อย่ายอมให้‘ความปกติใหม่’นั้น‘ปกติ’ : โดย กล้า สมุทวณิช

คําว่า New Normal ในภาษาไทยนั้นเท่าที่เห็นมีคนใช้สองแบบ คือ “ความปกติรูปแบบใหม่” คำแปลนี้เจอในบทความของสถาบันการเงิน กับ “ความปกติที่เคยไม่ปกติ” อันหลังนี้เป็นคำแปลของคุณสุทธิชัย หยุ่น ซึ่งผมชอบคำแปลนี้มากกว่า

เพราะ New Normal นั้นคือการขยายขอบเขตการยอมรับในเรื่องบางเรื่องออกไป จากเดิมที่เรื่องนั้นเคยเป็นเรื่องไม่ปกติ แต่ก็ได้รับการปรับฐานคิดหรือขอบเขตการยอมรับของสังคมออกไปว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่รับได้

ทฤษฎี New Normal นี้ถูกใช้ในทางการเงินหรือเศรษฐกิจก่อน โดยการเอาไว้ใช้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมหรือสถานการณ์ทางการเงินหรือทางเศรษฐกิจ เพื่อแยกแยะว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว หรือเป็นการปรับฐานไปถาวร ที่อย่างหลังนั่นแหละคือ New Normal เช่น สมมุติเศรษฐกิจเคยเติบโตขึ้นได้ปีละ 10% แต่ต่อมามีสองสามปีหลังที่โตได้เพียง 7% นักเศรษฐกิจการเงินก็ต้องหาคำอธิบายว่ามันเป็นความตกต่ำผันผวนช่วงสั้น หรือมันกลายเป็น New Normal ที่จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ว่าต่อไปการเติบโตจะอยู่ที่ 7% เป็นฐาน ปีไหนกลับไปถึง 10% (ที่เคยเป็นค่ามาตรฐาน) ก็กลายเป็นเรื่องพิเศษไป

เรื่องความปกติที่เคยไม่ปกตินี้เอาไปใช้อธิบายในทางสังคมก็ได้เหมือนกัน เช่น เรื่องของวัฒนธรรมที่มีความเป็นพลวัตตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น “ความสุภาพ” ของเสื้อผ้าหน้าผม ที่ถ้าว่ากันที่มาตรฐานเดิมแล้ว แค่สวมกางเกงยีนส์ติดต่อราชการสมัยก่อนก็ถือว่าไม่สุภาพแล้ว แต่ปัจจุบันการสวมกางเกงยีนส์ก็ถือว่าสุภาพอยู่ตราบใดที่มันยังเป็นกางเกงขายาว นั่นคือการขยายขอบเขตการยอมรับออกไป รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่ใหญ่กว่านี้ อย่างการแสดงออกชัดเจนถึงเพศสภาพที่เรายอมรับได้ว่าบุคคลสามารถแต่งตัวหรือแสดงออกตามเพศสภาพได้อย่างเสรีเป็นเรื่องปกติ สามารถแสดงออกเช่นนั้นในการทำงานราชการหรือเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรก็ได้

Advertisement

การขยายขอบเขต “ความปกติที่เคยไม่ปกติ” นี้หลายเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องแย่ หรืออาจจะดีด้วยซ้ำ (เช่น เรื่องการแต่งกายหรือเพศสภาพที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น) เพราะสังคมเรามีพลวัต เช่นนี้จุดตัดว่าการขยายขอบเขตความปกติที่เคยไม่ปกติให้กลายเป็นเรื่องปกติใหม่นั้นเป็นเรื่องของการ “ก้าวหน้า” หรือ “ถอยหลัง” อาจจะอยู่ที่ว่าขอบเขตที่ขยายไปใหม่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายดีขึ้นหรือแย่ลง สิทธิเสรีภาพของผู้คนในสังคมมีมากขึ้นหรือลดลง รวมถึงมีผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากเรื่องนั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร

ตัวอย่าง “ความปกติที่เคยไม่ปกติ” ที่ส่วนใหญ่เราจะยอมรับว่าเป็นความเสื่อมถอย เช่น “มาตรฐานการให้บริการของรถแท็กซี่” ในบางเขตบางย่านว่าจะไม่รับผู้โดยสารชาวไทยแน่นอน ไม่ต้องไปเรียกให้เมื่อย ความไม่ปกตินี้ (เพราะไม่ว่าจะโดยกฎหมายหรือหลักการ รถแท็กซี่ไม่ควรเลือกรับผู้โดยสารด้วยเหตุเชื้อชาติสัญชาติ) กลายเป็นมาตรฐานใหม่ ที่ผู้โดยสารชาวไทยเรายอมรับและหาทางรับมือกันไป เช่น ไม่ไปเรียกรถแท็กซี่ในย่านนั้นๆ ให้เมื่อยและเสียความรู้สึก อาจจะยอมเดินหรือขึ้นรถเมล์ไปให้พ้นจากเขตงดรับชาวไทย หรือเรียกรถจากแอพพลิเคชั่นที่มีข้อกำหนดการให้บริการชัดเจน

หรือเรื่องที่เล็กลงมาและเชื่อว่าแทบทุกคนก็ยอมรับกัน คือมาตรฐานเรื่องการ “รักษาเวลา” และการ “ใช้เวลา” ในสังคมการทำงานแบบไทยๆ ที่จะมีบวกเพิ่มจากนาฬิกาไปได้ตั้งแต่ 5 ถึง 20 นาที เช่น นัดประชุมกัน 09.30 น. แต่การประชุมจริงจะเริ่มต้นขึ้นอย่างเร็วสุดสุดก็คือ 09.40 น. หรือบางวงโชคร้ายหน่อยก็อาจจะต้องรอถึง 10 นาฬิกา จึงจะเข้าวาระกันเป็นจริงเป็นจังเป็นเนื้อเป็นงาน

Advertisement

เช่นเดียวกับกรณีของแท็กซี่ เราก็มีวิธีจัดการกับ “มาตรฐานใหม่” (หรือจริงๆ ไม่ได้ใหม่หรอก แต่จะเรียก “มาตรฐานไทย” ก็เกรงใจ) ด้วยวิธีต่างๆ กัน เช่น ถ้าเราเป็นผู้เข้าร่วมประชุมที่อาวุโสหน่อย หรือไม่ก็อาจจะเป็นคนที่ไม่มีบทบาทอะไรในการประชุมนั้นมากนัก เขาเชิญมาเป็นพระอันดับเฉยๆ โดยตำแหน่งหรืออะไรก็ไม่รู้ เราก็อาจจะรับรู้ในใจว่าการประชุมจะเข้าวาระจริงก็เกือบ 10 โมง ค่อยไปเข้าก่อนนั้นนิดหน่อยก็ได้ หรือถ้าเป็นผู้นัดหรือผู้จัดการประชุมก็อาจจะออกวาระหรือหนังสือเชิญประชุมโดยเทคนิคการเผื่อเวลาไว้แล้ว เช่น จริงๆ ตั้งใจจะประชุม 09.30 น. ก็นัดมันตั้งแต่ 09.00 น. ไปเลย

ในทางการเมืองเราก็ได้เห็น “ความปกติที่เคยไม่ปกติ” มากมายในยุคที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการ คสช. และขยายขอบเขตกันอย่างกับผ้าสแปนเด็กซ์ในช่วงหลังเลือกตั้งมานี้

การทำร้ายร่างกายนักกิจกรรมก็ดี การเผยแพร่ข่าวปลอมของสื่อที่ได้ชื่อว่าเป็นสื่อหลักหรือสื่อที่มีความเป็นสถาบันก็ตาม คือตัวอย่างของ New low normal หรือความปกติที่เคยไม่ปกติระดับต่ำชั้น

มีข้อสังเกตว่าผู้ที่พยายามจะสร้างความไม่ปกติระดับต่ำชั้นให้กลายเป็นเรื่องปกติใหม่ เพื่อขยายขอบเขตการยอมรับออกไปนั้น อาจจะใช้วิธีการขยายขอบเขตไปแบบกินแดนเข้าไปจนเกินรับได้ เช่น การทำร้ายร่างกาย นิว สิรวิชญ์ นั้นทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรื่องนี้ยอมรับไม่ได้จากทุกฝั่งฝ่ายที่มีจิตใจเป็นธรรม แต่นั่นมันก็เหมือนกับการขยายขอบเขตการประทุษร้ายหรือการคุกคามแบบเดิมออกไปให้เป็นเรื่องที่ “รับได้” มากขึ้น วัดจากกระแสการตอบรับเมื่อคนหน้าเก่าถูกทำร้ายนั้นออกจะเงียบเบากว่า ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เราต้องดูที่สาระว่ามีการใช้อำนาจเถื่อนถ้ำทำร้ายผู้ทำกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบซ้ำๆ กัน โดยไม่เกี่ยวว่าต้องเจ็บมากหรือเจ็บน้อย

หรือการ “ปั้นข่าวเท็จ” ของสำนักข่าวเจ้าประจำบางแห่ง ซึ่งจากเดิมเคยใช้วิธีการบิดเบือนข่าว เช่น อาศัยการตัดต่อตีความคำพูด ซึ่งเป้าหมายได้พูดเช่นนั้นจริงแต่ไม่ได้หมายความเช่นนั้นหรือไม่ได้มีอยู่แค่นั้น ตามด้วยเป็นการปั้นข่าวปลอมแบบอาศัยความจริงบางส่วนเป็นฐานแล้วมาแต่งเพิ่มกันทีหลัง หรือที่หนักข้อที่สุดที่เห็น คือไม่มีอะไรเป็นจริงหรือมีมูลเลย เต้าเทียนเขียนข่าวกันออกมาล้วนๆ

รวมถึงเรื่องความล่าช้าในกระบวนการทุกกระบวนการตั้งแต่หลังเลือกตั้งเป็นต้นมา ล่าช้าตั้งแต่การประกาศผล รับรองผล ล่าช้าในการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลและตั้งคณะรัฐมนตรี จนถึงตอนที่คอลัมน์ตอนนี้เผยแพร่ก็เชื่อว่ายังคงไม่มีคณะรัฐมนตรีเข้าดำรงตำแหน่ง ความล่าช้านี้เป็นความปกติที่เคยไม่ปกติ จนกระทั่งผู้คนปลดปลงกันไปจนอ่อนใจเลิกทวงถาม เมื่อไรก็เมื่อนั้น

ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเพราะเราอยู่ภายใต้ระบอบ “อำเภอใจ” ของการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครใดๆ ทั้งสิ้นมานานกว่า 5 ปี จนเราอาจจะรู้สึกว่าเรื่องนี้คือมาตรฐาน เป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่มันไม่ปกติ และไม่เคยเกิดมีปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองที่มีการเลือกตั้ง

แล้วเราจะแก้ปัญหาเรื่องความปกติที่เคยไม่ปกติ โดยเฉพาะความปกติที่เคยไม่ปกติระดับต่ำชั้น หรือ New low normal ที่นับวันมันทำท่าจะตกต่ำลงไปอีกเรื่อยๆ ได้อย่างไร

มันก็มีด้วยกันสองทาง นั่นคือการยอมรับในมาตรฐานหรือความปกติแย่ๆ นั้นแล้วรับมือกันไปตามสภาพ ตามหน้างาน ตามความสามารถของแต่ละคน เช่น การนัดประชุมแบบเผื่อๆ หรือการหนีไปเรียกรถแท็กซี่ที่อื่นอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น การแก้ปัญหาแบบนี้อาจจะทำให้เราพ้นทุกข์ แต่มันทำให้เรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรจะถูกต้องได้รับการขยายขอบเขตออกไป และการขยายขอบเขตนั้นก็เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายที่ขยายขอบเขตนั้นสำเร็จ สามารถทำเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควรได้อย่างเป็นเรื่องปกติ

หรือเราอาจจะแก้ปัญหาแบบที่อาจจะเห็นผลช้า แต่เป็นการแก้ปัญหาที่น่าจะยั่งยืนกว่า หรือบางครั้งเราสามารถทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาในส่วนของเราให้ตัวเรารอดด้วย คือการสร้าง “ความปกติใหม่” ของเราขึ้นมาตีคู่ไปด้วย

เช่น กรณีของแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสารโดยไม่มีเหตุอันควร นอกจากที่เราจะเดินไปเรียกที่อื่นหรือเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นแล้ว เราอาจจะสละเวลาจดหรือจำรายละเอียดของรถที่ปฏิเสธเราไว้ และแจ้งกรมการขนส่งทางบกทุกกรณีที่เกิดกับเรา ซึ่งอาจจะต้องสละเวลาหรือเกิดความยุ่งยาก แต่ถ้าเราช่วยกันทุกคนจริงๆ ก็อาจจะเป็นการสร้าง “ความปกติใหม่” ของเราลงไปทับกับ “ความปกติที่เคยไม่ปกติ” ที่เขาพยายามสร้างขึ้นด้วย เช่น กรณีของรถแท็กซี่ คือการสร้างความปกติหรือมาตรฐานใหม่ขึ้นมาถ่วงดุลกับคนขับที่ช่างเลือกผู้โดยสารด้วยเหตุผลแบบเอาแต่ได้ ให้เขารู้ว่าการปฏิเสธผู้โดยสารนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกแจ้งกรมการขนส่งทางบกดำเนินการ

หรือกรณีการประชุมที่ไม่อาจตรงต่อเวลาได้ เรื่องนี้ถ้าเราเป็นประธานในที่ประชุม หรือผู้อำนวยการในการประชุม เช่น ฝ่ายเลขา อาจจะลองใช้วิธีการ “หักดิบ” ไปเลยคือประชุมกันตามเวลาที่แจ้งไว้ในวาระ ใครมาใครเข้าหลังจากเวลานั้นโดยไม่มีเหตุอันควรก็คือมาประชุมสาย ถ้าจะยกระดับไม้แข็งก็อาจจะไม่ยอมให้เข้าร่วมประชุม หรือไม่ยอมให้นำเสนอ หากทำเช่นนี้จนเป็นมาตรฐานใหม่กลบลงไปก็น่าจะช่วยเกลาแก้ความปกติที่เคยไม่ปกติของการเข้าประชุมสายหรือการรักษาเวลาได้ (วิธีนี้อาจจะเอาไปใช้ดัดหลังเพื่อนจอมเลตของท่านได้เช่นกัน คือยื่นคำขาดว่าช้าไม่รอในทุกกรณี)

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่าบุคคลธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ คงจะไปทำอะไรความปกติที่เคยไม่ปกติระดับต่ำชั้นในทางการเมืองได้ง่ายนัก บางครั้งก็น่าอึดอัด หรือดูเหมือนเป็นคนช่างก่นบ่นด่า ดูเสียภาพลักษณ์ กลายเป็นคนคิดลบเข้าไปอีก

แต่อย่างน้อยที่สุด เพียงเราตั้งใจให้เข้มแข็งในหลักการว่าเราจะไม่ยอมรับ “ความไม่ปกติ” เช่นนั้นให้เป็น “ความปกติใหม่” ในชั้นนี้ ทัศนคติอันมั่นคงนี้ก็เป็นสิ่งที่เราน่าจะทำได้ และควรทำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image