เข้าพรรษาน่ารู้ : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

เทศกาลและประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญซึ่งจะมาถึงในเร็วๆ นี้ คือ “วันเข้าพรรษา” ตรงกับวันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2562 โดยมีสาระน่ารู้ดังนี้

ความหมาย

การเข้าพรรษา เป็นพุทธบัญญัติ ซึ่งพระภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม หมายถึง การอธิษฐาน อยู่ประจำที่ไม่เที่ยวจารึกไปยังสถานที่ต่างๆ เว้นแต่มีกิจจำเป็น สำหรับช่วงเข้าพรรษาจะอยู่ในฤดูฝนระหว่างแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี

กล่าวอีกนัยหนึ่ง วันเข้าพรรษา หมายถึง วันที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาอธิษฐานอยู่ประจำในวัดหรือเสนาสนะที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้แห่งหนึ่ง ไม่ไปค้างแรมในที่อื่น ตลอด 3 เดือนในฤดูฝน

Advertisement

ความสำคัญ

วันเข้าพรรษานี้ มีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนและเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาด้วยเหตุผลหลายประการ คือ

1.พระภิกษุจะหยุดจาริกไปยังสถานที่อื่นๆ แต่จะเข้าพักอยู่ประจำในวัดแห่งเดียวตามพุทธบัญญัติ

2.การที่พระภิกษุอยู่ประจำที่นานๆ ย่อมมีโอกาสได้สงเคราะห์กุลบุตรที่ประสงค์จะอุปสมบทเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย และสงเคราะห์พุทธบริษัททั่วไป

3.เป็นเทศกาลที่พุทธศาสนิกชนงดเว้นอบายมุขและความชั่วต่างๆ เช่น การดื่มสุรา สิ่งเสพติด และการเที่ยวเตร่ไร้สาระ เป็นต้น

4.นอกจากเป็นเทศกาลที่พุทธศาสนิกชนงดเว้นอบายมุขและความชั่วต่างๆ แล้ว ในช่วงเข้าพรรษาพุทธศาสนิกชนทั่วไปจะบำเพ็ญทาน รักษาศีล ฟังธรรม และเจริญภาวนามากขึ้น

ประวัติความเป็นมา

เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นคือ พวกชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพากันกล่าวตำหนิพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาว่า ไม่รู้จักกาลเวลาพากันจาริกไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้งแม้ในระหว่างฤดูฝน บางครั้งก็ไปเหยียบข้าวกล้าของชาวนาเสียหาย ขณะที่พวกนักบวชในศาสนาอื่นและฝูงนกยังหยุดพักผ่อน ไม่ท่องเที่ยวไปในฤดูฝน

เหตุการณ์นี้ทราบถึงพระพุทธเจ้าในกาลต่อมา พระองค์จึงทรงรับสั่งให้พระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน ตรัสถามจนได้ความเป็นจริงแล้ว จึงทรงบัญญัติเรื่องการเข้าพรรษาไว้ว่า

“อนุชานามิ ภิกขะเว วัสสัง อุ ปะคันตุง”

แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พวกเธออยู่จำพรรษา”

วันเข้าพรรษานี้โดยทั่วไปกำหนดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เรียกว่า วันเข้าพรรษาแรก (ปุริมพรรษา) ถ้าปีใดเป็นปีอธิกมาส มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเข้าพรรษา ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถเข้าพรรษาได้ ก็เลื่อนเข้าพรรษาใน แรม 1 ค่ำ เดือน 9 ไปสิ้นสุดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เรียกว่า วันเข้าพรรษาหลัง (ปัจฉิมพรรษา)

การถือปฏิบัติวันเข้าพรรษาในประเทศไทย

พื้นฐานประชาชนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม จะเริ่มทำไร่ทำนาปักดำข้าวกล้าก่อนพรรษากาลเมื่อพระสงฆ์เข้าพรรษา ก็จะเสร็จงานในไร่นา ย่อมมีเวลาว่างมาก ประกอบกับการคมนาคมไปมาระหว่างสถานที่ต่างๆ ก็ไม่ค่อยสะดวก เนื่องจากฝนตกชุกและน้ำขึ้นเจิ่งนองเต็มแม่น้ำลำคลองทั่วไป ชาวบ้านจึงถือโอกาสเข้าวัด ถวายทาน รักษาศีลฟังธรรม และเจริญภาวนาเพิ่มพูนบุญกุศลกันมากขึ้น

ดังนั้น เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนพากันหาอาหารทั้งคาวหวาน ผลไม้ และเครื่องอุปโภคที่จำเป็นแก่สมณะ นำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ในวัดใกล้บ้านตน พระภิกษุสงฆ์จะแนะนำสั่งสอนให้เกิดศรัทธาในการปฏิบัติ ตามหลักทาน ศีลและภาวนา และความไม่ประมาทในการประกอบคุณความดีอื่นๆ

ตามประวัติศาสตร์ พุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้เริ่มบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานี้ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย เป็นราชธานี ดังข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ว่า

“พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ขาวเจ้า ทั้งท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งหญิงทั้งชายฝูงท่วยมีศรัทธาในพุทธศาสน์ มักทรงศีล เมื่อพรรษาทุกคน”

นอกจากการรักษาศีลแล้ว พุทธศาสนิกชนไทยในสมัยสุโขทัยนั้น ยังได้บำเพ็ญกุศลอื่นๆ ดังรายละเอียดปรากฏอยู่ในหนังสือนางนพมาศ พอสรุปได้ คือ เมื่อถึงเดือน 8 พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปจะได้เข้าจำพรรษา ในพระอารามต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้จัดเสนาสนะถวาย พร้อมทั้งบริขารอันควรแก่สมณะบริโภค เช่น เตียง ตั่ง เสื่อสาด ผ้าจำนำพรรษา อาหารหวานคาว ยารักษาโรค และธูปเทียนจำนำพรรษา เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ในพระอารามหลวงทั่วราชอาณาจักร แม้ชาวเมืองสุโขทัยก็บำเพ็ญกุศลเช่นนี้ในวัดประจำตระกูลของตน

ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน

การถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเข้าพรรษา เกิดขึ้นแต่สมัยพุทธกาล คือ มหาอุบาสิกา ชื่อว่า วิสาขา ได้ทูลขอพระบรมพุทธานุญาตให้พระสงฆ์ได้มีผ้าอาบน้ำสำหรับผลัดเปลี่ยนเวลาสรงน้ำฝนระหว่างฤดูฝน นางวิสาขาจึงเป็นสตรีคนแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์

ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชน ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี จึงนิยมนำผ้าอาบน้ำฝนไปถวายพระสงฆ์ผู้จะอยู่จำพรรษา พร้อมกับอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่างๆ

แม้ในปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนไทยก็ยังคงปฏิบัติกิจกรรมอย่างนี้อยู่ บางวัดมีการแจกฎีกานัดเวลาประกอบพิธีถวายผ้าอาบน้ำฝน (วัสสิกสาฎก) และเครื่องใช้อื่นๆ ณ ศาลาบำเพ็ญกุศลของวัดใกล้บ้านตน

ประเพณีแห่เทียนพรรษา

ประเพณีนี้คงเกิดขึ้นจากความจำเป็นเมื่อสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ พระสงฆ์จำพรรษาต้องปฏิบัติกิจวัตร เช่น การทำวัตรสวดมนต์เช้ามืดและตอนพลบค่ำ รวมถึงการศึกษาพระปริยัติธรรม กิจกรรมเหล่านี้ล้วนต้องการแสงสว่างโดยเฉพาะแสงสว่างจากเทียนที่พระสงฆ์จุดบูชาพระรัตนตรัยและเพื่อใช้แสงสว่างจากเทียนที่พระสงฆ์จุดบูชาโดยตรง ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาสนิกชนจึงนิยมหล่อเทียนต้นใหญ่ประมาณว่าจะจุดได้ตลอดเวลา 3 เดือน ไปถวายพระภิกษุในวัดใกล้ๆ บ้าน เป็นพุทธบูชาเทียนดังกล่าวเรียกว่า “เทียนจำนำพรรษา” ก่อนจะนำเทียนไปถวาย ชาวบ้านมักจัดเป็นขบวนแห่แหนกันไปอย่างเอิกเกริกสนุกสนานเรียกว่า “ประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษา” มีมาแต่สมัยสุโขทัยโดยมีข้อสรุปเนื้อหาจากหนังสือนางนพมาศดังนี้

วันขึ้น 14 ค่ำ ทั้งทหารบกและทหารเรือก็จัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ทั้งใส่คานหาบไปและลงเรือ ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ประดับธงทิว ตีกลอง เป่าแตรสังข์แห่ไป ครั้นถึงพระอารามแล้วก็ยกต้นเทียนนั้นเข้าไปถวายในพระอุโบสถ หอพระธรรมและพระวิหาร จุดตามให้สว่างไสวในที่นั้นๆ ตลอด 3 เดือน

ในกาลต่อมาวัดราษฎร์ทั้งหลายก็มีพิธีทำนองนี้ทั่วพระราชอาณาจักร ปัจจุบันประเพณีแห่เทียนจำนำพรรษานี้ยังถือปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปบางจังหวัด เช่น อุบลราชธานี ถือให้เป็นประเพณีเด่นประจำจังหวัดตน ได้จัดประดับตกแต่งต้นเทียนใหญ่ๆ มีการประกวดแข่งขันแล้วแห่แหนไปถวายตามวัดต่างๆ

เดิมงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี มีจัดเฉพาะตามคุ้มวัดต่างๆ เท่านั้น จนกระทั่งปี พ.ศ.2444 เมืองอุบลราชธานีจัดงานบุญบั้งไฟ โดยทุกคนจะนำบั้งไฟมารวมกันที่วัดหลวงริมแม่น้ำมูล มีการแห่บั้งไฟไปรอบเมืองและจุดขึ้นไปบนท้องฟ้าทำให้เกิดอุบัติเหตุ บั้งไฟตกลงมาถูกชาวบ้านเสียชีวิตในงาน มีการชกต่อย ตีรันฟันแทงกัน ก่อเหตุวุ่นวายไปทั้งงาน กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลราชธานี สมัยนั้น ให้ยกเลิกงานประเพณีบุญบั้งไฟเสีย แล้วให้มาจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาแทน ในสมัยแรกๆ ไม่มีการประกวดเทียนพรรษา แต่ชาวบ้านจะกล่าวร่ำลือกันไปว่าเทียนคุ้มวัดนั้นงาม เทียนคุ้มวัดนี้สวย

ผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลราชธานีในสมัยต่อมาจึงเห็นควรให้มีการประกวดเทียนพรรษาก่อน แล้วแห่รอบเมืองก่อนจะนำไปถวายพระที่วัด

ตักบาตรดอกเข้าพรรษา

เป็นประเพณีหรือกิจกรรมหนึ่งในวันเข้าพรรษา เมื่อแรกเริ่มนั้นประเพณีตักบาตรดอกไม้นี้มีมายาวนานตั้งแต่สมัยพุทธกาล และไม่ได้จำกัดว่าจะต้องจัดขึ้นเมื่อใดเพียงแต่ถือว่าการตักบาตรดอกไม้จะได้อานิสงส์ให้มีชีวิตที่มีความสุขทั้งภพนี้และภพหน้า แต่สำหรับจังหวัดสระบุรีมีเอกลักษณ์ของประเพณีในเรื่องของดอกไม้ประจำท้องถิ่นชนิดหนึ่งคล้ายๆ ต้นกระชาย หรือขมิ้น สูงประมาณ 1 คืบเศษ มีดอกสีเหลือง สีขาว และสีม่วง ขึ้นตามไหล่เขาในอำเภอพระพุทธบาท และจะออกดอกบานในช่วงวันเข้าพรรษา หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ชาวบ้านได้เก็บดอกไม้ชนิดนี้มาถวายพระและเรียกชื่อว่า ดอกเข้าพรรษา จึงกำเนิดเป็นประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา

ชาวพระพุทธบาทได้ยึดถือประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษาเป็นประเพณีสำคัญที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประจำทุกปี และถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแห่งเดียวในประเทศไทย และมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก

การบวชกับการเข้าพรรษา

ในหนังสือนางนพมาศสมัยสุโขทัยไม่มีปรากฏเกี่ยวกับการบวชวันเข้าพรรษาเพราะการบวชของไทยเน้นการศึกษาเล่าเรียนเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับการบวชสมัยอยุธยาได้กล่าวถึงการบวชนาคหลวงในหนังสือขุนหลวงหาวัด โดยใช้นาคมหาดเล็กและตำรวจข้าราชการไม่ว่าหมู่ใดกรมใด ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแต่ผ้าไตรบริขาร ต่อมาได้มีการบริจาคพระราชทรัพย์ เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนแปด จึงทรงเทียนพระวสาทั้งในกรุงและนอกกรุง รวมถึงหัวเมืองเอกเมืองโทด้วย

สมัยรัตนโกสินทร์มีการทรงผนวชเจ้านายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นาคหลวงพระองค์แรก คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้มีการบวชเณรขึ้น คือหม่อมเจ้าสถิตเสถียรในปีที่พระราชทานเพลิงพระศพกรมหมื่นวิศณุนาถนิภาธร เป็นการทรงผนวชเณรที่พระเมรุอย่างบวชหน้าศพ การบวชสมัยนี้เริ่มมีการโปรยทาน
เมื่อโปรยทานเสร็จแล้วเสด็จเข้าไปในพระอุโบสถ

ประเพณีการบวชที่กล่าวมาเป็นลำดับสมัยนั้น การบวชรับพรรษามีขึ้นในราชสำนัก มีการบวชนาคหลวง มีการบวชหน้าไฟ (หน้าเมรุ) และมีการโปรยทาน ซึ่งสืบทอดถึงปัจจุบัน แต่ไม่มียุคหรือสมัยใดกล่าวถึงการบวชในพรรษา หรือการสึกในพรรษาเลย ดังนั้นจึงเป็นเพียงความเชื่อว่าการบวชที่จะได้อานิสงส์ควรบวชให้ได้ครบพรรษาไม่ควรสึกก่อนออกพรรษา ดังนั้นเป็นเพียงการนับอยู่ประจำของคณะสงฆ์ต้องอยู่ครบตลอดพรรษาจึงนับพรรษาได้

ความส่งท้าย

การเข้าพรรษาเป็นประเพณีอันดีงามของชาวพุทธที่ดำเนินสืบทอดมาเป็นเวลานาน และยังคงดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน โดยมีการพัฒนาการจากราชสำนักมาสู่พิธีกรรมของพุทธศาสนิกชนทั่วไป มีกิจกรรมหลากหลายในเชิงส่งเสริมและทำนุบำรุงพุทธศาสนา เพื่อร่วมกันรักษาและสืบทอดให้ยั่งยืนต่อไป

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image