที่เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและมีแนวคิดต่อต้านการค้าเสรี หลายคนต่อต้านจีน

ในทางการเมือง การต่อสู้กับต่างประเทศปกติแล้วจะดึงให้ชาวสหรัฐหันมาสนับสนุนประธานาธิบดีของตน

สงครามการค้าสามารถเรียกเสียงสนับสนุนที่แน่นหนาจากประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางลบจากโลกาภิวัตน์ทางการค้าและกลุ่มอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่ต้องการเห็นความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในขณะเดียวกัน ส่วนชาวอเมริกันเชื้อสายจีนที่รู้สึกในทางลบและอาจไม่เห็นด้วยเป็นเสียงเลือกตั้งที่ไม่มีความหมายในทางการเมืองเพราะมีสัดส่วนต่ำมากไม่ถึงร้อยละ 5.5

ในสายตาของกลุ่มชาตินิยมขวาปัจจุบัน จีนเป็นภัยคุกคามความเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของพวกตน เป็นภัยคุกคามที่เข้มแข็งและน่ากลัวกว่าญี่ปุ่นที่เคยส่งสินค้าตีตลาดสหรัฐอเมริกาในยุคสมัยประธานาธิบดีเรแกนและบุชผู้อาวุโส

การจัดการกับจีนที่กำลังก้าวขึ้นมาแข่งขันกับสหรัฐในทางเศรษฐกิจจึงเป็นแนวทางที่ถูกใจฐานการเมืองส่วนใหญ่นี้

แนวทางของทรัมป์เป็นการเมืองที่มียุทธศาสตร์ชัดเจน การสร้างเป้าหมายหลักที่จีนก็เป็นการเมืองใหม่ที่มองการค้ากับความเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวบูรณาการไว้ด้วยกัน

การแสดงความยิ่งใหญ่ของมหาอำนาจสหรัฐเหนือชาติอื่นๆ ช่วยให้โอกาสที่ทรัมป์จะได้เป็นประธานาธิบดีในวาระต่อไปมีมากยิ่งขึ้น

สงครามการค้ากับจีนจึงเป็นเกมใหญ่และอาจช่วยให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกสมัย ซึ่งตั้งแต่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี การระดมทุนเพื่อการชิงตำแหน่งคราวหน้าก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในขณะที่โอกาสที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งต่ำเกือบเป็นศูนย์

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ใกล้เลือกตั้งจะยังมีความสำคัญค่อนข้างมากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

คู่แข่งชิงตำแหน่งในนามพรรคเดโมแครตยังไม่ชัดเจนแม้ว่าโดยทั่วไปจะยังเป็นรองอยู่และอาจยากที่จะสร้างการเมืองใหม่ที่ดับรัศมีที่หลงทางของทรัมป์ได้

จังหวะและการออกมาตรการตอบโต้ของจีนในอนาคตอันใกล้อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น จีนอาจหันหลังให้การเจรจาซึ่งจะทำให้ทรัมป์ดูไม่ประสบความสำเร็จและอาจสร้างความเสียหายมากกว่า

ส่วนด้านสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ภาวะชะลอตัวเริ่มแสดงเพียงเล็กน้อยในขณะที่ธนาคารกลางถูกบีบให้กระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นซึ่งจะเป็นผลบวกต่อราคาหุ้นและกระแสทางการเมืองของทรัมป์ ความเสี่ยงยังมีอยู่บ้างว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากน้อยเพียงไรด้วย

การเมืองใหม่ของทรัมป์เติบโตบนความแตกต่างและแยกขั้ว การแสดงความยิ่งใหญ่บนเวทีโลกจะทำให้ชาติพันธมิตรเล็กลงและถอยห่างออกไป ประเทศบริวารต้องเลือกข้าง ประเทศที่ถูกมองเป็นศัตรูจะมีความเป็นศัตรูมากขึ้น ความไว้วางใจซึ่งกันและกันยากที่กลับมาดีเหมือนเดิม

ภายใต้ลัทธิมหาอำนาจหนึ่งเดียว สงครามการค้าและความขัดแย้งเป็นอุบัติการณ์ที่สร้างขึ้นได้อย่างง่ายๆ แต่จะกลายเป็นพันธกิจใหม่ทางการเมืองที่จะติดพันอยู่กับสหรัฐไปอีกนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image