โจทย์หินปากท้อง โจทย์ใหญ่รัฐบาล โจทย์ที่รอคำตอบ

โบราณว่าจิ้งจกทักยังต้องฟัง

ฉะนั้น เมื่อผู้รู้แสดงความเห็นและข้อมูลประกอบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจ อันกระทบถึงทุกชีวิตในสังคม

ก็ยิ่งต้องฟัง

Advertisement

แม้ความเห็นนั้นจะบาดหูบาดใจผู้มีอำนาจทั้งหลายก็ตาม

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการทำรายงานเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุดของเวิลด์แบงก์ พบว่า

เศรษฐกิจไทยมีทิศทางเติบโตลดลง จากการส่งออกและภาคบริการที่ชะลอตัวลง หลังผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

ทำให้เวิลด์แบงก์มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยลงเหลือร้อยละ 3.5 จากเดิมที่คาดไว้ร้อยละ 3.8

ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวลดเหลือร้อยละ 2.2 จากเดิมร้อยละ 5.7

แต่ยังคาดหวังว่า การลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายของภาครัฐที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจก็มีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าเป้าหมายที่มองไว้เช่นกัน โดยเฉพาะจากปัจจัยสงครามทางการค้า ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการส่งออกมากกว่าที่ประเมินไว้

รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง เพราะรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลผสม

ดังนั้น อาจนำมาสู่ความไม่แน่นอนในโครงการลงทุนภาครัฐได้

ขณะที่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2019 เหลือขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1 จากประมาณการเดิมร้อยละ 3.3

สาเหตุหลักจากภาคการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ

เพราะเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง

โดยเฉพาะภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ที่มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ผลที่เกิดขึ้นข้างต้นทำให้การส่งออกสินค้าในปีนี้มีแนวโน้มหดตัว

ภาวะดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางเข้าไทยน้อยลง

โดยปีนี้การท่องเที่ยวไทยน่าจะมีอัตราเติบโตร้อยละ 4.8 หรืออยู่ที่ประมาณ 40.1 ล้านคน ลดลงจากเดิมที่โตร้อยละ 6.3

เนื่องจากนักท่องเที่ยวในช่วง 5 เดือนแรกชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด และปัจจัยอื่นๆ เช่น สนามบินของไทยได้ใช้ศักยภาพเต็มที่แล้ว

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังส่งผลทางลบต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวและผู้ส่งออกด้วย

โดย SCB EIC วิเคราะห์ว่าในกรณีพื้นฐานเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ที่ร้อยละ 3.1 ส่วนการส่งออกสินค้าจะหดตัวที่ร้อยละ -1.6

ขณะที่กรณีเลวร้าย การส่งออกสินค้าจะปรับตัวลดลงไปอีกที่ร้อยละ -2.3 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะการบริโภคในประเทศมีการชะลอลงตาม

อย่างไรก็ดี SCB EIC คาดว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และ กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือร้อยละ 1.5

คาดว่ากรณีเลวร้ายนี้ GDP ไทยจะเติบโตร้อยละ 2.9

ส่วนในกรณีเลวร้ายที่สุด การส่งออกสินค้าจะหดตัวมากถึงร้อยละ -3.1 แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติม แต่การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนก็จะลดลง

ซึ่งในกรณีนี้ เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.7

ถามว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งรู้ข้อมูลเหล่านี้หรือไม่

คำตอบคือรู้ยิ่งกว่ารู้

แต่รู้แล้วจะทำอย่างไร จะกอบกู้อย่างไร และจะนำพาสังคมผ่านภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” นี้ไปได้อย่างไร

นี่ต่างหากที่ชาวบ้านร้านตลาดอยากฟัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image