บทนำประจำวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2562 : สภากับรัฐบาล

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ และอื่นๆ โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ขอร้องว่าอย่าใช้เวทีสภามาเป็นเรื่องด้อยค่า หรือล้มรัฐบาล ขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและประชาชน เพราะถือว่าสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ทุกอย่างก็จะพัฒนาต่อไปไม่ได้ การที่รัฐบาลกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ประเทศด้านต่างๆ นั้น ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่สืบทอดการแก้ไขปัญหาที่ทุกคนมีส่วนร่วม

การเมืองประชาธิปไตย มีรัฐสภาเป็นองค์กรตัวแทนประชาชน ทำหน้าที่นิติบัญญัติได้แก่ ออกกฎหมาย พิจารณากฎหมาย และควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหาร คือรัฐบาล ด้วยกระทู้ถาม ญัตติ ญัตติไม่ไว้วางใจ ในเรื่องการออกกฎหมาย ส.ส.คือตัวแทนประชาชน จะทำหน้าที่พิจารณาว่า กฎหมายที่ออกมานั้น เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ต่อสังคมโดยรวม และมีผลกระทบอย่างไร ในกฎหมายสำคัญ คือร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ และกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน หากรัฐบาลลงมติแพ้ มีประเพณีทางการเมืองที่รัฐบาลจะต้องลาออก เพราะเท่ากับไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภา

และหากรัฐบาลบริหารงานให้เกิดความเสียหาย ฝ่ายค้านอาจยื่นญัตติไม่ไว้วางใจได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ในการลงมติ หากสภาโหวตไม่ไว้วางใจ รัฐบาลหรือรัฐมนตรีจะต้องพ้นจากตำแหน่ง การแพ้คะแนนเสียงในสภาตามกรณีที่ระบุมานี้ รัฐบาลจะต้องลาออก หรือพ้นตำแหน่ง ถือเป็นการล้มรัฐบาลตามวิถีทาง เป็นเรื่องที่ชอบธรรม เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครอง การล้มรัฐบาลที่ไม่ชอบ ได้แก่ การปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งผิดกฎหมายหลายฉบับ นับแต่กฎหมายแม่บทคือรัฐธรรมนูญ หรือการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง บีบบังคับให้รัฐบาลลาออก

รัฐบาลปัจจุบันมีเสียงในสภาไม่เด็ดขาด เสี่ยงเกิดปัญหาแพ้ในการลงมติ ทำให้รัฐบาลล้มกลางสภาได้ ทางออกคือ การเพิ่มเสียง ซึ่งอาจจะต้องยุบสภา เลือกตั้งกันใหม่ หรืออาจบริหารต่อไปด้วยเสียงเท่าที่มี ก็ต้องยอมรับว่า อาจเกิดปัญหาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครอง ที่ฝ่ายค้านจะใช้จุดอ่อนเรื่องจำนวน ส.ส. ล้มรัฐบาลในสภา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image