คนป่วยอุษาคเนย์ เศรษฐกิจไทยหด โจทย์หินรัฐบาล

สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา Financial Times หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจธุรกิจระดับโลก

ออกรายงานพิเศษเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย โดยตั้งชื่อว่า Thailand remains sick man of south-east Asia

หรือไทยยังเป็นคนป่วยในเอเชียอาคเนย์

ประเด็นหลักของบทความก็คือ ถึงจะมีรัฐบาลใหม่และได้นายกรัฐมนตรีคนเดิมอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

Advertisement

แต่แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้กลับจะหดลงเหลือร้อยละ 3.3-3.5

พิสูจน์ว่าปัจจัยทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ รวมไปถึงนโยบาย “ไล่แจกเงิน” ที่ผ่านมา ไม่ได้ช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านรอบข้างในอาเซียนที่เศรษฐกิจขยายตัวในระดับร้อยละ 5 เป็นอย่างต่ำ

Advertisement

แต่ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปในทางร้ายมากกว่าดี

ค่าเงินบาทกลับแข็งตัวขึ้นสวนทาง

และส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยว่าการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมาถือว่าชะลอ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งสวนทางกับประเทศรอบข้างที่ยังอ่อนค่าอยู่ การแข็งค่าของเงินบาทกระทบต่อนักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล อาทิ ยุโรป 1 ยูโร อยู่ที่ราว 34.85 บาท ออสเตรเลีย 1 ดอลลาร์ออสเตรเลีย อยู่ที่ 21.41 บาท ตุรกี 1 ลีราตุรกี อยู่ที่ 5.28 บาท อังกฤษ 1 ปอนด์ อยู่ที่ 39.21 บาท สหรัฐอเมริกา 1 ดอลลาร์ อยู่ที่ 30.85 บาท

ทำให้ต้นทุนการมาเที่ยวไทยแพงขึ้น

ตลาดหลักอย่างจีนเดิม 1 หยวน อยู่ที่ 5.50-5.60 บาท ตอนนี้อยู่ที่ 4.20 บาท แต่การชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีนเป็นเพราะการขายกรุ๊ปทัวร์มาไทยเริ่มลดลง เนื่องจากไม่สามารถขายทัวร์ 0 เหรียญได้ง่ายเหมือนสมัยก่อน

ประกอบกับคนจีนไม่ช้อปปิ้งมากมายเหมือนในอดีต เนื่องจากทุกวันนี้เป็นการซื้อผ่านออนไลน์เป็นหลัก

ฉะนั้น จากที่คาดการณ์ในเดือนมีนาคมว่าทั้งปี 2562 จะมีนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 40.64 ล้านคน สร้างรายได้ 2.2 ล้านล้านบาท จึงปรับลดลงเหลือ 40.06 ล้านคน รายได้ 2.13 ล้านล้านบาท

ลดลงไปจากประมาณการเดิม 70,000 ล้านล้านบาท

อีกมุมหนึ่ง นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 103.68 หดตัว 3.99% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 107.98

ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวลงมากสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ที่ สศอ.ปรับฐานการคำนวณใหม่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ

ส่งผลให้แนวโน้มมูลค่าการส่งออกชะลออย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 จนถึงเดือนเมษายน 2562 หดตัวไปแล้ว 1.01% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 67.72%

และประเมินแนวโน้มดัชนีเอ็มพีไอเดือนมิถุนายน คาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากการนำเข้าสินค้าทุนเดือนพฤษภาคมหดตัว 6.1% มูลค่านำเข้าอยู่ที่ 5,177.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ไม่รวมทองคำหดตัว 2.3% มูลค่านำเข้าอยู่ที่ 7,561.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนว่าผู้ประกอบการไม่ได้มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตล่วงหน้า

ส่วนดัชนีเอ็มพีไอเฉลี่ย 5 เดือน หดตัว 1.26%

นายณัฐพลกล่าวว่า หากผลเจรจาการค้าระหว่างจีน-สหรัฐไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ และยืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ

ไทยควรต้องมีนโยบายดึงดูดการค้าและการลงทุนที่มีเสถียรภาพมากเพียงพอที่จะรองรับแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตและการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในไทย

เพื่อชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัว

รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพโดยเร็ว

โรคซ้ำกรรมซัดที่เพิ่มเข้ามา ทำให้โจทย์ด้านเศรษฐกิจสำหรับรัฐบาลใหม่ที่แกนนำยังเป็นรัฐบาลเก่า ยากขึ้นไปอีกหลายเท่า

สำหรับรัฐบาลที่เสถียรภาพทางการเมืองไม่น่าไว้วางใจ

มีแต่ผลงานที่จับต้องได้-โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชนเท่านั้นที่จะยืดอายุให้ยืนยาวไปได้

ทำได้ไหม?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image