กรณีจ่านิวกับพุทธศาสนาไทย : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

หลังจาก “จ่านิว” โดนทำร้ายในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย ความน่าสะพึงกลัวยิ่งทับถมทวีขึ้น เมื่อมีคนจำนวนหนึ่งโพสต์ข้อความลงในสื่อโซเชียล แสดงความสาใจบ้าง, เยาะเย้ยบ้าง, หรือแสดงความปรารถนาให้เหยื่อต้องเจ็บปวดมากขึ้นบ้าง

แน่นอนว่า ผู้ที่โพสต์ข้อความแสดงความเห็นใจ ให้กำลังใจ หรือรณรงค์ระดมความช่วยเหลือทางการเงินแก่ครอบครัว ย่อมมีจำนวนมากกว่า แต่ผู้ใช้วาจาเชือดเฉือนเหยื่อความรุนแรงครั้งนี้ก็มีจำนวนมากอย่างน่ากลัว แม้เมื่อตัดปฏิบัติการจิตวิทยาของหน่วยงานรัฐที่เป็นศัตรูกับประชาธิปไตยออกไปแล้ว รวมทั้งตัดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองและธุรกิจ ซึ่งพยายามปกป้องผู้มีอำนาจในบ้านเมืองไว้จากการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการทำร้าย ก็ยังถือว่ามากจนน่าสะพรึงกลัวกว่าความรุนแรงจริงที่เกิดขึ้นข้างถนนหลายเท่า

ในขณะเดียวกัน มีผู้ตั้งข้อสังเกตในเฟซบุ๊กว่า พระสงฆ์หายไปไหน ไม่มีท่าทีใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าโดยทางการหรือโดยส่วนตัว

ผมคิดว่าสองเรื่องนี้เกี่ยวโยงกัน และด้วยความรู้อันน้อยนิดเกี่ยวกับศาสนา ผมอยากอธิบายถึงสาเหตุของปรากฏการณ์อันน่าตกใจและหวาดหวั่นที่เกิดขึ้นทั้งสองนี้ ผมคิดว่าศาสนามีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างโลกทรรศน์และชีวทรรศน์ของผู้คนในสังคม แม้แต่คนที่ไม่สนใจศาสนาเลย ก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาในแนวคิดสองเรื่องนี้โดยไม่รู้ตัว

Advertisement

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ผมควรกล่าวถึงคำอธิบายดีๆ ของคนอื่นไว้ก่อน

นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง กล่าวถึงปรากฏการณ์ซ้ำเติมเหยื่ออย่างเมามันว่า สังคมไทยป่วยไข้ด้วยความเกลียด ซึ่งก็คงจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ทำไมสังคมไทยปัจจุบันจึงมีภูมิคุ้มกันความเกลียดน้อยถึงเพียงนี้ ความเกลียดคงไม่เคยอันตรธานไปโดยสิ้นเชิงในทุกสังคมและสมัย แต่เหตุใดมันจึงไม่กลายเป็นโรคระบาดของสังคมเสมอไป

ท่านนักวิชาการไม่ได้อธิบายตรงนี้ไว้

ส่วนเรื่องพระสงฆ์ไม่แสดงท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้ บางท่านให้เหตุผลว่า อาจเป็นเพราะข้อห้ามไม่ให้พระยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในพุทธศาสนาไทย จึงทำให้ท่านเห็นว่า ไม่ควรมีท่าทีอย่างไรทั้งสิ้น เพราะแม้ยังจับตัวคนร้ายไม่ได้ ทุกคนก็ตระหนักได้ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามระงับการแสดงความเห็นทางการเมืองของคนที่เห็นไม่สอดคล้องกับผู้มีอำนาจ (ในหรือนอก คสช.ก็ตาม) สถานการณ์ทำร้ายผู้เห็นต่างไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายเดือนแล้ว และกับหลายคน จนยากที่จะเข้าใจแรงจูงใจของคนร้ายเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากการเมือง

แต่ผมคิดว่า หากพระสงฆ์ไทยไม่ต้องการแสดงตนว่ายุ่งเกี่ยวกับการเมือง การเตือนสติให้ระงับยับยั้งการใช้ความรุนแรงต่อกันนี่แหละ เป็นยอดของ “ไม่การเมือง” อย่างหนึ่งเลยทีเดียว ไม่เฉพาะแต่กับคนไทยด้วยกันเองนะครับ แม้แต่ในความรุนแรงที่มหาอำนาจกระทำต่อกัน หรือต่อประเทศเล็กๆ อื่นๆ พระสงฆ์ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั่นแหละ ควรมีท่าที่อันแข็งขันที่จะระงับยับยั้งทั้งนั้น แต่ท่านก็มักเลือกไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อสาธารณะเช่นกัน

ผมคิดว่าพระพุทธศาสนาไทยในอดีตให้คำตอบแก่ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตในโลกภูมิทั้งหมด นับตั้งแต่เทวดาไปจนถึงสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งอสุรกายและสัมภเวสี ฯลฯ การเวียนว่ายตายเกิดผูกพันชีวิตเหล่านี้เข้ามาในวงจรเดียวกัน แต่การปฏิรูปศาสนาหรือความคลี่คลายของพุทธศาสนาในระยะประมาณร้อยห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา หันมาให้ความสำคัญเฉพาะแต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองมากกว่า และหนักขึ้นไปกว่านั้นคือพัฒนามาสู่การให้คำตอบแก่ปัจเจกบุคคลมากขึ้นทุกที จนกลายเป็นหนทางไปสู่ความพ้นทุกข์ของปัจเจกบุคคลไปเพียงอย่างเดียว

ความสัมพันธ์แนวนอนกับสรรพสิ่ง (โลกภูมิ) และความสัมพันธ์แนวตั้งผ่านเวลาของอดีตไปถึงอนาคต (การเวียนว่ายตายเกิด) อาจไม่สอดคล้องกับแนวคิดทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ อาจเป็นเหตุให้พุทธศาสนาถูกดูแคลนจากต่างชาติได้ จึงควรขจัดออกไปจากกระบวนการปฏิรูปศาสนาที่มุ่งทำให้พุทธศาสนากลายเป็นวิทยาศาสตร์

ในคำสอนทางศาสนาที่แคบอย่างนี้ สรรพชีวิตอื่นหายไป ชุมชนและสังคมก็หายไปด้วย เหลือแต่ผู้ปฏิบัติธรรมเพียงคนเดียวอย่างตัวใครตัวมันด้วย

ดังนั้นเมื่อชาวพุทธไทยแผ่เมตตา เขาย่อมหวังว่าจะได้รับความปลอดภัยหรือลาภสักการะแก่ตนเอง ไม่ใช่เพื่อสันติสุขของสรรพชีวิตทั่วทั้งจักรวาล (บทสวดภาษาบาลี ซึ่งผู้สวดไม่รู้ความหมาย ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญเท่ากับ “ท่าทีต่อชีวิต” ที่เปลี่ยนไปของชาวพุทธเอง ที่เป็นเหตุให้พรหมวิหารธรรมในใจของผู้สวดไม่อาจขยายไปครอบคลุมชีวิตอื่นได้)

พระสงฆ์ไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อการทำร้ายคุณ “จ่านิว” และท่านก็ไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ต่อการทิ้งถุงพลาสติกลงทะเล จนเป็นเหตุให้ปลาทะเลใหญ่และเต่าทะเลใหญ่ตายลงเป็นอันมากเช่นกัน

สอดคล้องกับท่าทีของชาวพุทธไทยส่วนใหญ่ ซึ่งไม่เห็นพลาสติกในทะเลเป็นความโหดร้าย จนกระทั่งได้พบไมโครพลาสติกในเนื้อปลาซึ่งเราใช้บริโภค แต่ดูเหมือนไม่มีใครห่วงใยว่าปลาที่มีไมโครพลาสติกในตัวนั้น อายุสั้นลงหรือตายอย่างทรมานอย่างไร ทุกคนพากันห่วงแต่สุขภาพของตนเอง

อันที่จริง ถ้าเป็นสมัยโบราณ ก็อาจมีพระชั้นผู้ใหญ่บางรูปออกมาบิณฑบาตให้ลดหรือเลิกใช้ถุงพลาสติก แต่บ้านเมืองเปลี่ยนไปมากเสียจนการแสดงท่าทีด้วยการบิณฑบาตอาจไม่เกิดผลอะไรมากนัก เมื่อเทียบกับการรณรงค์ของกลุ่มถุงผ้าจ่ายตลาด จะทำให้ได้ผลก็คงต้องศึกษาว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของพลาสติกในเมืองไทยนั้น กระจายไปสู่กลุ่มต่างๆ อย่างไร ใครได้มากใครได้น้อย จะต้องแสดงท่าทีอย่างไร จึงทำให้รัฐขยับเข้ามาสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ถุงพลาสติกราคาแพงขึ้นจนกระทั่งเป็นทางเลือกที่ผู้คนและร้านค้าจะเลือกน้อยลง

ก็ “การเมือง” แหละครับ แต่เป็นการเมืองในนิยามถึงอำนาจนานาชนิดในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร และด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ยึดถืออุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

มีข้อน่าสังเกตว่า ทั้งกรณีจ่านิวและกรณีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง ทั้งที่เป็นฆราวาสและนักบวช แสดงท่าทีไม่ต่างกันเลย

ในโลกทรรศน์และชีวทรรศน์ทางศาสนา ซึ่งกล่อมเกลาให้ผู้คนมีสำนึกแต่ตนเองและวงศ์วานว่านเครือเท่านั้น ความเกลียดย่อมระบาดกลายเป็นความป่วยไข้ของสังคมได้ง่าย โดยเฉพาะในสังคมเมืองซึ่งผู้คนถูกทำให้เป็นอะตอมเสียยิ่งกว่าเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งยังมีความนึกคิดอิสระของตนเองได้ พุทธศาสนาที่ตัดความสัมพันธ์กับสรรพสิ่งในโลกภูมิ จึงยิ่งทำให้คนทั่วไปพร้อมจะ “ฆ่า” คนบาป เพื่อบรรลุพระนิพพานอันเป็นส่วนตัวของตนเอง

ในวงการสงฆ์ ดูเหมือนศาสนาพลเมือง (civic religion) ของไทย กำลังมีอิทธิพลที่เท่าเทียมหรือเหนือกว่าพุทธธรรมไปแล้ว จึงเป็นเรื่องยากมากแก่พระสงฆ์ที่จะแสดงท่าทีอันใดต่อการทำร้ายนักเคลื่อนไหวซึ่งต่อต้านรัฐประหาร (ในนามของศาสนาพลเมือง)

ยิ่งพุทธธรรมถูกทำให้ความหมายแคบลงเป็นการแก้ปัญหาของปัจเจกบุคคล จึงทำให้ยากที่จะมองกรณีจ่านิวเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม กลายเป็นเวรเป็นกรรมส่วนตัวของผู้ถูกกระทำ, ผู้ลงมือกระทำ และผู้เหยียบย่ำซ้ำเติมเหยื่อของความรุนแรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image