สถานีคิดเลขที่ 12 : พปชร.-ท้ารบ?

พรรคพลังประชารัฐจัดเป็นพรรคการเมืองพิเศษ
ก่อกำเนิดขึ้นในสถานการณ์พิเศษ ชื่อพิเศษคล้ายโครงการประชานิยมของรัฐบาลทหาร มีความพิเศษอีกมากมายหลายประการ
กระทั่งถูกค่อนแคะ เป็นพรรคสิทธิพิเศษ ได้บีโอไอการเมือง
แต่กระนั้น แกนนำพรรคระดับสูง ยืนยันว่า พรรคการเมืองน้องใหม่ที่กวาดต้อน รวมพลนักการเมืองเก่ามาอยู่ใต้ชายคาไม่น้อยนี้
เป็นพรรคการเมืองเหมือนกับพรรคอื่นๆ ทั่วไป
ผู้มีอุดมการณ์ตรงกันมาร่วมงานทางการเมือง
อีกทั้งยังไม่ใช่พรรคทหาร เนื่องจากไม่มีนายทหารใหญ่ บิ๊กดัง ปรากฏชื่อในสารบบสมาชิกพรรคแม้แต่คนเดียว
ประการสำคัญคือ ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ
ตั้งขึ้นเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนพรรคสามัคคีธรรม เหมือนพรรคการเมืองทหารอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เพื่อรับการผ่องถ่ายอำนาจจากทหาร
แต่จะธำรงรักษาไว้สืบไป เป็นสถาบันทางการเมือง
มิใช่เลือกตั้งครั้งเดียว 24 มีนาคม 2562 แล้วจบภารกิจ สลายตัว
วันนี้ภาพของพรรคพลังประชารัฐชัดขึ้นอีกระดับ เมื่อปรากฏกระแสข่าว แกนนำพลเรือนของพรรค เตรียมส่งเทียบเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ สมัครเป็นสมาชิกพรรค จากนั้นจะผลักดันเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคในลำดับถัดไป จาก อุตตม สาวนายน เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หากกระแสข่าวนี้เป็นจริง นับว่าเป็นอีกจุดเปลี่ยนของพรรค

ทั้งนี้ไม่ว่า การขยับเข้าสู่การเมืองเต็มร้อยของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นเพราะเหตุผล ความจำเป็นเฉพาะหน้า   ที่ต้องมีแม่ทัพที่เข้มแข็ง เข้ามาจัดแถว คุมสถานการณ์การเมือง รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐเอง ที่เต็มไปด้วย มุ้ง กลุ่ม ก๊วนการเมือง หลายก๊กหลายเหล่า หรือว่า ตั้งใจลุยยาว มองไปถึงวันข้างหน้า
เพราะในช่วงพิเศษ 5 ปีนี้ บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐถือแต้มต่อเหนือกว่าทุกพรรค
จะมีการเลือกตั้งอีกกี่ครั้งก็ตาม
ชื่อ ‘บิ๊กตู่’ คือมือวางนายกฯอันดับ 1 ในรัฐสภา อันประกอบด้วย ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน และ ส.ส.อีก 500 คน
การเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงน่าสนใจอย่างเป็นพิเศษ
นอกจากจะเป็นคำตอบทั้งหมด แบบไม่ต้องตีความอะไรเป็นอะไรอีกต่อไป
ยังจะทำให้การต่อสู้ในทางการเมืองเข้มข้นยิ่งขึ้น

เข้มข้นดุเดือดทั้งอุณหภูมิการเมือง การทำงานภายใต้การบริหารของรัฐบาลบิ๊กตู่2-ภายใต้การตรวจสอบในฝ่ายนิติบัญญัติของฝ่ายค้านร่วม 7 พรรค
แค่ 7 พรรคอันนำโดยเพื่อไทย วางตำแหน่งพรรคเอาไว้ที่ฝ่ายประชาธิปไตย ชี้มือกล่าวหาไปที่รัฐบาลว่า เป็นฝ่ายเผด็จการ
แต่แทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้ารัฐประหารจะถอย หรือรักษาระยะห่างในฐานะแขกรับเชิญพิเศษของพรรคพลังประชารัฐ
โดยให้พลเรือนดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อไป เพื่อลดทอนภาพเขียวเข้ม ลายพราง
แต่กลับมั่นใจเป็นที่ยิ่ง เข้ามานั่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรคเอง
ไม่แคร์ใครจะกล่าวหาว่า ตอกย้ำภาพของการเป็นฝ่ายตรงข้ามประชาธิปไตย
นี่เท่ากับการท้ารบในเวทีการต่อสู้ในวิถีทางรัฐสภา

ท้าให้ประชาชนตัดสินใจในระบบการเมืองแบบสุดขั้ว 2 ฝ่ายในสนามเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป
ที่บริบทของการต่อสู้ใน 5 ปีนี้
หัวข้อประชาธิปไตย-เผด็จการ จะยังก้องดัง สืบทอดวาระของการต่อสู้ ตามอายุขัยบทเฉพาะกาล
สืบทอดโดยตัวละคร-แม่ทัพพลังประชารัฐคนใหม่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image