‘คนดี’ที่ทำให้กฎหมาย‘เลอะเทอะ’ : โดย กล้า สมุทวณิช

มิตรสหายอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ระบบการปกครองในยุค คสช.นั้นถือเป็นอันตรายมากสำหรับวิชาชีพนิติศาสตร์

เพราะ คสช.โจมตีความเป็นเหตุเป็นผลของระบบกฎหมายโดยตรง ซึ่งความเป็นเหตุเป็นผลนี้เองที่ทำให้คนเคารพกฎหมาย เพราะเชื่อว่ามีเหตุผลอยู่ในระบบจึงควรเชื่อ แต่การปกครองภายใต้ คสช.ทำให้กฎหมายกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุมีผล ใครจะพูดว่าอะไรก็ได้ จะตีความแบบไหนก็ได้ กลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ ไม่ใช่กฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันของสมาชิกในสังคม

มิตรสหายได้ทิ้งท้ายไว้ด้วยคำถามว่า เมื่อระบบ คสช.ผ่านไป นักกฎหมายที่ยังไม่เสียสติจะอธิบายระบบกฎหมายที่หลงเหลืออยู่ว่าอย่างไร จะกอบกู้ความน่าเชื่อถือของวิชาชีพกลับมาได้อย่างไร

ข้อสังเกตข้างต้นทำให้ผมระลึกถึงบทสนทนาครั้งหนึ่งกับท่านอาจารย์จรัญ โฆษณานันท์ ที่อาจารย์เสนอว่า ความล่มสลายของนิติรัฐในยุคการปกครองโดย คสช.นี้ มัน “พูดยาก” เพราะมันไม่ได้ล่มสลายลงทั้งระบบ แต่มันแยก “กฎหมาย” ออกเป็น 2 ชั้น และที่พวกเขาบิดเบือนหรือทำลายหลักการของหลักนิติรัฐนั้นอยู่แค่ในชั้นของกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้อำนาจหรือรักษาอำนาจของพวกเขาเท่านั้น ได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง และกฎหมายอาญากับกฎหมายปกครองที่เกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่กลไกตามกฎหมายอื่นๆ นั้นยังดำรงคงอยู่ วิ่งราวทรัพย์ก็ต้องถูกตำรวจจับ ซื้อของก็ต้องชำระราคา จึงเรียกได้ไม่เต็มปากว่า “ระบบนิติรัฐของเราล่มสลาย”

Advertisement

เพราะสำหรับนักกฎหมายที่ไม่รู้หืออืออาก็อาจจะไม่รู้สึก สัมผัส หรือตั้งคำถามใดๆ ว่ามีปัญหาอะไรขึ้นกับกระบวนการใช้และบังคับกฎหมายในระบอบ คสช.เลยด้วยซ้ำ แถมเผลอๆ ชอบอีก เพราะมีกฎหมาย “ล้ำๆ” ที่ทันสมัยหรือรอออกมานานแล้ว เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องคดีแบบกลุ่ม กฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ กฎหมายเกี่ยวกับครอบครัวและความเสมอภาคทางเพศ พวกนี้ได้เกิดในช่วงสภานิติบัญญัติแห่งชาติใต้เงาของ คสช.ทั้งสิ้น

แต่ด้วยการปั๊มกฎหมายออกมาง่ายๆ บวกกับการใช้บังคับของเจ้าหน้าที่รัฐในระยะหลัง ก็มีอันตรายต่อระบบกฎหมายในภาพรวมของเรามากกว่าที่คิดไว้

หลายคนคงจำได้ว่าเมื่อประมาณวันศุกร์ที่แล้วที่มีการแถลงข่าวให้ฮือฮากันว่าตอนนี้มีกฎหมายใหม่ออกมารอการบังคับใช้ ที่จะส่งผลให้ต่อแต่นี้ไป การสูบบุหรี่ในบ้านตัวเองก็อาจจะเป็นความผิดตามกฎหมายที่มีโทษทางอาญาได้!

Advertisement

แม้ว่าจะทำใจไปนานแล้วว่า ในยุคสมัยของคนดีที่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือหรืออาวุธนี้ อาจจะมีกฎหมายบ้าบอคอแตกอะไรออกมาก็ได้ แต่เรื่องการห้ามสูบบุหรี่ในเคหสถานบ้านเรือนอันเป็นที่ส่วนตัวนั้นมันก็ยังฟังดู “ไปไกล” เกินกว่าจะเชื่อได้ลง จึงต้องลองเข้าไปอ่านในข่าวให้ละเอียดว่ากฎหมายที่ว่านั้นคือกฎหมายอะไร และบัญญัติในเรื่องนั้นว่าอย่างไร

พบว่ากฎหมายที่อ้างถึงนั้น ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค.2562 ที่จะถึงนี้ โดยกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ส่งเสริมความเป็นสถาบันครอบครัว ซึ่งโดยหลักการแล้วถือเป็นกฎหมายที่ดีมีมาตรฐานและเป็นกฎหมายที่มีใช้กันทั่วไปในอารยประเทศ

แล้วไอ้เรื่องห้ามสูบบุหรี่นี้คืออะไร จริงๆ ถ้าเปิดกฎหมายดูจะพบว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้พูดถึงเรื่องบุหรี่หรืออะไรเลย แต่เป็นการ “ตีความกฎหมาย” ไปแบบออกอ่าวออกทะเลของผู้ให้ข่าว ว่าการ “สูบบุหรี่ในบ้าน” เป็นรูปแบบหนึ่งของการก่อความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งกฎหมายนี้กำหนดสภาพบังคับไว้ทั้งในรูปแบบของมาตรการทางปกครองและโทษทางอาญา

โดย “ความรุนแรงในครอบครัว” ตามพระราชบัญญัตินี้ได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา 4 หมายความว่า “การกระทำใดๆ ที่บุคคลในครอบครัวได้กระทำต่อกันโดยเจตนาให้เกิดหรือในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ สุขภาพ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงของบุคคลในครอบครัว หรือบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมให้บุคคล ในครอบครัวต้องกระทำการ ไม่กระทำการ หรือยอมรับการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดโดยมิชอบ”

ขีดเส้นใต้สองเส้นหนาๆ อีกครั้งว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้บัญญัติคำว่า “บุหรี่” ไว้แต่มาตราเดียว แต่มันเกิดจากการจงใจตีความขยายความของฝ่ายผู้ให้ข่าวว่า การสูบบุหรี่ในบ้านนั้นก่อให้เกิดควันบุหรี่มือสอง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของบุคคลอื่นในครอบครัวที่ไม่ได้สูบบุหรี่ด้วย ดังนั้นจึงเข้าข่ายว่าจะเป็น “การกระทำใดๆ” ในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพ

แต่การตีความนี้ขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญาอย่างร้ายแรงที่สุด เพราะกฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด ห้ามตีความในทางที่จะเป็นโทษต่อบุคคลในสิ่งที่กฎหมายมิได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ รวมถึงหลักความรับผิดทางอาญาพื้นฐานที่สุดว่า บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดแม้ว่าจะได้กระทำโดยประมาทก็ตาม

ถ้าเราย้อนกลับไปดูข้อความในบทนิยามของความรุนแรงในครอบครัวข้างต้นแล้วก็จะพบว่า กฎหมายก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “การกระทำใดๆ ที่บุคคลในครอบครัวได้กระทำต่อกันโดยเจตนาให้เกิดหรือในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตราย”

นั่นคือ การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องมี “เจตนา” หรือมุ่งหวังผลตั้งต้นว่า การกระทำของตัวเองจะต้องทำให้เกิดหรือน่าจะเกิดอันตรายต่อบุคคลในครอบครัวด้วย เช่น การทุบตีคู่สมรส อันนี้ชัดเจนว่ามีเจตนาให้เกิดอันตราย หรือการไม่ยอมให้นมหรืออาหารแก่เด็กทารกหรือเด็กเล็กที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ อันนี้ก็เห็นได้ว่ามีเจตนาว่าน่าจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ

เพราะการทุบตี หรือการไม่สนใจดูแลเด็กมันไม่มีวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายในทางอื่นได้เลย นอกจากจะทำให้อีกฝ่ายเจ็บปวดโดยความตั้งใจ หรือให้หิวโหยเพราะความไม่อินังขังขอบ

แต่การสูบบุหรี่นั้น ผู้สูบบุหรี่มีเจตนาเพียงแต่จะสูบบุหรี่เพื่อรมปอดของตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะสูบบุหรี่เพื่อตั้งใจว่าจะทำให้คนในครอบครัวตัวเองต้องลำบากเดือดร้อน แม้การนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายทางสุขภาพจากควันบุหรี่มือสองจริงๆ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้คงไม่มีใครปฏิเสธหรอก แต่ก็เพราะว่ามันไม่ได้เกิดจากเจตนาตั้งต้นเช่นนั้น จึงไม่สามารถเอาผิดหรือลงโทษได้ตามกฎหมายนี้

กรณีที่สูบบุหรี่จะถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวได้ก็จะต้องเป็นกรณีที่ชัดเจนว่าผู้สูบบุหรี่ตั้งใจจะทำร้าย ทรมาน หรือกลั่นแกล้งบุคคลในครอบครัวด้วยควันบุหรี่ เช่น จับขังไว้ในห้องแล้วสูบบุหรี่รมอัดควันใส่เพื่อกดดันหรือทำให้ทรมาน กรณีนี้จะเห็นได้ว่าเจตนาตั้งต้นของเขาไม่ใช่เพื่อการสูบบุหรี่ แต่เป็นการใช้บุหรี่เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการก่อความรุนแรงในครอบครัว

กรณีการตีความกฎหมายแบบเกินเลยที่ผ่านมาซึ่งพอเปรียบเทียบกันได้ ก็ได้แก่ กรณีที่ทางตำรวจเคยมีนโยบายว่า กรณีที่คนขับรถเมาแล้วขับและก่อให้เกิดความตายต่อผู้อื่นบนท้องถนน ให้ดำเนินคดีสั่งฟ้องโดยถือเป็นการฆ่าคนโดยไม่เจตนา

ในตอนนั้นศาลก็ไม่รับฟ้องและสั่งให้ไปแก้ไข นั่นก็เพราะการตีความเช่นนี้มันขัดต่อหลักกฎหมายอาญา เพราะคนเมาแล้วขับไม่ได้ตั้งต้นเจตนามาตั้งแต่ตอนสตาร์ตรถว่าจะขับรถออกไปฆ่าใครสักคน

ไม่มีใครปฏิเสธหรอกว่า การเมาแล้วขับเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของบุคคลอื่นอย่างไม่น่าให้อภัย หรือควันบุหรี่มือสองนั้นเป็นอันตรายต่อคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ด้วยโดยเฉพาะบุคคลในครอบครัว และทางภาครัฐควรจะมีมาตรการอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหานี้

ถ้ามันจะเป็นการที่กฎหมายบัญญัติมาตรการพิเศษขึ้นมาเพิ่มโทษกรณีเมาแล้วขับโดยชัดเจนเจาะจงให้แตกต่างจากกรณีขับรถโดยประมาทอย่างอื่น หรือแม้แต่ออกกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ฉบับใหม่ ว่าการสูบบุหรี่ในบริเวณบ้านที่มีผู้เยาว์หรือผู้ที่ไม่สูบบุหรี่อยู่ด้วยนั้นมีความผิด อันนี้ก็ทำได้ และในตอนนี้ที่เรามีสภาซึ่งมีตัวแทนมาจากประชาชน ประเด็นเช่นนี้จะได้รับการถกเถียงกันทั้งในสภาและนอกสภาเพื่อหาฉันทามติร่วมกันของสังคม อย่างนี้ถ้ามีกฎหมายออกมาจริงๆ ก็จะมีความชอบธรรม

แต่การตีความกฎหมายอาญาไปในทางขยายความเพื่อเอาผิดแก่การกระทำที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้ง หากเป็นเพียงการใช้ “เจตนาดี” หรือ “ความประสงค์ดี” โดยละเลยวิธีการและไม่สนใจหลักการของกฎหมาย มันจึงกลายเป็นเรื่องที่ร้ายแรงกว่า เพราะมันเป็นการทำลายหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญาที่มีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของทุกคนในสังคมด้วยการตีความกฎหมายตามอำเภอใจ แม้ว่าจะ “ประสงค์ดี” อย่างไรก็ไม่ควรที่จะยอมรับได้

ก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐในยุคหลังๆ มีแนวโน้มในการตีความกฎหมายเกินกว่าตัวบท ตีความกฎหมายให้มีโทษทางอาญาในกรณีที่คลุมเครือด้วยอาศัยการตีความแบบขยายความมากขึ้น ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีนัก

เช่น ความพยายามในการใช้ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อ “เล่นงาน” หรือดำเนินคดีกับกรณีการ “ล้อเลียน” หรือ “ล้อเล่น” กันในเครือข่ายโซเชียล หรือแม้แต่การโกหกหรือกุเรื่องขึ้นมาเพื่อให้เป็นกระแสโดยไม่มีผลประโยชน์ หรือแทบพิสูจน์ไม่ได้ว่าเรื่องโกหกนั้นทำให้เกิดความเสียหายอย่างไร เช่นกรณีของหญิงสาวที่กุเรื่องว่ามีกรรมกรก่อสร้างชื่อนาย “นวย” เก็บกระเป๋าสตางค์ที่เธอทำหายได้ ก็มีการออกมาให้ข่าวว่าจะดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งๆ ที่การกระทำนั้นต่อให้เป็นเรื่องโกหกจริงๆ แต่ก็ยังฟังยากว่าเป็นการก่อความเสียหายต่อประชาชนหรือสาธารณชนอย่างไร

หรือที่ครั้งหนึ่ง ผู้ที่รับผิดชอบกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เคยพยายามเอาผิดหรือตีความคำว่า “โฆษณา” ตามกฎหมายให้รวมถึงประชาชนทั่วไปที่รีวิวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบสมัครเล่นที่ไม่มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องก็ด้วย

ไม่ปฏิเสธเลยว่าทั้งหมดนี้คือ “เจตนาดี” ของบรรดา “คนดี” ที่หมายจะปกป้องสังคมจากพิษร้ายของเหล้า บุหรี่ หรือการอื่นๆ

แต่เจตนาดีที่บิดเบือนกฎหมายนั้นไม่ได้ส่งผลดีอะไรเลยนอกจากทำให้ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่ากฎหมายนั้นมุ่งควบคุมความประพฤติของปัจเจกชนอย่างล้นเกินไม่ได้สัดส่วน ในที่สุดกฎหมายก็กลายเป็นบทบัญญัติอันเหลวไหลไร้ความศักดิ์สิทธิ์ที่ให้อำนาจรัฐสามารถใช้บิดเบือนทำอะไรก็ได้ และทำให้เจตนารมณ์ดีๆ อันแท้จริงของกฎหมายนั้นต้องเสียหายไป

นี่คือวิธีการใช้กฎหมายแบบ “คนดี” ที่เลอะเทอะ ลำบากนักกฎหมายรุ่นหลังให้ต้องมาตามล้างตามเช็ด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image