กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (6) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ความล้มเหลวของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าตลอดทศวรรษ 50 ที่ไม่สามารถรวบรวมมวลชนจำนวนมากเพียงพอเพื่อปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลอู นุ ได้ ทั้งยังได้รับการต่อต้านจากนักชาตินิยมที่เคยต่อสู้มาด้วยกันในยุคก่อนพม่าได้รับเอกราช ทำให้ทางเลือกของพรรคคอมมิวนิสต์พม่ามีไม่มากนัก หากไม่ถอดใจไปเสียและกลับไปรวมกับพรรครัฐบาล เห็นจะต้องจับอาวุธขึ้นสู้ เปลี่ยนสถานะเป็นขบวนการใต้ดินเต็มตัว แต่ในราวปี 1955 เมื่อรัฐบาลพม่าแสดงเจตนารมณ์ว่าจะไม่ประนีประนอมกับพรรคโดยเด็ดขาด และเมื่อข่าวจากมอสโกว่าด้วยการถึงแก่อสัญกรรมของผู้นำคอมมิวนิสต์สายฮาร์ดคอร์อย่างสตาลินถึงพม่า ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จึงเริ่มทบทวนยุทธศาสตร์ของตนอย่างจริงจังอีกครั้ง แต่ก็ยังคงมีความขัดแย้งในระดับผู้นำพรรค ขณะที่จ่อ เญง (Kyaw Nyein) และบา ส่วย (Ba Swe) เป็นผู้นำพรรคสายกลางต้องการเจรจากับรัฐบาลอู นุ ตะขิ่นลวิน (Thakin Lwin) ผู้เคร่งครัดในหลักการมาร์กซิสม์ และผู้มีอิทธิพลในสหภาพแรงงานทั่วประเทศ กลับต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์พม่าหันหน้าเข้าหาโซเวียตแบบเต็มตัว

เมื่ออู นุ จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1956 พรรคคอมมิวนิสต์หลายสายเข้าร่วมชิงชัยในระบบรัฐสภาด้วย ไม่ว่าจะเป็นพรรคกรรมกรและชาวนาแห่งพม่า (BWPP) และแนวหน้าสามัคคีแห่งชาติ (National Unity Front) ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคสังคมนิยมสายกลางๆ อย่าง NUF ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 2 แพ้พรรครัฐบาลของอู นุ ไม่มาก ในปลายทศวรรษ 1950 พรรคคอมมิวนิสต์พม่าอ่อนแอลงตามลำดับ และไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองระดับชาติได้ กองทัพพม่าเองก็ยังพยายามปราบปรามคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซาก และปูพรมปราบคอมมิวนิสต์ที่เหลืออยู่ในพม่าตอนกลาง โดยเฉพาะในฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ในเวลานั้น ได้แก่ แถบเทือกเขาพะโค โยมา ใกล้กับเมืองตองอูและเนปยีดอในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมาช้านาน แต่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สร้างความลำบากให้พรรคคอมมิวนิสต์อย่างมาก เพราะต้องอาศัยเสบียงที่ส่งขึ้นมาจากพื้นที่ราบเป็นส่วนใหญ่

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า หลังถูกผลักให้เป็นองค์กรใต้ดินแล้ว คือการสานสัมพันธ์กับคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่พวกเขาต้องการอย่างมาก เยบอ อ่อง จี
(Yebaw Aung Gyi) แอบเดินทางไปจีนพร้อมผู้ติดตามอีก 30 นาย ต่อมาอีกไม่ถึงปี ตะขิ่น บา เตง ติน (Thakin Ba Thein Tin) รองหัวหน้าพรรค นำผู้ติดตามอีกชุดหนึ่งตามไปจีน การลักลอบออกจากพม่าในครั้งนั้นไม่ง่าย เพราะต้องเดินเท้า ขึ้นช้าง ขี่ม้า ข้ามพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม จนไปจบที่เมืองไลซา รัฐกะฉิ่น ชายแดนมณฑลยูนนานของจีน เมื่อไปถึงจีนแล้ว รัฐบาลจีนรับคณะจากพม่าขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางต่อไปคุนหมิงและปักกิ่ง ตามลำดับ

รัฐบาลจีนให้การต้อนรับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พม่าอย่างดี แม้ในอีกด้านหนึ่งปักกิ่งจะสานต่อนโยบายการทูตแบบญาติมิตร หรือที่เรียกว่า “เป้า พอ” กับพม่า และเห็นว่ารัฐบาลกลางที่ย่างกุ้งเป็นมิตรที่ดีของตนตลอดมา พลพรรคคอมมิวนิสต์พม่ากลับได้รับอนุญาตให้อยู่ในมณฑลเสฉวน โดยรัฐบาลจีนส่งคนมาฝึกยุทธการทางการรบ และอบรมแนวคิดคอมมิวนิสต์เพิ่มเติมให้ ทั้งที่เสฉวนและที่โรงเรียนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ปักกิ่ง รัฐบาลจีนส่งตัวแทนจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า 3 คน ไปศึกษาปรัชญาคอมมิวนิสต์ (มาร์กซิสม์และเลนินนิสม์) เพิ่มเติมที่มอสโกด้วย ในขั้นนี้ พรรคคอมมิวนิสต์พม่ายังไม่ได้สิ่งที่ตนต้องการมากที่สุดจากรัฐบาลปักกิ่ง นั่นคือความช่วยเหลือในรูปอาวุธ เพราะปักกิ่งไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างตนกับรัฐบาลย่างกุ้งกระทบกระเทือน และรัฐบาลอู นุ เองก็ยังไม่ระแคะระคายว่าพรรคคอมมิวนิสต์พม่าส่งคนของตนนับร้อยคนไปฝึกที่จีน หรืออาจจะได้ยินข่าวลือมาบ้าง

Advertisement

ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์พม่ากับจีนนี้เป็นประหนึ่งภาพหลอนที่สร้างความวิตกให้รัฐบาลอู นุ มีผู้กล่าวว่าสาเหตุหนึ่ง (และอาจเป็นสาเหตุหลัก) ที่อู นุ หลีกทางให้นายพลเน วิน เข้ามาเป็นหัวหน้ารักษาการในปี 1958 เพราะต้องการให้กองทัพพม่าระดับสรรพกำลังและงานข่าวทั้งหมดที่มีเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซาก เน วิน ซึ่งเป็นนายทหารสายฮาร์ดคอร์ ผู้เชื่อมั่นว่ากองทัพไม่ได้มีหน้าที่ป้องกันประเทศจากผู้รุกรานเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีหน้าที่สร้างสังคม-การเมืองแบบใหม่ขึ้นมาด้วย กองทัพพม่าจึงเริ่มใช้เครื่องมือที่หลากหลายเพื่อโน้มน้าวคนในชาติว่ากองทัพคือผู้ปกครองที่ชอบธรรม และเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้ประเทศอยู่รอดได้ เครื่องมือที่ขาดไม่ได้คือการเข้าไปครอบงำพื้นที่สื่อ หนังสือพิมพ์การ์เดียน
(Guardian) หนังสือพิมพ์รายวันชื่อดัง ที่มีเส่ง ลวิน (Sein Lwin) นักหนังสือพิมพ์มากประสบการณ์เป็นบรรณาธิการในขณะนั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพพม่าอย่างลับๆ

ในความเป็นจริง พรรคคอมมิวนิสต์พม่าไม่ได้มีความเข้มแข็งเพียงพอจะท้าทายอำนาจของรัฐบาลได้ แม้จะได้รับความสนับสนุนและได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลปักกิ่งอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้พรรคคอมมิวนิสต์พม่าสามารถจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้ และมีชัยในสมรภูมิใดๆ ได้ แต่ “ผีคอมมิวนิสต์” กลับมีประโยชน์สำหรับกองทัพพม่า แม้นเมื่อเน วิน ลงจากตำแหน่งผู้นำรัฐบาลรักษาการในปี 1960 กองทัพยังดำเนินนโยบายสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชนต่อไปได้ ผลักคอมมิวนิสต์ทั่วโลกเป็นศัตรู และใช้ข้ออ้างเรื่องการสร้างความปรองดองในชาติเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง เน วิน ใช้เหตุผลนี้เพื่อยึดอำนาจจากอู นุ ในวันที่ 2 มีนาคม 1962 ไม่ใช่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลรักษาการ แต่ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ ผู้เปรียบเหมือนผู้ปลดปล่อยพม่าจากการก่อการร้ายทั้งปวง และผู้ที่จะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในชาติ

การขึ้นมาของเน วิน ในปี 1962 เกิดขึ้นพร้อมกับการกวาดล้างนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้าย ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องหนีเข้าป่า และบางส่วนไปรวมกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่แถบเทือกเขาพะโคโยมา และยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์พม่ากับจีนเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่เดิมจีนยังเล็งเห็นประโยชน์กับการผูกสัมพันธ์กับผู้นำสายกลางพม่า แต่เมื่อผู้นำฮาร์ดคอร์ที่มีทีท่าไม่ค่อยเป็นมิตรกับปักกิ่งขึ้นมา นโยบายของจีนต่อพม่าจึงเริ่มเปลี่ยนไป และหันมาให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่าอย่างเต็มตัว หลังการรัฐประหารของเน วิน รัฐบาลจีนอนุญาตให้พรรคคอมมิวนิสต์พม่าพิมพ์เอกสารชวนเชื่อที่ปักกิ่งได้เป็นครั้งแรก เอกสารฉบับแรกที่ผลิตออกมาคือ “ข้อเท็จจริงบางอย่างว่าด้วยรัฐบาลทหารของเน วิน” นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังสนับสนุนให้คอมมิวนิสต์พม่าที่เข้าไปในจีนกลับไปเชื่อมกับกองกำลังของตนที่ยังประจำที่พม่าตอนกลาง อีกไม่กี่ปีต่อมา พรรคคอมมิวนิสต์พม่าย้ายฐานที่มั่นของตนจากพม่าตอนกลางเข้าไปติดชายแดนจีนถาวร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image