ฉันทามติ เชื้อเพลิงและประกายไฟ : โดย กล้า สมุทวณิช

เมื่อสักกลางเดือน โฆษกกระทรวงกลาโหมออกมาให้สัมภาษณ์แสดงทรรศนะว่า การ “ลงถนน” ระดับฮ่องกงไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

ซึ่งก็ตรงกันกับที่มิตรสหายนักกิจกรรมท่านหนึ่งของผมเคยบ่นเชิงปรามาส (อาจจะเพราะความน้อยใจ) ว่าคนไทยเราไม่เหมือนฮ่องกงหรือชาติอื่นที่ลุกฮือขึ้นต้านเผด็จการ ที่ระดับความเดือดดาลต่ำ และถึงจะเดือดขึ้นมาก็ระบายออกทางโซเชียลเสียมากกว่าลงมือต่อสู้จริงจัง

ต่างฝ่ายต่างมุม แต่กลับมีความเห็นพ้องกันอย่างประหลาด นั่นก็แปลว่าสมมุติฐานนี้อาจจะจริงก็ได้

เพราะแม้เชื่อว่าทุกคนจะได้เห็นความไม่ชอบธรรมและเรื่องน่าละอายของแทบทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นตัวละครการเมือง ได้เห็นการโกหกตาใส หรือการแถไถหลักการแห่งกฎหมายอย่างไม่ยำเยงเกรงใจประชาชน ปั้นเหตุผลโง่เง่าอย่างไรมาอธิบายก็ได้ไม่ต้องเกรงใจคนฟัง การเลือกปฏิบัติระหว่างคนต่างฝั่ง หรือคนที่ใช้ “โปรย้ายค่าย” กันแบบไม่ต้องเหนียม

Advertisement

แต่ทำไมเหมือนไม่มีใครเดือดร้อนอะไร ทุกคนใช้ชีวิตกันไปตามปกติไม่หือไม่อือ หรือมันเป็นเช่นนั้นจริงว่าคนไทยมีนิสัยยอมจำนน และไประบายออกผ่านทางโซเชียลเท่านั้น

ส่วนตัวแล้วมีความเห็นว่า ถ้าเราไม่ยอมรับเหตุผลประเภทที่ว่า “คนไทยไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย” เราก็ไม่ควรจะให้เหตุผลว่า “เพราะเป็นคนไทยถึงไม่ลงถนน”

เพราะคนไทยก็คือมนุษย์ ไม่ต่างจากชาวฮ่องกง ซูดาน หรือฝรั่งเศส มีหิวหนาวหวาดกลัว รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน แต่ทำไมคนไทยจึงตอบสนองต่อความอยุติธรรมหรือฉ้อฉลอำนาจแตกต่างจากชาติอื่นนั้น ก็น่าจะเพราะเงื่อนไขและปัจจัยที่แตกต่างกัน – ในแง่นี้ก็เห็นจริงกับท่านโฆษกกลาโหม

Advertisement

เงื่อนไขและปัจจัยอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือการ “ลงถนน” นั้นมีความเสี่ยง ที่ไม่ใช่การสร้างความหวาดกลัวเพื่อขู่หรือตัดกำลังกันเอง จากกรณีที่เกิดขึ้นแล้วเป็นแนวทางอยู่

แน่นอนว่าการออกไปแสดงตัวทำกิจกรรมทางการเมืองบนสกายวอล์กนั้นคงไม่มีสไนเปอร์มายิงกบาลเหมือนเหตุการณ์สังหารหมู่ในเดือนพฤษภาคม 2553 หรือแม้แต่การใช้ “แก๊สน้ำตา” (ที่ร่างกายของหลายคนอาจจะอยากเข้าปะทะ) นั้นก็มีโอกาสขึ้นน้อย เพราะกิจกรรมการออกมาแสดงตัวชุมนุมอย่างสงบ ของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจอย่างอยุติธรรมหน้าไม่อายที่พยายามจัดกันขึ้นในแต่ละโอกาสนั้น ไม่ได้มีจำนวนประชาชนผู้ชุมนุมมากมายถึงขนาดที่รัฐจะเข้าจัดการเช่นนั้นอย่างโจ่งแจ้ง

แต่เพราะจำนวนผู้คนที่ยังไม่มากพอนั้น ก็เกิดจุดเสี่ยงในแง่ที่ผู้ซึ่งเป็นแกนนำหรือผู้จัดกิจกรรมนั้นจะโดดเด่นขึ้นมาล่ออันอันตรายจาก “อำนาจมืด” ที่น่าสงสัยและจับมือใครดมไม่ได้ เช่นที่ นักเคลื่อนไหวหลายคนโดนกันไปในช่วงที่ผ่านมา ทั้งด้วยการทำร้ายร่างกายกันกลางเมืองกลางวันแสกๆ ต่อเอกชัย หงส์กังวาน นุรักษ์ เจนตวนิชย์ (ฟอร์ด เส้นทางสีแดง) หรือบางครั้ง สำหรับสตรี การโจมตีนั้นจะมาจากกระบวนการทำลายชื่อเสียงในเรื่องทางเพศ เช่นที่คุณโบว์ ณัฎฐา มหัธนา เคยประสบมา

แม้แต่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมหรือกิจกรรมที่แม้จะไม่ใช่แกนนำหรือผู้จัด ก็ได้รับการคุกคามจากอำนาจรัฐในรูปแบบต่างๆ เช่น มีรถของเจ้าหน้าที่ของรัฐในเครื่องแบบไปรบกวนถึงเคหสถานที่อยู่

จึงปฏิเสธได้ยากว่าการ “ออกมาที่ถนน” นั้นเป็นความเสี่ยง และความเสี่ยงนี้ก็จะแปรผกผันตามจำนวนผู้เข้าร่วมด้วย นั่นคือถ้ากิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมน้อย ผู้ที่เข้าร่วมก็จะมีความเสี่ยงมาก

มันก็เหมือนทฤษฎีเกมอย่างหนึ่ง คือ ถ้าจะหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และความเสี่ยงต่ำ นั้นต้องอาศัยคนจำนวนมากต้องออกมา แต่ถ้าเราไม่ออกมาเราก็ไม่รู้ว่าคนจะมากหรือน้อย แต่ถ้าเราออกมาแล้วคนดันออกมากันน้อย ความเสี่ยงของเราก็สูง แต่ถ้าไม่มีใครออกมาเลยก็ไม่มีความเสี่ยง แต่ทุกคนก็จะเสียประโยชน์ และต้องอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมที่สนับสนุนโดยองค์กรอิสระและกระบวน (อ้างว่า) ยุติธรรม

ส่วนหนึ่งที่เราอาจจะยังไม่เห็น “การลงถนน” ระดับเดียวกับฮ่องกง เพราะในขณะนี้สิ่งที่แม้เราจะมองเห็นภาพเดียวกัน แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ คือ “ฉันทามติ” ต่อความไม่ถูกต้องร่วมกัน

ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนั้น ประชาชนส่วนใหญ่มีฉันทามติร่วมกันที่จะไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจและการโกหกประชาชนของฝ่ายผู้ทำรัฐประหาร เราจึงได้เห็นภาพการลงถนน ซึ่งแม้จะน่าเศร้าสลดว่ามันทำให้หลายคนต้องเสียชีวิตบนถนน แต่มันก็นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง

แต่ที่ฉันทามติในครั้งนี้ยังไม่อาจเกิดได้ นั่นก็เพราะความแตกแยกทางความคิดของประชาชน ซึ่งต้องยอมรับว่า มันเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลที่สุดที่พวกเขาทำสำเร็จ ผ่านการวางยามานาน ผ่านนักปลุกระดมสร้างความเกลียดชังหลายต่อหลายรุ่น จนทำให้ประชาชนแต่ละฝั่งฝ่ายมีความเป็นศัตรูต่อกัน ในระดับที่ยากที่จะหาฉันทามติมหาชนได้ ต่อให้บางเรื่องจะเห็นตรงกันก็ตาม

กรณีการประทุษร้ายนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดเท่าที่ปรากฏในขณะนี้ คือกรณีล่าสุดของ นิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่เกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 มิถุนายน 2562) โดยรอบนี้ถึงกับได้รับบาดเจ็บสาหัสทำให้ผู้คนฝ่ายที่เอาใจช่วยเขา ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของผู้ทำรัฐประหารรู้สึกหดหู่ เกรี้ยวโกรธ หรือแม้แต่หมดหวัง คือ “ท่าที” ของคนอีกฝั่งหนึ่ง

คนซึ่งเห็นดีเห็นงามไปกับการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างอยู่อีกฝั่งฝ่าย คนที่สนับสนุนการทำร้ายร่างกายหรือเอาชีวิต เห็นเป็นเรื่องสนุกสะใจ การแสดงออกที่ได้เห็นนั้นชวนให้จิตตกหรือไม่ก็อยากมีพลังอำนาจที่จะคืนสนองความรุนแรงนั้นกลับไปบ้าง

ที่จะเขียนต่อไปนี้อาจจะดูโลกสวยไร้เดียงสา แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผม – ผู้เขียน ไม่เชื่อหรอกว่า ความเห็นที่โหดร้ายเหล่านั้นจะมาจาก “คนคิดต่างที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง” เสียทั้งหมดทีเดียวนัก

เพราะจากการกลั้นใจเข้าไปสำรวจผู้แสดงความคิดเห็นเหล่านั้น พบว่ามันมีโครงสร้างบางอย่างที่น่าเชื่อว่า กว่าครึ่งของความเห็นเชิงสมน้ำหน้าและสะใจกับความรุนแรงนี้น่าจะเป็นเครือข่ายปฏิบัติการทางจิตวิทยา ด้วยโครงสร้างและรูปแบบการให้เหตุผลบางอย่าง หรือบางคนบางชื่อเมื่อคลิกเข้าไปดู ก็ชัดเจนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร หรืออาสาสมัครที่เกี่ยวข้องแบบไม่ปิดไม่พรางกันเลย

หรือบางครั้งเราก็เห็นได้ว่า การแสดงความเห็นนั้นมาจากคนกลุ่มที่ได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนจากฝ่ายที่กำลังครองอำนาจรัฐและจะได้ครองอำนาจรัฐต่อไป ซึ่งก็ไม่แปลกใจอะไรที่เขาต้องลุกขึ้นมารักษาชามข้าวของพวกเขา

ส่วนที่เหลือของความเห็นเหล่านั้นคือกลุ่มอันธพาล กปปส. ที่ยังรวมตัวกันเหนียวแน่นในเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก และพวกเขามีรูปแบบการจัดองค์กรกันหลวมๆ และจะมีผู้ “ชี้เป้า” ให้แห่กันไปโจมตี “เป้าหมาย” พร้อมๆ กัน จนดูมีจำนวนมากเมื่อไปผสมกับกองกำลังปฏิบัติการจิตวิทยา รวมถึงพวกเขาก็จะอยู่ในที่ทางประจำเช่นพื้นที่ของสำนักข่าวที่เราก็รู้ว่ามีแนวทางอย่างไร แต่เราก็อุตส่าห์เปิดไปดูกันเองให้จิตตกเล่น

แต่ถ้าเราลองมองออกไปในภาพกว้าง แม้แต่จะอยู่ในโลกของโซเชียล โลกเดียวกับที่ทำให้เราจิตตกนั้น ก็จะได้เห็นว่า ในเพจ ในเว็บ หรือพื้นที่ต่างๆ นั้น ผู้คนที่ “รู้ทัน” ความฉ้อฉลของการใช้อำนาจรัฐและกลไกกลโกงขององค์กรอิสระและอ้างว่าบริสุทธิ์ยุติธรรมนั้นมีจำนวนมากกว่า มีการกระจายตัวที่หลากหลายและเป็นธรรมชาติกว่า เช่นที่เราได้เห็นสื่อหรือเพจบางเพจที่ไม่ใช่เพจล่อการเมืองโดยตรงออกมา “ล้อเลียน” ฝ่ายอำนาจรัฐ และมีคนแห่กันรับมุข หรือเด็กๆ ในโรงเรียนก็ทำพานไหว้ครูหรือแปรขบวนแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน

แนวโน้มความเปลี่ยนไปของกระแสหลักทางการเมืองเริ่มปรากฏ จากการที่มีผู้มีชื่อเสียง ซึ่งก่อนหน้าอาจจะไม่แสดงออกทางการเมืองมากนัก ออกมาให้ความเห็นอย่างสุภาพแต่ตรงไปตรงมาว่าการใช้อำนาจของฝ่ายสืบทอดอำนาจนั้นไม่ถูกต้องชอบธรรม หรือผู้คนที่ก่อนหน้านี้อาจจะมีความคิดความเห็นไปในทางที่ไม่เคารพในความคิดต่างหรือความเป็นมนุษย์นั้น ก็ทยอยออกมาเปลี่ยนท่าที หรือแสดงการขอโทษและทบทวนตัวเองหลายรายขึ้น

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าคนธรรมดาปกติที่เป็นคนรักในความสุจริต ถูกต้องเป็นธรรม เชื่อมั่นในสิ่งดีงามของขนบประเพณี รักชาติแผ่นดิน และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ในตอนนั้นเขาอาจจะเลือกพรรคที่มาเป็นรัฐบาลในขณะนี้ อาจจะด้วยความไม่แน่ใจหรือความกลัว บัดนี้เขาน่าจะได้สัมผัสแล้วว่าฝ่ายที่เขาเลือกนั้นอยู่ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์ของพวกเขา

เพราะสิ่งที่ฝ่ายนั้นกระทำทุกอย่าง ไม่ว่ามองอย่างไร มันก็ยากจะบอกได้ว่าสุจริต เป็นธรรม และดีงาม เป็นไปเพื่อประเทศชาติหรือสถาบันตรงไหน

การใช้อำนาจอย่างไม่ยำเกรง การสืบทอดอำนาจที่น่าอนาถใจ การบิดเบือนกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายอำนาจ และการเลือกปฏิบัติสองมาตรฐานในกระบวนการต่างๆ ที่ปรากฏชัดขึ้นมาโดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งนั้น ใครที่ยังไม่เห็นว่านี่คือความไม่เป็นธรรม ถ้าไม่โง่เง่าขนาดหนัก ก็คงจะเป็นฝ่ายที่ร่วมฉ้อฉล หรือมีประโยชน์จากการฉ้อฉลนั้นนั่นเอง หรือไม่ก็เป็นผู้มืดบอดต่อความถูกต้องถึงขนาดมองไหล่ทางไม่เห็น

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ผู้สติดีมีมโนธรรมในประเทศได้เห็นภาพเดียวกันนี้แล้ว เพียงแต่อาจจะมีบางส่วนที่ยังสบกันไม่สนิทบ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่ยังมองไปในทิศทางเดียวกันอยู่

ผมยังคงเชื่อเช่นเดียวกับเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ผู้แทนของเรา ที่เคยกล่าวว่า ประชาชนไม่ใช่ศัตรูต่อกัน แต่เป็นพวกเผด็จการต่างหากที่อยู่อีกฝั่งอีกข้างตรงข้ามกับเรา

ถ้าใครสักคนที่ลอบทำร้ายนิว สิรวิชญ์ มุ่งหมายเอาชีวิตหรืออย่างน้อยก็ร่างกายสุขภาพของเขา พร้อมกันกับมุ่งสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัว และบรรยากาศแห่งความเกลียดชังระหว่างกันของประชาชน เราก็ให้เขาได้ทำสำเร็จเพียงข้อแรกเท่านั้นเถิด

ถ้าเรายังมีความหวัง และค่อยๆ ช่วยกันกระจายสร้างฉันทามติ ด้วยการต่อสู้ทางความคิด ในวิธีที่แต่ละคนถนัด จะออกแนวกร้าวแข็งฮาร์ดคอร์ แนวล้อเลียนเสียดสี แนวนุ่มแต่หนัก หรือแนวกิจกรรม ด้วยวิธีการของเราเอง สร้างการรับรู้ต่อสังคมเกี่ยวกับเรื่องอธรรมความอำมหิตที่เกิดขึ้น

รอสักวันที่ฉันทามติของคนทั้งประเทศสั่งสมกันมากพอ เมื่อใดที่มีประกายไฟเพียงน้อยกระเด็นไปโดนเชื้อไฟที่ถึงพร้อม เมื่อนั้นไฟบรรลัยกัลป์จะโหมผลาญทำลายอธรรมฉ้อฉลลงสิ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image