ผู้เขียน | สินีนาถ ศุกลรัตนเมธี |
---|
พื้นที่สีเขียวในเมือง เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอยู่ดีมีสุข (well-being) ของคนเมือง เมืองที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ ในปริมาณที่เหมาะสม และสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก ยิ่งเมืองหนาแน่นเท่าไหร่ พื้นที่สีเขียวในเมืองยิ่งมีค่ามากขึ้น ต่อสุขภาวะของคนเมือง คุณค่าในที่นี้หมายรวมคุณค่าที่มีต่อร่างกายและจิตใจผู้ที่ได้สัมผัสโดยตรง และคุณค่าที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเมืองที่ให้อานิสงส์ในวงกว้าง
แต่พื้นที่สีเขียวในเมืองนั้นเป็นของหายาก เพราะพื้นที่สีเขียวไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยตรง เมื่อที่ดินในเมืองมีราคาสูงมาก ทำเลใจกลางกรุงเทพฯ ราคาสูงถึง 2-3 ล้านบาทต่อตารางวา หรือ 800-1,200 ล้านบาทต่อไร่ ที่ดินจึงถูกพัฒนาเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ความเป็นไปได้ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองจึงมีจำกัด แม้จะมีความพยายามในการผลักดันเรื่องนี้อยู่จากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน แต่ก็เป็นไปในลักษณะที่ต่างคนต่างทำ โดยขาดการวางแผนร่วมกัน
พื้นที่สีเขียวในเมืองนั้นหากได้รับการวางแผนที่ดีแล้ว จะสร้างคุณค่าให้แก่เมืองได้อย่างมากมายมหาศาล
พื้นที่สีเขียวกับคุณภาพชีวิต
มนุษย์มีความผูกพันกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง มีสัญชาตญาณที่โหยหาธรรมชาติ ที่ เอ็ดเวิร์ด วิลสัน ให้คำนิยามว่า Biophilia หรือความใฝ่หาชีวภาพ สัญชาตญาณนี้ทำให้มนุษย์รู้สึกเบิกบานและผ่อนคลายเมื่อสัมผัสธรรมชาติ มีการทดลองที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา โดยให้นักศึกษากลุ่มแรกใช้เส้นทางที่เดินผ่านสวน และให้นักศึกษาอีกกลุ่มใช้เส้นทางเดินในเมืองที่มีรถราขวักไขว่ จากนั้นให้ทั้งสองกลุ่มทำแบบทดสอบความจำและภาวะทางอารมณ์
ผลการทดสอบพบว่านักศึกษากลุ่มที่เดินผ่านสวนได้คะแนนสูงกว่าทั้งสองด้าน และในสัปดาห์ถัดมาได้ทดลองให้นักศึกษาสองกลุ่มสลับใช้เส้นทางกัน ผลการทดสอบความจำและภาวะทางอารมณ์ยังคงเป็นเช่นเดิมคือนักศึกษากลุ่มที่เดินผ่านสวนได้คะแนนสูงกว่า
นอกจากนี้แล้ว งานวิจัยในเนเธอร์แลนด์ยังพบว่า การใช้เวลาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เขียวขจีจะช่วยลดความเศร้าหมองและความซึมเศร้าลงได้ สถิติจากงานวิจัยพบว่าคนที่พักอาศัยอยู่ในละแวกที่มีพื้นที่สีเขียวในปริมาณมากๆ จะตรวจพบว่าเป็นโรควิตกกังวล (anxiety disorder) และโรคซึมเศร้า (depression) น้อยกว่าคนในละแวกที่ขาดแคลนพื้นที่สีเขียว
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า โครงการเคหะสงเคราะห์ในชิคาโกที่มีการออกแบบให้เห็นทิวทัศน์สีเขียว จะมีสถิติการเกิดความรุนแรงและอาชญากรรมน้อยกว่าโครงการที่ไม่มีทิวทัศน์ใดๆ
ประโยชน์ของธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวที่มีต่อสุขภาพของสาธารณะ เป็นที่ประจักษ์ชัดและมีผลการวิจัยจำนวนมากสนับสนุน โดยสรุปแล้ว ธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวจะส่งผลทางตรง ในการช่วยลดความเครียดและความเจ็บป่วยทางจิต ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ และช่วยเพิ่มการรับรู้ที่มีต่อคุณภาพชีวิตและความความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย
ในด้านประโยชน์ทางอ้อม พื้นที่สีเขียวทำหน้าที่เป็นทั้งพื้นที่ทางกายภาพในการประกอบกิจกรรมนันทนาการและออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ ช่วยเพิ่มความพึงพอใจที่มีต่อสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ และช่วยเพิ่มโอกาสในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
จะเห็นได้ว่า พื้นที่สีเขียวทำหน้าที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตในทุกมิติ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ทางสังคม และสิ่งแวดล้อม
พื้นที่สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมเมือง
ประเด็นด้านคุณค่าของพื้นที่สีเขียวที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเมืองนั้นเป็นประเด็นสำคัญที่มักถูกละเลย เนื่องจากเรามักมองว่าประเด็นเสิ่งแวดล้อมป็นเรื่องไกลตัว แตกต่างจากประเด็นคุณค่าด้านสุขภาพที่เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงมักถูกให้ความสำคัญต่อเมื่อก่อให้เกิดภาวะวิกฤตหรือได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงไปแล้ว
พื้นที่สีเขียวในเมืองแท้จริงแล้วสามารถสร้างคุณประโยชน์แก่สิ่งแวดล้อมเมืองได้อย่างมาก หากได้รับการวางแผนอย่างเป็นระบบโดยเข้าใจวัฏจักรและกลไกของธรรมชาติ พื้นที่สีเขียวจะทำหน้าที่ในการส่งเสริมให้กลไกตามธรรมชาติของเมืองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อพื้นที่สีเขียวสามารถทำงานได้อย่างสอดคล้องกับกลไกของธรรมชาติแล้ว ผลที่จะได้รับนอกจากจะช่วยฟื้นฟูคุณภาพของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของเมือง ลดความรุนแรงของภัยพิบัติ และเป็นพื้นที่ที่สร้างความยืดหยุ่นเพื่อรองรับภัยธรรมชาติแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์ด้านนิเวศบริการ (ecosystem services) ซึ่งหมายถึงประโยชน์หรือบริการที่มนุษย์ได้รับจากระบบนิเวศอีกด้วย
พื้นที่สีเขียวในเมืองที่ได้รับการวางแผนและออกแบบโดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเมือง สามารถทำหน้าที่เป็นปอดสีเขียวให้แก่เมือง ช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon sequestration) และคายก๊าซออกซิเจน ดูดซับฝุ่นและสารมลพิษ ช่วยลดอุณหภูมิให้แก่เมือง บรรเทาปัญหาเกาะความร้อนในเมือง (urban heat island) ช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางเสียงและสายตา สามารถใช้เป็นพื้นที่ชะลอน้ำ เป็นเส้นทางระบายน้ำ ช่วยบำบัดน้ำ เป็นพื้นที่ให้น้ำไหลซึมกลับลงดิน ซึ่งนอกจากจะลดปริมาณน้ำฝนที่ไหลนองบนผิวดินแล้ว ยังเป็นการเติมเต็มแหล่งน้ำใต้ดินได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่นิเวศในเมือง
พื้นที่สีเขียวในเมือง ต้องมีการวางแผนเชิงรุก
เพราะพื้นที่สีเขียวในเมืองไม่ได้มีเพียงแค่สวนสาธารณะ และแม้สวนสาธารณะเองก็เป็นได้มากกว่าพื้นที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ ประเด็นพื้นที่สีเขียวในเมืองจึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อวางแผนใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวให้คุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งนอกจากต้องแก้ปัญหาของวันนี้ที่เรามีพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอแล้ว ยังต้องมองไปในอนาคตเพื่อวางแผนใช้พื้นที่สีเขียวในการบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม รับมือกับภัยพิบัติและความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และคิดให้ไกลไปถึงขั้นการทวงคืนนิเวศและธรรมชาติในเมือง เพิ่มพื้นที่และความสมบูรณ์ของนิเวศในเมือง เพื่อเป็นการเพิ่มต้นทุนทางธรรมชาติให้แก่เมือง
1.ปริมาณพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสม
การกำหนดมาตรฐานพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมโดยมากจะอ้างอิงจากประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพ เช่น มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ที่มีการใช้อ้างอิงอย่างแพร่หลาย โดย WHO กำหนดให้ค่ามาตรฐานพื้นที่สีเขียวในเมืองขั้นต่ำที่สุดอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน สำหรับในประเทศไทย อ้างอิงจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำหนดให้ชุมชนขนาดใหญ่ควรมีพื้นที่สีเขียว 10 ตารางเมตรต่อคน 5 (ในปี พ.ศ.2560 กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวต่อประชากร 6.43 ตารางเมตรต่อคน)
มาตรฐานนี้ไม่ใช่กฎที่ตายตัว โดยมากกำหนดไว้เพื่อเป็นกรอบกว้างๆ เมื่อจะทำการวางแผนจะต้องนำมาปรับให้เหมาะกับลักษณะเฉพาะของแต่ละเมืองและวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เปิดโล่ง
ตัวอย่างของการวิจัยเพื่อค้นหาค่ามาตรฐานพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสม โดยกำหนดให้ความยั่งยืนของเมืองเป็นเป้าหมายหลัก นักวิจัยชาวจีนได้ทำการวิจัยโดยใช้ตัวชี้วัดเชิงนิเวศ (เช่น คุณภาพน้ำ, คุณภาพอากาศ, ปริมาณต้นไม้, ฯลฯ) และชี้ให้เห็นว่าเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและมีความยั่งยืน ควรมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 60 ตารางเมตรต่อคน 7 ในขณะที่ สผ.กำหนดให้ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ (เทศบาลนคร กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา) ควรมีพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืนและพื้นที่สีเขียวเพื่อการบริการ (เช่น สวนสาธารณะ) รวมกัน อย่างน้อย 16 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น
คำถามจึงอยู่ที่ว่าปริมาณพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมที่จะรองรับการเติบโตของเมืองที่ยั่งยืนควรเป็นเท่าไหร่ การศึกษาวิจัยเชิงลึกโดยใช้ตัวชี้วัดเชิงนิเวศจะเป็นแนวทางให้ทราบกรอบของปริมาณที่เหมาะสมนั้น และที่สำคัญ หากมีการขยายขอบเขตการพัฒนาหรือเพิ่มความหนาแน่นของเมือง ผังเมืองรวมก็ควรต้องนำพารามิเตอร์ (parameter) ด้านสิ่งแวดล้อมนี้มาคิดเป็นต้นทุนในการพัฒนาด้วย ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนว่าเมื่อการพัฒนาเมืองส่งผลให้เกิดการขาดดุลทางด้านสิ่งแวดล้อม จะมีมาตรการอย่างไรในการกำหนดขอบเขตการพัฒนาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองโดยมีเป้าหมายเชิงนิเวศที่ชัดเจน และหากผังเมืองรวมลดปริมาณพื้นที่สีเขียวในประเภทใดๆ ก็ตาม ควรต้องมีคำตอบให้แก่สังคมอย่างชัดเจนว่า จะมีแนวทางและมาตรการเชิงรุกในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเมืองอย่างไร
2.การวางแผนพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การวางแผนพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ต้องพิจารณาทั้งเชิงปริมาณและเชิงพื้นที่ ในเชิงปริมาณ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวต้องอาศัยการจัดหาพื้นที่เพิ่มจากพื้นที่ที่มีศักยภาพต่างๆ อาทิ พื้นที่ว่าง พื้นที่รกร้าง และพื้นที่ส่วนราชการ เป็นต้น โดยควรคำนึงถึงการกระจายตัวและการเข้าถึงโดยสะดวกของชุมชน อีกทั้งสามารถเป็นพื้นที่ที่สร้างประโชน์ได้หลายอย่าง อาทิ เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่รับน้ำฝน บำบัดน้ำ ฟอกอากาศ สวนผักคนเมือง และเส้นทางสัญจร เป็นต้น
แต่การเพิ่มพื้นที่ในลักษณะเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย (piecemeal) นี้ จะต้องดำเนินการภายใต้กรอบใหญ่ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในภาพรวมได้ด้วย
แผนแม่บทพื้นที่สีเขียวจึงเป็นกรอบใหญ่ที่ภาครัฐต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดแนวทางเชิงพื้นที่ในการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ที่จะต้องถูกนำไปบูรณาการกับผังภาค ผังเมืองรวม และผังพื้นที่เฉพาะ ให้เป็นแนวทางแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ โดยต้องทำการวิเคราะห์ศักยภาพ ปัญหา และข้อจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อมของเมือง เพื่อให้เข้าในสภาพแวดล้อมและกลไกทางธรรมชาติของเมือง ระบุพื้นที่ที่วิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อม ระบุพื้นที่ที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาในภาพรวม แผนแม่บทนี้จะต้องสามารถตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเมืองในด้านที่วิกฤตอย่างชัดเจน มีแนวทางการบรรเทาและแก้ปัญหาที่ยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ
ตัวอย่าง เมืองสตุทท์การ์ท (Stuttgart) เมืองอุตสาหกรรมในประเทศเยอรมนี ที่เคยประสบปัญหามลพิษทางอากาศอย่างรุนแรงถึง 247 วันต่อปี เนื่องจากเป็นเมืองอุตสาหกรรม ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในหุบเขา ทำให้สถานการณ์มลพิษทางอากาศรุนแรง และได้ทำการวางแผนแก้ปัญหาโดยการสร้างโครงข่ายพื้นที่เปิดโล่งระดับเมืองเพื่อเป็นช่องทางนำพาและระบายมลพิษออกจากเมือง ร่วมกับการวางแผนการใช้พื้นที่อื่นๆ ให้สอดคล้องกัน เช่น การอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวบริเวณต้นลม การย้ายแหล่งอุตสาหกรรมไปไว้ปลายลม การสร้างโครงข่ายสีเขียวจากถนนสายหลักและพื้นที่เปิดโล่งที่อยู่ในทิศทางลมให้เป็นช่องทางระบายอากาศ เป็นต้น
เมืองเดนเวอร์ ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ที่บูรณาการการแก้ปัญหาน้ำท่วมเข้ากับโครงข่ายพื้นที่สีเขียวของเมือง โดยโครงข่ายสีเขียว “The Platte River Greenway” ทำหน้าที่เป็นสวนสาธารณะริมแม่น้ำขนาดใหญ่ที่ซับและชะลอน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมของเมือง
และโครงการ “The Big U” ที่เกาะแมนฮัตตัน รัฐนิวยอร์ก เป็นโครงการสวนสาธารณะริมน้ำขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมให้แก่เมือง ภายหลังเฮอริเคนแซนดี้สร้างความเสียหายมหาศาลให้แก่ชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา ในปี ค.ศ.2012 ทำให้เมืองใหญ่ๆ หลายเมืองตื่นตัวจากผลของภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหนือความคาดเดา
โครงการขนาดใหญ่ที่ผสานการใช้พื้นที่สีเขียวของเมืองเข้ากับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการรองรับภัยพิบัติ ต้องอาศัยการวางแผนและการริเริ่มจากภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่อย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ ให้พื้นที่สีเขียวเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเมือง เป็นการแก้ปัญหาเชิงรุก ไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ายามเมื่อภัยมา หากภาครัฐเริ่มลงมือดำเนินการ แสดงให้เห็นถึงความจริงจังและจริงใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเมือง จะเป็นการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนหันมาร่วมแก้ปัญหาและแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์
เพราะการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเมืองไม่ได้มีเพียงแค่การรณรงค์ให้คนหันมาปลูกต้นไม้เท่านั้น
อ.ดร.สินีนาถ ศุกลรัตนเมธี
สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
[email protected]