การคิดพูดแบบพระพุทธศาสนา กับการพัฒนาประชาธิปไตย

การเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร อำนาจ ผลประโยชน์ และสิ่งที่มีคุณค่าต่างๆ ในสังคม จากประวัติศาสตร์มนุษย์โลกที่ผ่านมา มีการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พัฒนาระบอบการเมืองการปกครองสืบต่อเนื่องกันมาหลายร้อยหลายพันปี จนกระทั่งมาตกผลึกที่ระบอบประชาธิปไตยในยุคปัจจุบัน ซึ่งนานาประเทศส่วนใหญ่ในโลกให้การยอมรับว่าเป็นระบอบที่มีข้อเสียน้อยที่สุด ทำให้มนุษย์โลกสามารถอยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างสันติ มีหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต มีการจัดสรรแบ่งปันอย่างทั่วถึงเป็นธรรมไม่ต่อสู้แย่งชิงจนถึงขั้นรบราเข่นฆ่าทำร้ายกันเยี่ยงสัตว์ เหตุที่จำเป็นเช่นนั้นเพราะประชาธิปไตยมีหลักการพื้นฐานอันสำคัญ 5 ประการ คือ

1.หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Popular Sovereignty) ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งถือเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐและเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยร่วมกันทั้งทางตรงและทางอ้อม

2.หลักสิทธิเสรีภาพ (Rights and Liberty) ระบอบประชาธิปไตยมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายหรือละเมิดบุคคลอื่น ตัวอย่างสิทธิเสรีภาพที่เป็นสากลขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน การเดินทาง การเลือกถิ่นที่อยู่ การนับถือศาสนา การศึกษา การประกอบอาชีพ การได้รับบริการทางสาธารณสุข การติดต่อสื่อสาร การแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การตั้งพรรคการเมือง การรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น

3.หลักความเสมอภาค (Equality) ประชาชนทุกคนในรัฐต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในเรื่องพื้นฐานที่สำคัญๆ อันจะนำมาซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความยุติธรรมในสังคม ได้แก่ ความเสมอภาคทางการเมือง ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ความเสมอภาคทางสังคม ความเสมอภาคทางกฎหมาย และความเสมอภาคในโอกาส

Advertisement

4.หลักการปกครองโดยเสียงข้างมากที่เคารพเสียงข้างน้อย (The Majority Rule with Respect to Minority Rights) กรณีที่ต้องมีการตัดสินใจเพื่อเลือกกระทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ต้องเลือกที่จะปฏิบัติตามมติของเสียงข้างมาก ด้วยข้อสมมุติฐานที่ว่าการตัดสินใจโดยคนหมู่มากย่อมมีการใช้วิจารณญาณที่รอบคอบมีเหตุผลมากกว่าและก่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยกว่าการตัดสินใจจากคนหมู่น้อย แต่ก็ต้องให้ความเคารพต่อเสียงข้างน้อย โดยต้องไม่การทำการอันใดที่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือทำลายกลุ่มของผู้ที่มีแนวคิดแตกต่างไปจากตน

5.หลักนิติรัฐ (Rule of law) ในระบอบประชาธิปไตย กฎหมายมีที่มาจากประชาชน ทุกคนในรัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และโดยที่กฎหมายมีลักษณะที่ชัดเจน แน่นอน เปิดเผย ทั้งกระบวนการในการบัญญัติและการบังคับใช้ จึงเป็นหลักประกันได้ว่าจะนำมาซึ่งความยุติธรรมและความสงบสุขในสังคม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ “ระบบ” จะดีเพียงใด หาก “คน” ไม่มีคุณภาพ ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่มีจิตสำนึก ทัศนคติที่สร้างสรรค์ดีงาม ไม่มีวิธีคิดพูดทำหรือแสดงออกอย่างถูกต้องเหมาะสม เป้าหมายตามที่ต้องการย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้การนำระบอบประชาธิปไตยไปใช้ในหลายประเทศจึงประสบกับความล้มเหลวหรือไม่ได้ผลเท่าที่ควร

Advertisement

สําหรับประเทศไทยต้องยอมรับความจริงกันว่าประชาธิปไตยในบ้านเมืองเราล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาเรื่อง “คน” โอกาสนี้จึงขอนำเรื่องการคิดและการพูดแบบพระพุทธศาสนามาวิเคราะห์แลกเปลี่ยนกับพี่น้องร่วมชาติ เผื่อว่าจะมีส่วนช่วยทำให้ประชาธิปไตยในบ้านเมืองเราพัฒนาก้าวหน้าไปได้บ้าง

เกี่ยวกับเรื่องการคิดนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กล่าวไว้ในหนังสือ “พุทธธรรม” ว่าการคิดอย่างถูกวิธีตามหลักพระพุทธศาสนาเรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในการนำไปสู่จุดหมายของพุทธธรรมอย่างแท้จริง เพราะโยนิโสมนสิการเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญญา ทำให้สามารถหยั่งรู้สภาวธรรม เข้าถึงหลักความจริง ความดีงาม ทำให้เกิดสัมมาทิฐิ ทำให้คนเป็นผู้ใช้ความคิดหรือเป็นนายของความคิด เอาความคิดมารับใช้ช่วยแก้ไขปัญหาตรงข้ามกับ “อโยนิโสมนสิการ” ซึ่งทำให้คนกลายเป็นทาสของความคิด ถูกความคิดปลุกปั่นจับเชิดให้เป็นไปต่างๆ นานา ชักลากไปหาความเดือดร้อนวุ่นวายหรือถูกความคิดนั้นเองบีบคั้นให้ได้รับความทุกข์ทรมานต่างๆ อย่างไม่เป็นตัวของตัวเอง

วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการที่ปรากฏพบในบาลีพอประมวลเป็นแบบใหญ่ๆ ได้ 10 แบบคือ แบบสืบสาวหาเหตุปัจจัย แบบแยกแยะส่วนประกอบหรือกระจายเนื้อหา แบบสามัญลักษณ์หรือแบบรู้เท่าทันธรรมดา แบบอริยสัจหรือแบบแก้ปัญหา แบบอรรถธรรมสัมพันธ์หรือตามหลักการและความมุ่งหมาย แบบคุณโทษและทางออก แบบคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม แบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรมหรือเร้ากุศล แบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน และแบบวิภัชชวาท

วิธีคิดทั้ง 10 แบบดังกล่าวมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ 3 ประการคือ

1.สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องดับไป ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ไม่คงอยู่ตลอดไป อยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

2.สรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยธรรมชาติเหตุกับผลย่อมมีความสัมพันธ์กันเสมอ “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ” แต่เหตุกับผลที่ว่านั้น ย่อมไม่ใช่เหตุเดี่ยวหรือผลเดี่ยว เหตุอย่างหนึ่งอาจก่อให้เกิดผลมากมายหลายอย่าง ขณะที่ผลอย่างหนึ่งก็เกิดมาจากเหตุปัจจัยหลายอย่างเช่นกัน

3.ในการคิดอ่านแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้นต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ คิดและปฏิบัติในแนวทางของความรู้และปัญญา ไม่ใช่ตัณหาและอารมณ์ แก้ที่ตัวเหตุปัจจัยไม่ใช่แก้ด้วยความอยาก พิจารณาปัญหาอย่างเป็นองค์รวมในทุกมิติแง่มุม ทั้งด้านดีด้านเสีย ประโยชน์และโทษ มีหลักการและเป้าหมายที่ถูกต้องชัดเจน มีวิธีการที่ถูกต้องชอบธรรม

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า โยนิโสมนสิการเป็นวิธีคิดที่อยู่ในระดับเหนือ “ศรัทธา” เพราะเป็นขั้นที่เริ่มใช้ความคิดของตนเองอย่างเป็นอิสระ มุ่งเน้นการใช้ “ปัญญา” รู้จักคิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระเบียบ รู้จักคิดวิเคราะห์ คิดตรงตามสภาวะและเหตุปัจจัย ไม่มองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างตื้นๆ ผิวเผิน โยนิโสมนสิการจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับกระบวนการพัฒนาปัญญาและการคิดหาหนทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือสังคมส่วนรวม

ส่วนการพูดนั้น ในทางพระพุทธศาสนาประกอบด้วยหลักการที่สำคัญ 4 ประการคือ พูดความจริง เป็นประโยชน์ ถูกกาลเทศะ และพูดด้วยความมีเมตตา ซึ่งผู้เขียนมีข้อสังเกตในบางแง่มุมดังนี้

1.คำกล่าวที่ว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่บางคนอาจจะตายเพราะความจริง” หรือคำว่า “ต้องอยู่เป็น” นั้น สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมที่ยอมรับในอำนาจนิยม ขาดความกล้าหาญคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน ไม่มีจิตสำนึกสาธารณะ ผลที่ตามมาคือ “อธรรมวาที” ย่อมรุ่งเรือง “ธรรมวาที” จะเงียบเสียง สังคมนั้นย่อมไม่ต้องการหรือยกย่องเชิดชูความดี ท้ายที่สุดคนทำดีก็จะไม่ได้ดี และสังคมก็จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ แล้วล่มสลายไปในที่สุด

2.คำว่า “ประโยชน์” ต้องพึงตระหนักและแยกแยะให้ออกว่าเป็นคุณค่าแท้ หรือคุณค่าเทียม คุณค่าแท้หมายถึง ความหมาย คุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายในแง่ที่สนองความต้องการของชีวิตโดยตรงหรือที่มนุษย์นำมาใช้แก้ปัญหาของตนเพื่อความดีงาม ความดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิตหรือเพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเองและผู้อื่น คุณค่านี้อาศัยปัญญาเป็นเครื่องตีค่าหรือวัดราคา ส่วนคุณค่าเทียมหมายถึง ความหมาย คุณค่า หรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์พอกพูนให้แก่สิ่งนั้น เพื่อปรนเปรอการเสพเสวยเวทนาหรือเพิ่มเสริมราคาเสริมขยายความมั่นคงยิ่งใหญ่ของตัวตนที่ยึดถือไว้ คุณค่านี้อาศัยตัณหาเป็นเครื่องตีค่าหรือวัดราคา ตัวอย่างเช่น คุณค่าแท้ของอาหาร คือประโยชน์สำหรับการหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ มีสุขภาพดี เป็นอยู่ผาสุก มีกำลังเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญกิจหน้าที่ ส่วนความเอร็ดอร่อย เสริมความสนุกสนาน เป็นเครื่องแสดงฐานะ ความโก้หรูหรา ถือเป็นคุณค่าเทียม เป็นต้น

3.สังคมไทยค่อนข้างมีปัญหาอย่างมากในเรื่องวุฒิภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่สามารถแยกเรื่องส่วนตัวออกจากส่วนรวมได้ บ่อยครั้งคำว่า “กาลเทศะ” มักจะถูกนำไปกล่าวอ้างผิดบริบทผิดที่ผิดทาง อย่างเช่นในการประชุมสัมมนาต่างๆ โดยเฉพาะในแวดวงข้าราชการ หากผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ที่มีอาวุโสน้อยพูดแสดงความคิดความเห็นอย่างตรงไปตรงมา แตกต่างตรงข้ามกับผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่มีอาวุโสมากกว่า มักจะถูกตำหนิติเตือนว่าไม่รู้กาลเทศะ ไม่รู้จักเคารพให้เกียรติผู้หลักผู้ใหญ่ ขาดสัมมาคารวะ หรือแม้กระทั่งการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ก็มีข้อครหาอยู่เสมอว่า อาจารย์ที่ปรึกษามีจิตใจที่คับแคบหากนักศึกษาผู้ใดไม่นอบน้อมให้เกียรติเอาอกเอาใจหรือคิดบังอาจโต้แย้งคัดค้านความเห็นของอาจารย์สุดท้ายก็มักจะเรียนไม่จบการระดมสมอง การแลกเปลี่ยนความคิดความเห็น เพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้และปัญญาที่พัฒนาก้าวหน้าในสังคมไทยจึงเป็นปัญหามาโดยตลอด

4.สังคมไทยมีนักการเมือง นักต่อสู้ นักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเสียสละ กล้าหาญ พูดในสิ่งที่เป็นความจริง เป็นประโยชน์ ถูกกาลเทศะ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่มาตกม้าตายในข้อสุดท้ายคือ “ขาดเมตตา” ผลที่ตามมาคือ นอกจากความคิดความเห็นหรือข้อเสนอแนะดีๆ มีประโยชน์จะไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชาติบ้านเมืองแล้ว ยังก่อให้เกิดความแตกแยกร้าวฉาน เสียแนวร่วมและสร้างศัตรูโดยใช่เหตุ ตัวอย่างคำพูดที่สะท้อนให้เห็นถึงการขาดเมตตา เช่น การพูดตำหนิด่าว่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ก้าวร้าว ไม่สุภาพ การพูดเยาะเย้ย ถากถาง แดกดัน กระแนะกระแหน เสียดสีเหน็บแนม ประชดประชัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คงไม่ได้หมายความว่า การพูดด้วยความเมตตาจะต้องใช้ภาษาที่สุภาพเรียบร้อยเสมอไป บางครั้งบางทีก็อาจมีการตำหนิด่าว่ากันได้ แต่ต้องพูดอย่างมียุทธศาสตร์ ฉลาดแยบยล มีเป้าหมายที่ถูกต้องชัดเจนด้วยจิตเจตนาอันบริสุทธิ์ โดยใช้สติและปัญญากำกับ ไม่ใช่ตัณหาและอารมณ์

ซึ่งเรื่องนี้ท่านโกเอ็นก้า วิปัสสนาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก ได้อุปมาเปรียบเทียบเหมือนช่างปั้นหม้อ โดยขณะที่ใช้มือขวาตบ มือซ้ายก็ต้องคอยประคองเพื่อให้หม้อเข้ารูปสวยงาม

ท้ายที่สุดนี้ ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้องเป็นธรรมในสังคมว่า จากประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา สิ่งสำคัญสูงสุดที่นักต่อสู้ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้จนทำให้ได้รับชัยชนะ คือ “การเสียสละ”

นักต่อสู้ที่เป็นของจริง มีอุดมการณ์เพื่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริงจะสามารถก้าวข้ามพ้นตัวเองไปได้ ยอมเสียสละได้แทบจะทุกสิ่ง บางคนแม้แต่ความตายก็ไม่รู้สึกกลัว ยิ่งเสียสละมากเท่าไหร่ พลังแนวร่วมในการต่อสู้ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เพราะในเชิงจิตวิทยาสังคมจะทำให้ผู้คนในสังคมรู้สึกมั่นใจว่า โอกาสที่จะได้รับชัยชนะมีความเป็นไปได้สูง อย่างไรเสียผู้นำก็ไม่ยอมแพ้หรือละทิ้งหลบหนีเอาตัวรอดอย่างแน่นอน

ในทางตรงกันข้ามหากผู้นำการต่อสู้ไม่แสดงออกให้เห็นถึงการเสียสละโดยประจักษ์ชัด จะคิดจะทำจะตัดสินใจอะไรก็คำนึงถึงแต่ประโยชน์ได้เสียของตัวเอง พลังแนวร่วมย่อมรู้สึกลังเลไม่แน่ใจและลดน้อยลงเรื่อยๆ ผลสุดท้ายที่ตามมาคือความพ่ายแพ้ยับเยิน

โสต สุตานันท์ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image