สถานีคิด : เหมือนเริ่มใหม่ : โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

เหมือนกลับมานับหนึ่งกันใหม่ยังไงยังงั้น

บ้านเมืองเราเข้าสู่วิกฤตตั้งแต่ปี 2548 ที่มีการขับไล่รัฐบาล นำไปสู่ เกิดรัฐประหาร 2549 และ 2557

ความขัดแย้งเรื่องสี ความขัดแย้งเรื่องความคิด ที่ควรจะยุติด้วยการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ทั้งในสภาและนอกสภา หาข้อสรุปภายใต้หลักของสิทธิเสรีภาพ กลับกลายเป็นข้ออ้างเอาไปล้มกระดาน

รอบหลังหนักสุด ประเทศปิดระบบปกติไป 5 ปีเต็มๆ จากปี 2557 ก่อนจะกลับมาเลือกตั้ง 24 มี.ค. ด้วยแรงกดดันจากประชาคมโลกและภายในประเทศเอง

Advertisement

กลับมาครั้งนี้ เลยเกิดสภาพเหมือนกลับมานับหนึ่งกันใหม่

อย่างนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่จริง มีความพยายามปรับตัวให้เป็นนายกฯ ในระบบที่มีสภา

แต่อาจยังไม่ชัดเจนว่าระบบนี้ทำงานอย่างไร โดยพูดว่า อย่าใช้สภาล้มรัฐบาล

Advertisement

หลักการในเรื่องนี้ เป็นไปอย่างที่ ส.ส.หลายท่านได้ออกมาพูดแล้วว่า ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ผู้นำรัฐบาล มาจากการลงมติของสภา

มาจากสภา ตอนจะไป ก็โดยสภาอีกเหมือนกัน นายกฯ ในระบบสภาตกเก้าอี้ได้ จากการแพ้โหวตกฎหมายสำคัญ แพ้โหวตในญัตติไม่ไว้วางใจ

ยิ่งถ้าเสียงปริ่ม โอกาสปิดฉากยิ่งง่ายขึ้น อาจเกิดอุบัติเหตุเสียงไม่พอเมื่อไหร่ก็ได้

รัฐบาลจึงต้องพยายามมีเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด แต่ติดที่รัฐธรรมนูญฉบับแม่น้ำ 5 สายดีไซน์ให้เป็นแบบนี้

นั่นตัวอย่างหนึ่ง ยังมีอีกหลายเรื่องที่คงจะต้องมานับหนึ่ง มาปรับจูนกันใหม่

ในแวดวงเจ้าหน้าที่รัฐก็พลอยเป็นไปด้วย อย่างกรณีจ่านิว หรือ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่ถูกรุมทำร้าย แล้วเจ้าหน้าที่มาตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าจะให้ดูแล ต้องหยุดเคลื่อนไหวการเมือง

ทั้งที่หลักง่ายๆ คือ เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีสิทธิไปห้ามพลเมืองใช้สิทธิเสรีภาพ

หรือการที่ครูบาอาจารย์ไปปาฐกถา แสดงความคิดความรู้ ยังมีตำรวจตามไปชะเง้อชะแง้หน้าบ้าน

การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล วิจารณ์ผู้นำ วิจารณ์รัฐธรรมนูญ กลับกลายเป็นเรื่องของการไม่รักชาติ ที่มีศัพท์เรียกใหม่ว่า “ชังชาติ”

ผู้บริหารประเทศนั้น ถูกวิจารณ์ได้เสมอในฐานะบุคคลสาธารณะ และผู้บริหารประเทศ ไม่ใช่ “ชาติ” หรือ “ประเทศ”

คนไทยจึงรักชาติได้พร้อมๆ กับวิพากษ์วิจารณ์การเมืองได้ การรักชาติและการวิจารณ์การเมืองไปด้วยกันได้ ไม่ได้ขัดแย้งกันแต่อย่างใด

การแต่งเนื้อแต่งตัวของ ส.ส. ยังกะเกณฑ์กันจนกลายเป็นเรื่องเป็นราว ขณะที่การล่วงล้ำก้ำเกินสิทธิดูจะเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว

การเมืองไทยที่เดินๆ หยุดๆ และการควบคุมสิทธิเสรีภาพเป็นระยะๆ จากปี 2548 มาจนปัจจุบัน จึงมีผลอย่างมาก ทั้งต่อประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐ

และเป็นที่มาของการปะทะเรื่องวิธีคิดและแนวปฏิบัติที่กำลังเกิดขึ้น

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image