กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (8) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

เน วิน เมื่อครั้งไปเยือนกัมพูชาในปี 1977

ในสัปดาห์ก่อนๆ เราพูดถึงพัฒนาการของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการรับแนวคิดฝ่ายซ้ายของผู้นำชาตินิยมพม่า ความแตกแยกทางอุดมการณ์ของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ผลักให้แกนนำพรรคซ้ายจัดจำนวนหนึ่งตัดสินใจเคลื่อนไหวใต้ดินเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่า แต่พรรคก็ไม่เข้มแข็ง และไม่เคยคุกคามท้าทายกองทัพพม่าได้อย่างจริงจัง จนกระทั่งต้นทศวรรษ 1960 เมื่อนายพล เน วิน ผู้นำทหารสายฮาร์ดคอร์และผู้ที่ได้ชื่อว่าเกลียดชังคอมมิวนิสต์อย่างสุดขั้วก่อการรัฐประหารและเข้ามาเป็นผู้นำในรัฐบาล นโยบายจีนที่แต่เดิมสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่าอย่างลับๆ เพราะ “เกรงใจ” อู นุ และสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างสองประเทศ

ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับจีนและการปราบปรามที่หนักหน่วงขึ้นของรัฐบาลพม่าทำให้พรรคจำเป็นต้องย้ายจากฐานที่มั่นเดิมแถบเทือกเขาพะโค โยมาในพม่าตอนกลาง ไปในเขตรอยต่อชายแดนจีน-พม่า แถบเมืองโก (Mong Ko) ในรัฐฉาน อนาคตของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าดูสดใส และเมื่อพิจารณาจากความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน หลายๆ คนคงอดจินตนาการไม่ได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์พม่าก็น่าจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่ใครคาดหวัง เพราะนอกจากต้องเผชิญกับกองทัพพม่าที่เข้มแข็ง ยังประสบกับความแตกแยกในพรรคที่สาหัสสากรรจ์ และนำไปสู่การกวาดล้างคนในพรรคสาย
กลางๆ มากมายในปลายทศวรรษ 1960 ตั้งแต่ต้นปี 1967 แกนนำพรรคคนสำคัญ ตะขิ่น ถั่น ทุน (Thakin Than Tun) เริ่มปฏิบัติการกวาดล้างศัตรูของตนภายในพรรค โดยนำแนวคิดปฏิบัติวัฒนธรรมในจีนมาใช้ แต่ในท้ายที่สุด ถั่น ทุนก็ถูกคนในพรรคลอบสังหารในปี 1968 ถือเป็นการสิ้นสุดความขัดแย้งภายในพรรคที่กัดกินขวัญกำลังใจของคนในพรรคมายาวนาน และจีนก็เริ่มถอนการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่าอย่างต่อเนื่องด้วย

ปัญหาของพรรคหลังตะขิ่น ถั่น ทุน ถึงแก่อสัญกรรมคือการเลือกผู้นำใหม่ เครือข่ายของพรรคในพม่าพร้อมใจกันเลือกตะขิ่น ซิน (Thakin Zin) เข้ามารับตำแหน่งประธานพรรคคนใหม่ โดยไม่ฟังคำทักท้วงจากปักกิ่ง ที่ต้องการให้ตะขิ่น บา เตง ติน (Thakin Ba Thein Tin) คนที่ปักกิ่งไว้เนื้อเชื่อใจขึ้นเป็นผู้นำพรรค จีนยกเลิกการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และหันมาช่วยเหลือกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยมากขึ้น ระหว่างปี 1970-1975 กองทัพพม่าระดมสรรพกำลังทุกประเภทเพื่อปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์พม่าอย่างหนัก และสามารถขับไล่ฝ่ายหลังออกจากฐานที่มั่นในพม่าตอนกลางได้สำเร็จ เน วินยกระดับการปราบปรามคอมมิวนิสต์ด้วยการตั้งกองกำลังทหารราบเบา (Light Infantry) ใหม่ขึ้นในนาม “กองร้อยที่ 77” และสามารถยึดฐานที่มั่นของคอมมิวนิสต์แถบเทือกเขาพะโค โยมาได้สำเร็จ พร้อมทั้งสังหารตะขิ่น ซิน ในเดือนมีนาคม 1975

ในช่วงเวลาเดียวกัน สถานการณ์ในพม่าไม่สู้ดีนัก เกิดการประท้วงรัฐบาลเน วิน ขึ้นทุกหย่อมหญ้า คนงานในบ่อขุดเจาะน้ำมันที่เช่าก์ (Chauk) นัดหยุดงานประท้วงเพื่อขอขึ้นค่าแรง พนักงานการรถไฟก็นัดหยุดงาน ด้านนักศึกษาในย่างกุ้งก็เดินขบวนประท้วงรัฐบาลเน วิน เช่นกัน ในเหตุการณ์การประท้วงหลังรัฐบาลปฏิเสธไม่จัดพิธีศพของอู ถั่น อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ อย่างสมเกียรติ กองทัพใช้ความรุนแรงปราบปรามนักศึกษา ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อู ถั่น (U Thant Incident) จำนวนหนึ่ง รัฐบาลเน วิน เชื่อหมดหัวใจว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเป็นผลจากการยุยงปลุกปั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่แท้ที่จริงแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์พม่าแทบไม่มีเสียงสนับสนุนจากฝ่ายซ้ายในเมือง ด้วยยุทธวิธีแบบป่าล้อมเมืองแบบเหมา
ที่เน้นการปลุกระดมชาวบ้าน พรรคคอมมิวนิสต์พม่าแทบไม่มีเสียงสนับสนุนในเขตเมือง ที่สำคัญไปกว่านั้นคือหลังจากพรรคเสียฐานที่มั่นในพม่าตอนกลาง และเสียผู้นำพรรคไป พรรคก็แตกกระเซ็นไปพรรคใหญ่ และต้องจัดกระบวนทัพและยุทธวิธีการรบกันขนานใหญ่

Advertisement

ภายใต้หัวหน้าพรรคคนใหม่ ตะขิ่นบา เตง ติน พรรคต้องการขยายฐานที่มั่นใหม่ในรัฐฉาน ที่เมืองโกและปางคำ (Pangsang) และมีแผนการใหม่เรียกว่า “แผน 7510” (ตุลาคม 1975) แต่การขยายฐานออกไปจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่มาแต่เดิม ได้แก่ กองทัพรัฐฉานใต้ (SSA) และกองกำลังอื่นๆ เช่น ของปะโอ ปะด่อง และกะยาห์ ซึ่งได้อาวุธบางส่วนจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่าบางส่วนเพื่อแลกกับการให้พรรคได้ขยายฐานที่มั่นไปทางตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน(แต่เดิมพื้นที่ของพรรคตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเขตเส้นชายแดนจีนที่อยู่ทางทิศตะวันออก และแม่น้ำสาละวินที่อยู่ทางตะวันตก) ความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมืองในจีน ในทศวรรษ 1970 เหมา เจ๋อตุงถึงแก่อสัญกรรม และคอมมิวนิสต์สายกลางอย่างเติ้ง เสี่ยวผิง และหลิว เส้าฉี เข้ามาเป็นผู้นำในพรรค พรรคคอมมิวนิสต์ในพม่าที่ปฏิเสธทางสายกลางมาตลอดออกแถลงการณ์ประณามแนวทางของเติ้งและหลิว เป็นเหตุให้ปักกิ่งเลิกสนับสนุนพรรคไปพักใหญ่ และยังหันกลับไปสานสัมพันธ์กับเน วิน

ในปลายปี 1977 เน วินเป็นผู้นำคนแรกที่เดินทางไปกัมพูชาอย่างเป็นทางการ หลังเขมรแดงปฏิวัติสำเร็จในปี 1975 แม้จะเกลียดชังคอมมิวนิสต์มากเพียงใด แต่เน วินเห็นประโยชน์จากการไปเยือนกัมพูชาในครั้งนั้น เพราะรัฐบาลจีนเป็นผู้ติดต่อกับเน วินให้ไปเยือนเขมรแดงเอง เพราะเกรงว่าเขมรแดงที่จีนให้การสนับสนุนจะถูกโดดเดี่ยวมากเกินไป เน วินได้รับคำมั่นจากรัฐบาลจีนว่าจะลดระดับความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ท่าทีของจีนที่ต้องการลดการสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์พม่าทำให้กองทัพพม่าปฏิบัติการปราบปรามคอมมิวนิสต์ได้ง่ายขึ้น นำไปสู่ปฏิบัติการครั้งใหญ่ในนาม “มิน ยาน อ่อง 1” (Min Yan Aung 1) กองกำลังฝ่ายรัฐบาลยึดพื้นที่คอมมิวนิสต์บางส่วนกลับคืนมาได้ แต่ก็สูญเสียกำลังพลของตนไปเป็นจำนวนมาก การต่อสู้กินเวลาหลายปี แต่ไม่มีทีท่าว่าสงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับกองทัพพม่าจะสิ้นสุดลง

ไม้ตายที่รัฐบาลพม่านำมาใช้คือการประกาศนิรโทษกรรมให้กับคอมมิวนิสต์และชนกลุ่มน้อยที่จับอาวุธขึ้นสู้รัฐบาลพม่า นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่การเจรจาสันติภาพในปี 1963 ที่รัฐบาลพม่ายินยอมเจรจากับกองกำลังฝ่ายตรงข้าม มีกองกำลังหลายกลุ่มที่ยอมเข้าสู่โต๊ะเจรจา มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่าราว 450 คนที่ยอมเข้าร่วมโครงการนี้ พร้อมๆ กับกองกำลังอื่นๆ เช่น KIA ของกะฉิ่น กองกำลังของโกก้าง และกลุ่มอื่นๆ อย่างไรก็ดี กองกำลังเหล่านี้ไม่สามารถหาข้อสรุปกับรัฐบาลได้ เพราะทุกกลุ่มยืนยันว่าต้องการปกครอตนเอง การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป พรรคคอมมิวนิสต์อ่อนกำลังลงมากในทศวรรษ 1980 ด้วยความเปลี่ยนแปลงในโลก โดยเฉพาะนโยบายผ่อนปรนในโซเวียตภายใต้มิคาอิล กอร์บาชอฟ และนโยบายพัฒนาประเทศของเติ้ง เสี่ยวผิง ในจีน คนทั้งโลกเริ่มถอยห่างอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์ในพม่าเองก็จะถึงกาลอวสานในปี 1989 ติดตามตอนจบของ “กำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์พม่า” ได้ในสัปดาห์หน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image