ศาลพระภูมิ : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

คนไทยภาคกลางหรือภาคไหนนอกจากจะประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งของตัวแล้ว ก็ยังเคารพนับถือเทพเจ้าอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้าหรือเทพในศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาฮินดู อันได้แก่พระอิศวร วิษณุ หรือพระนารายณ์และพระพรหม รวมทั้งเทวดาชั้นรองๆ ลงมา เช่น พระอินทร์ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระวายุ รวมทั้งพระชายาของเทพเจ้าต่างๆ ด้วย

นอกจากจะนับถือเทพยดาระดับสูงของพราหมณ์แล้ว ก็ยังนับถือ “ผี” ตามความเชื่อดั้งเดิมหรือความเชื่อท้องถิ่นที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างทุกพื้นที่ ภูเขา แม่น้ำ ลำคลอง ต้นไม้ใหญ่เก่าแก่หรือต้นไม้สูงบางชนิด เช่น ต้นไทร ต้นตะเคียน เสาบ้าน เสาเรือน เรือ แพ ล้วนแต่มีเทพหรือ “ผี” สิงสถิตอยู่ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ บรรพบุรุษทุกครอบครัวเมื่อถึงแก่กาลกิริยาไปแล้วก็จะยังดูแลคุ้มครองลูกหลานอยู่เสมอ ลูกหลานเมื่อทำบุญใส่บาตรก็ควรกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการี อันได้แก่ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย อยู่เสมอ แม้แต่ข้าวสุกที่รับประทานก็มีแม่โพสพ เป็นผีประจำข้าวสาร ข้าวสุกและข้าวเปลือก

พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของบ้านเรือน แม้จะมีรั้วรอบขอบชิดหรือไม่ก็ตามก็จะต้องมี “ผี” หรือ “เทพารักษ์” หรือเทพผู้รักษาดูแลประจำอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

Advertisement

เมื่อจะปลูกบ้านเรือนก็ต้องหาฤกษ์ “ยกเสาเอก” ซึ่งควรจะอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและอยู่ทางด้านหัวนอน เสาเอกไม่ว่าจะทำด้วยไม้สักหรือไม้เนื้อแข็งอื่นๆ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ตะเคียนทองซึ่งทนแดดทนฝนดีมาก ทางภาคอีสานและประเทศลาวเรียกว่าไม้แคน นิยมนำไปขุดเป็นเรือยาวเพราะทนแดดทนฝน เมื่อนำไม้ตะเคียนทองทั้งต้นไปขุดทำเรือยาวก็จะมี “แม่ย่านาง” เป็น “ผี” หรือ “เทพ” ประจำเรือ เมื่อจะใช้เรือก็ต้องจุดธูปจุดเทียนบอกกล่าวและห้ามผู้หญิงลงเรือเป็นอันขาด

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่มีขนาดใหญ่หรือเก่าแก่หรือทำด้วยต้นไม้ใหญ่ สถานที่ใหญ่เล็กก็ล้วนแต่มี “ผี” หรือเทพยดาอารักษ์ดูแลปกปักรักษา เมื่อมนุษย์จะเข้ามาอยู่ก็เท่ากับมาเบียดเบียนที่อยู่ที่อาศัยของ “เจ้าที่เจ้าทาง” อันจะทำให้เป็นความขุ่นเคือง แม้จะจุดธูปจุดเทียนบอกกล่าวแล้วก็ตาม ถ้าจะอยู่ในบ้านเดียวกันก็จะยิ่งกระทบกระทั่งกันมากขึ้น

จึงเกิดคิดสร้าง “ศาลพระภูมิ” สำหรับให้เจ้าที่อยู่ โดยปลูกเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ให้อยู่นอกบ้านแต่ยังอยู่ในบริเวณเดียวกัน แล้วนำเอารูปเทวดาถือพระขรรค์มาตั้งไว้เรียกว่า “เจว็ด” หรือ “ตระเว็ด” หรือ “เตว็ด” ทำจากไม้นำมาแกะหรือมาเขียนรูปเทวดาถือพระขรรค์หรือเป็นรูปใบเสมา ที่น่าสังเกตเมื่อเห็นว่าลูกหลานหรือผู้อยู่ได้บังคับบัญชาไม่ให้ความเคารพนับถือหรือไม่เกรงใจก็จะบ่นหรืออุทานว่าเห็นตนเป็น “เจว็ด” หรืออย่างไร แสดงว่าผู้คนไม่ค่อยจะให้ความสำคัญหรือให้ความสนใจเจว็ดหรือ “เจ้าที่” เจ้าทางเท่าไหร่

Advertisement

พระภูมิเจ้าที่จึงไม่น่าจะเป็น “ผี” หรือเทวดาที่ให้คุณให้โทษกับผู้ใดได้ เพราะผู้คนไม่ค่อยจะให้ความสนใจหรือให้ความสำคัญ แต่ก็ยังคงไปจุดธูปจุดเทียนบนบานขอลาภสักการะอยู่นั่นเอง จะถวายพวงมาลัย อาหารหรือผลไม้ ไข่ต้ม เป็น “สินบน” หากประสบความสำเร็จ หากขอแล้วไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ไม่ได้ “สินบน” หรือของบนเท่านั้นเอง

ศาลพระภูมิหรือที่สถิตของพระภูมิมักจะทำเป็นเรือนไทย ทำด้วยไม้ ตั้งอยู่บนเสาไม้เพียงเสาเดียว มีบริเวณเป็นเหมือนลานบ้าน มีตุ๊กตาหญิงแต่งตัวนุ่งผ้าโจงกระเบนห่มสไบ ส่วนผู้ชายแต่งตัวทันสมัยบ้างก็มี แบบนุ่งโจงสวมเสื้อคอกลมแขนกระบอกก็มี มีแจกันกระเบื้องและกระถางธูป เชิงเทียน ผนึกติดกับพื้นสำหรับปักดอกไม้ธูปเทียน เสาที่ตั้งมักจะมีผ้าแพรหลากสีสันสดใสพันโดยรอบ สมัยนี้คงจะเป็นเพราะเรือนไทยทำด้วยไม้หาช่างทำตามสั่งได้ยากจึงมีการทำด้วยปูนซีเมนต์เสริมลวดหรือเสริมเหล็ก ทาสีฉูดฉาด เข้าใจว่าทำจากแม่พิมพ์เพราะทำได้ทีละมากๆ เป็นการลดต้นทุน มีหลายรูปแบบให้เลือก

ขณะนี้นอกจากศาลพระภูมิแล้ว ด้วยอิทธิพลของศาลพระพรหมที่โรมแรมเอราวัณ ที่เป็นที่นิยมกราบไหว้บนบานศาลกล่าวจนแพร่หลายไปถึงฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์และประเทศจีน จึงเกิดศาลพระพรหมในที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯและจังหวัดอื่นๆ ทั้งๆ ที่คนที่เป็นฮินดูเขาไม่นิยมบูชากัน เพราะพรหมท่านตื่นขึ้นเมื่อโลกถูกพระศิวะหรือพระอิศวรทำลาย แล้วท่านก็มาสร้างโลกมนุษย์และสัตว์โลกใหม่เสร็จภายในวันเดียว เสร็จแล้วก็กลับไปบรรทมต่อ ปล่อยให้พระวิษณุหรือพระนารายณ์อวตารมาในรูปของพระราชาหรือกษัตริย์มาบริหารกิจการงานเมือง ด้วยความช่วยเหลือของพระอินทร์ หรือท้าวสหัสนัยน์ หรือท้าวพันตา ซึ่งเป็นเทวดาที่ใกล้ชิดกับพระราชาและประชาชนอยู่เสมอ แต่คนไทยก็นับถือทั้ง 3 องค์ “ตรีมูรติ”

หลังจากคนจีนจากนอกประเทศให้ความเคารพนับถือพระพรหมที่ศาลที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือของโรงแรมเอราวัณ ความเชื่อเรื่องศาลของเทพเจ้าฮินดู หรือเทพเจ้าของพราหมณ์ก็แพร่กระจายไปยัง “เจ้าสัว” เจ้าของตึกอาคารใหญ่โตบริเวณกว้าง ต้องตั้งศาลพระพรหมทุกตึกที่สร้างขึ้นใหม่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่ใช่ศาลพระภูมิในบ้าน

นอกจากศาลเทพเจ้าของพราหมณ์แล้ว ยังมีศาลของเทพเจ้าของจีนกระจายอยู่ทั่วไปในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นๆ ในบริเวณที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ เช่น ศาลเจ้าพ่อเสือ ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้ากวนอู

ส่วนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองก็เป็นการสร้างศาลคร่อมหลักเมือง ในเมืองที่มีการปักเสาหลักเมืองอย่างในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ๆ ก็เป็นศาลที่ศักดิ์สิทธิ์ มีคนเคารพบูชามากมาย เซ่นไหว้บนบานเหมือนกัน
ศาลเจ้าอีกประเภทหนึ่งก็คือศาลของผู้ที่เคยมีชีวิตอยู่จริงๆ ในอดีต แต่ก็มักจะเป็นศาลที่สิงสถิตของอดีตพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายที่มีชื่อเสียงในอดีต เช่น ศาลสมเด็จพระนเรศวร ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ศาลกรมหลวงชุมพรฯ ศาลพระนางเรือล่ม เป็นต้น และมักจะมีอยู่หลายแห่งในทุกท้องถิ่น นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นศาลที่เป็นสามัญชนแต่เป็นคนที่มีชื่อเสียง ที่เห็นก็มีศาลพุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่สุพรรณบุรี หรือศาลเจ้าเมืองในอดีตในต่างจังหวัด ที่จังหวัดนครพนมมีศาลของญาพ่อคำแดงอยู่ที่ท้ายเมือง เป็นต้น

เคยไปเกาะบาหลี อินโดนีเซีย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู จึงเห็นเทวาลัยอยู่ทั่วไป ขณะเดียวกันก็มีเทวาลัยตั้งอยู่ในบริเวณบ้านเกือบจะทุกบ้าน เมื่อถามดูว่าจะเป็นศาลพระภูมิเจ้าที่อย่างบ้านเราหรือไม่ ปรากฏว่าไม่ใช่ แต่เป็นเทวาลัยที่สถิตของพระอิศวรหรือพระนารายณ์ ไม่มีพระพรหม จัดสร้างไว้ในบริเวณบ้านสำหรับกราบไหว้บูชาเช่นเดียวกับเทวาลัยหรือวัดนอกบ้าน

ที่พม่าปรากฏว่ามีศาลเจ้าที่สิงสถิตของ “นัต” หรือวิญญาณของ “ผี” ที่ปกครองดูแลพื้นที่และมีลำดับชั้น ตั้งแต่ศาลของ “นัต” ระดับหมู่บ้าน ศาลของ “นัต” ที่ปกครองอำเภอ นัตที่ปกครองนัตหรือ “ผี” ด้วยกัน ถัดขึ้นไปเป็นระดับจังหวัดและสูงขึ้นไปคือระดับ “รัฐ” ชั้นสูงสุดคือ “นัต” ที่เป็น “นัต” หรือ “ผี” ที่ปกครองผีด้วยกันทั้งประเทศ เลียนแบบการปกครองของมนุษย์จริงๆ เคยถามมัคคุเทศก์ที่พาไปเที่ยวว่าน่าจะมี “นัต” ที่เป็นผู้สำเร็จราชการอังกฤษในสมัยอาณานิคม ดูเขาจะเคืองๆ เลยหยุดถาม

ที่พม่าการทรงเจ้าเข้าผี โดยการอัญเชิญ “เจ้า” หรือ “นัต” ในระดับต่างๆ มาเข้าทรงเพื่อทำนายทายทักหรือเพื่อแนะนำ คนพม่านั้นเชื่อ “ดวงชะตา” การโคจรของดวงดาวมาก เด็กทุกคนพ่อแม่จะเอาวันเดือนปีเกิดไปให้พระภิกษุผูกดวงชะตาให้ และเก็บดวงชะตาที่ผูกบูชาไว้ที่บ้าน

ชาวพม่าไม่นิยมนำพระพุทธรูปมาตั้งไว้ในบ้านแบบบ้านเรา แต่จะไปไหว้พระพุทธรูปและทำวิปัสนาที่วัด ที่รอบๆ วัดก็ไม่เห็นเจดีย์เก็บอัฐิ แต่จะเห็นเจดีย์บรรจุอัฐิอยู่ทั่วไปในท้องไร่ท้องนา แม้แต่บนเชิงเขาในป่า

ที่น่าสังเกตก็คือศาลพระภูมินั้นมีแต่ในจังหวัดภาคกลาง แต่ไม่นิยมในภาคอื่นๆ เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือภาคใต้ ทั้งๆ ที่ภาคอื่นๆ ก็กราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เหมือนกับภาคกลาง
ที่กรุงเทพฯ ทุกบ้านนิยมตั้งศาลพระภูมิและบูชากราบไหว้ เคยมีเพื่อนชาวอเมริกันมาเช่าบ้านอยู่ที่บางกะปิ ถนนสุขุมวิท เห็นเจ้าของบ้านจุดธูปเทียนบูชาศาลพระภูมิทุกวัน ต้องการเอาใจเจ้าของบ้านที่ตนเช่าก็เลยบูชาด้วยทุกวัน เมื่อกลับไปที่มหาวิทยาลัย
คอร์เนล นอนไม่หลับเพราะไม่ได้ไหว้ศาลพระภูมิก่อนเข้านอน ต้องสั่งศาลพระภูมิส่งไปอเมริกาทางเรือ ไปตั้งในบริเวณบ้านเพื่อสำหรับไหว้ทุกวัน เป็นข่าวฮือฮาลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและขำขันกันไปทั่วมหาวิทยาลัย

ความเชื่อบางทีก็เกิดจากความเคยชินก็มี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image