ไปไหว้พระนอน : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

พระนอนที่วัดราชาธิวาสฯ

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่มีผู้ปรารถนาดีกลุ่มหนึ่งมาหาที่บ้านและทำการขอร้องแกมบังคับ ให้ผู้เขียนไปตระเวนไหว้พระกับพวกเขาเพื่อเป็นสิริมงคล เนื่องจากระยะนี้ผู้เขียนมีเรื่องราวที่ยุ่งยากรบกวนจิตใจหลายเรื่อง จึงมาชวนไปไหว้พระเพื่อที่จะได้ปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ ได้บ้าง และครั้งนี้จะไปไหว้เฉพาะพระนอนเท่านั้นด้วย โดยอ้างว่าพระนอนนี้เป็นพระประจำวันอังคาร นัยว่าคนเกิดวันอังคารนั้นมักเป็นคนมุทะลุ ใจร้อน เพราะว่าดาวอังคารนี่เป็นเทพเจ้าแห่งสงครามถ้าได้หลับได้นอนเสียบ้างก็จะใจเย็นลง

ผู้เขียนก็ตามใจทั้งๆ ที่ผู้เขียนไม่ได้เกิดวันอังคารจึงได้แต่แหย่ถามไปเล่นๆ ว่าจะไหว้พระนอนที่หลับตาหรือลืมตาเล่า? ก็เลยถูกซักว่ามีด้วยหรือพระนอนหลับตากับลืมตา ซึ่งผู้เขียนจำเป็นต้องร่ายยาวไปว่า

“คนทั่วไปเมื่อได้เห็นพระพุทธไสยาสน์ (พระนอน) มักจะเข้าใจว่าเป็นปางปรินิพพานเสียทั้งหมด แต่ตามพุทธประวัติมีพระพุทธไสยาสน์ทั้งหมด 9 ปาง คือ

1) ปางทรงพระสุบิน (ฝัน) พุทธลักษณะจะประทับนอนตะแคงขวา หนุนหมอน มือซ้ายทอดทาบไว้กับลำตัว แขนท่อนบนข้างขวาแนบพื้น งอหลังมือขวาแนบกับ แก้ม หลับตา

Advertisement

2) ปางทรงพักผ่อนปกติ เป็นพระพุทธรูปนอนแบบสีหไสยาสน์ (นอนตะแคงข้างขวาและนอนอย่างมีสติ กำหนดเวลาตื่นไว้ก่อนที่จะหลับ) มีพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากคอยนวดเฟ้นอยู่ด้านหลังหลับตา จัดเป็นการพักผ่อนโดยทั่วไปของพระพุทธองค์

3) ปางโปรดอสุรินทราหู พระพุทธรูปปางนี้มักมีขนาดใหญ่โตมาก ประทับนอนแบบสีหไสยาสน์ รักแร้ทับหมอนและมือยกขึ้นประคองศีรษะ ลืมตา

4) ปางทรงพยากรณ์พระอานนท์ พุทธลักษณะประทับนอนตะแคงขวา หนุนหมอน ลืมตา มือซ้ายทาบบนลำตัวเบื้องซ้าย มือขวายกขึ้นวางระหว่าง ท้อง

5) ปางโปรดพระสุภัททะ พุทธลักษณะจะประทับนอนตะแคงขวาหนุนหมอน ลืมตา มือซ้ายทอดทาบไปตามลำตัวเบื้องซ้าย มือขวายกตั้งขึ้น จีบนิ้วมือเสมอระหว่างไหล่ เป็นกิริยาขณะทรงแสดงธรรมโปรด
สุภัททปริวาชสาวกองค์สุดท้าย ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

6) ปางปัจฉิมโอวาท ปางนี้จะประทับนอนแบบสีหไสยาสน์ และมีลักษณะพิเศษ คือ มือขวายกตั้งขึ้นจีบนิ้วหัวแม่มือจดข้อนิ้วมือแรกของนิ้วชี้ เสมออก ลืมตา

7) ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (ปางที่ 1) ปางนี้ประทับนอนหนุนหมอน ตะแคงขวา หลับตา มือซ้ายทอดทาบลำตัวเบื้องซ้าย มือขวาหงายอยู่ที่พื้น อันเป็นอิริยาบถตามธรรมชาติ

8) ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (ปางที่ 2) ปางนี้ทรงบรรทมหงายพระบาทเหยียดเสมอกัน พระหัตถ์วางทับซ้อนกันบนพระอุระ บ้างก็ว่าทับซ้อนบนพระนาภี หลับตา

9) ปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (ปางที่ 3) ปางนี้ประทับนอนหงาย พระองค์ทอดยาว เท้าเหยียดขนาบกันทั้งสองข้าง มือวางทาบยาวขนาบลำตัว หลับตามีพระมหากัสสปะยืนถวายบังคมอยู่เบื้องพระบาท

พระนอนที่วัดราชคฤห์

ผู้เขียนเลยสรุปเอาเองว่า ตกลงเราไป 3 วัด คือ วัดโพธิ์ วัดราชาธิวาสฯ แล้วก็วัดราชคฤห์ก็แล้วกัน เพราะแก่แล้วต้องเจียมสังขารบ้าง

“พระนอน ทั้ง 3 องค์นั้นเป็นพระนอนประเภทไหน”

ผู้เขียนอธิบายว่าพระนอนที่วัดโพธิ์ (องค์นี้ลืมตา) นั้นเป็นปางโปรดอสุรินทราหู ซึ่งเป็นปางที่พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เนรมิตกายให้ใหญ่โตดังภูเขาเพื่อข่มอสุรินทราหูที่เข้าใจว่าตัวเองตัวใหญ่โตยิ่งกว่าใครเข้ากับพุทธภาษิตที่ว่า “นิคคัณนะเห นิคคะหาระหัง ปัคคัณนะเห ปัคคะหาระหัง” แปลว่า “ชมคนที่ควรชม ข่มควรที่ควรข่ม”

สำหรับพระนอนที่วัดราชาธิวาสฯนั้น ถือว่าเป็นพระนอนที่งามที่สุดองค์หนึ่งของไทย โดยกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งสยามทรงเป็นประติมากรเอง (องค์นี้หลับตา) เป็นปางทรงสุบินคือฝันดีก่อนที่จะตรัสรู้นั่นเอง แบบว่าได้รับข่าวดีทางฝันนั่นแหละ

ส่วนวัดราชคฤห์อยู่ที่แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี เป็นปางปรินิพพาน (ปาง 3) ไปไหว้แล้วดีทำให้เกิดมรณานุสติทำให้ไม่ใจร้อน แถมยังได้ไปไหว้สถูปบรรจุกระดูกพระยาพิชัยดาบหัก ทหารเสือพระเจ้าตากผู้ขอตายตามนายไปด้วย

ที่น่าเสียดายที่สุดคือ ยากที่จะมีโอกาสไปไหว้พระนอนที่ในทรรศนะของผู้เขียนว่าเป็นพระนอนองค์ที่งามที่สุด คือพระไสยาสน์ที่ประดิษฐานที่วิหารพระศาสดาห้องทิศตะวันตกในวัดบวรนิเวศฯที่บางลำพู กทม.นี่เอง แต่ทางวัดไม่ค่อยเปิดให้ประชาชนเข้าไปนมัสการได้บ่อยนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image