ขับรถชนคนตายทำไมไม่ติดคุก อย่าให้จบลงแค่การล่าแม่มด : โดย กล้า สมุทวณิช

แฟ้มภาพ

จริงอยู่ว่าที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาแห่งวิกฤตทางการเมืองกว่า 15 ปี เราได้เห็นการบิดเบือนหลักกฎหมาย การตีความและการบังคับใช้กฎหมายจากทุกองค์กรอย่างไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่องค์กรตุลาการที่ควรเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน

แต่มันก็เป็นดังที่มีผู้กล่าวไว้นั่นแหละว่ากระบวนยุติธรรมของไทยมีสวิตช์ปิดเปิดได้ หรือเหมือนเป็นมิติคู่ขนานทับซ้อน นั่นคือ ในคดีความที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองนั้น กระบวนยุติธรรมในระดับตุลาการของเรานั้นยังปฏิบัติหน้าที่ได้ วินิจฉัยตัดสินไปตามหลักกฎหมายที่ถูกที่ควร

เช่นนี้ ผมจึงให้ความเห็นเสมอในคดีที่สังคมลดทอนและเรียกว่า “คดีแพรวา 9 ศพ” ว่า เรื่องนี้แม้ว่าผู้กระทำความผิดจะอยู่ในราชสกุลใหญ่โต ก็ส่งผลน้อยมากกับ “ปัญหาต่างๆ” ที่สังคมตั้งคำถามถึงกระบวนยุติธรรมในคดีนี้ ความเห็นเช่นว่านั้นทำให้ผมถูกแปะป้ายว่าเป็นพวก “โลกสวย” ไร้เดียงสากันไป

ข้อพิสูจน์หนึ่งที่ผมแทบจะเซฟเก็บไว้ในระบบ Cloud เพื่อจะได้เรียกมาใช้งานได้เสมอเวลามีข้อถกเถียงกันเรื่องนี้ คือ คำคดีตามพิพากษาศาลฎีกาที่ 5055/2559 ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์แซงรถคันอื่นไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่แล่นสวนมาในเลนตรงข้ามจนคนขี่จักรยานยนต์คันนั้นเสียชีวิต ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี และปรับ 12,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี

Advertisement

จะเห็นว่าอัตราโทษในคดีดังกล่าวนั้นใกล้เคียงกับคดีที่จำเลยผู้ใช้ราชสกุลได้รับ เพียงแต่ในคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ยกไปข้างต้นนี้ จำเลยมีชื่อนามสกุลธรรมดาๆ แบบชาวบ้าน เนื่องจากคดีถึงที่สุดแล้ว จึงขอละการกล่าวถึงชื่อสกุลจำเลยไว้ เอาเป็นว่าประมาณว่า ชื่อ นางมาลัย เนื้อทอง อะไรทำนองนี้ ไม่ใช่ผู้ลากมากดีมี “ณ อยุธยา” มาจากไหน

ส่วนเรื่องที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรงจนเรื่องนี้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งนั้น ก็เนื่องจากความ “ดื้อแพ่ง” ของจำเลยและพวกนั้น ก็เป็นปัญหาของกระบวนการบังคับคดีแพ่งของไทยในทุกคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีผิดสัญญาหรือละเมิด ที่เจ้าหนี้จะต้องวิ่งเต้นเป็นธุระในการสืบทรัพย์บังคับคดีเอาแก่จำเลยลูกหนี้ตามคำพิพากษาเอง และในระหว่างกระบวนการบังคับคดีนี้ จำเลยก็ยังต่อสู้ในปัญหาเรื่องการบังคับคดีได้อีกไม่ต่างจากการต่อสู้ในคดีหลัก

จนมีผู้กล่าวว่า ค่าเสียหายหรือเงินที่ปรากฏในคำพิพากษานั้นมีค่าเป็นเงินกระดาษ เป็นเพียงสิทธิที่ไม่รู้จะบังคับได้จริงหรือไม่

Advertisement

ในทางกลับกัน ก็มีการนำเรื่องของ “แพรวา” ไปเปรียบเทียบกับกรณีของ “เสี่ย” เจ้าของธุรกิจผลิตและจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ท่านหนึ่ง ที่ก่อเหตุเมาแล้วขับรถเบนซ์ไปชนรถของตำรวจระดับรองผู้กำกับเสียชีวิตพร้อมภรรยา และบุตรสาวได้รับบาดเจ็บสาหัส ในคดีดังกล่าว “เสี่ยเบนซ์” ตามคำเรียกของสังคมออนไลน์ได้จ่ายเงินเยียวยาให้กับครอบครัวผู้ตายรวมกว่า 45 ล้านบาท พร้อมไปกราบขอขมาญาติพี่น้องของผู้ตายรวมถึงบวชหน้าไฟให้ด้วย

คดีของ “แพรวา” ทำให้ “เสี่ยเบนซ์” ดูหล่อไปเลย แม้ว่าการกระทำของเขานั้นแม้จะเป็นเรื่องประมาทเหมือนกัน แต่ก็ต้องถือว่ารุนแรงกว่า เพราะเป็นเรื่องเมาแล้วขับ เพราะเมื่อตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์หลังเกิดเหตุ จะพบว่ามีค่าสูงถึง 260 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเกินจากระดับที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 50 มิลลิกรัมถึงกว่า 5 เท่า

ซึ่งหากจะกล่าวตามตรง ผมรังเกียจผู้ที่มีพฤติกรรมแบบ “เสี่ยเบนซ์” นี้มากกว่า เพราะการฝืนขับรถในขณะที่เมาสุราอย่างหนัก มันไม่มีเหตุผลอะไรเลยนอกเสียจากเป็นการไม่แยแสความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ไม่เห็นหัวกฎหมาย ไม่คิดว่ากฎหมายที่มีไว้เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนนั้นยังใช้บังคับอยู่เพียงเพราะขับไปไม่มีด่าน

เพียงแต่การ “ยอมรับผิด” และการแก้ไขชดเชยอย่างรวดเร็วทันท่วงที ทำให้สังคม “อภัย” ให้ได้มากกว่า แม้ในทางพฤติกรรมจะเหมือน “ฆาตกรโดยสุ่มสถานที่และเวลาก่อเหตุ” เท่านั้นเอง

ทั้งเรื่องของ “แพรวา” และ “เสี่ยเบนซ์” นี้ คือการแสดงสภาพของ “ดุลยภาพในกระบวนยุติธรรมคดีประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย” ที่เป็นเรื่องรู้กันอยู่ในวงการให้ปรากฏชัดเจนออกมา และเราควรใช้โอกาสนี้ในการทบทวนและหาทางออกในเรื่องนี้กัน โดยไม่ปล่อยให้มันเกิดขึ้นแล้วหายไป โดยพอใจเพียงแค่การล่าแม่มดกันเป็นฤดูกาล

อย่างที่ได้ยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาข้างต้นไป เราจะเห็นว่า ศาลนั้นลงโทษผู้กระทำความผิดกรณีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้นไม่หนัก รวมถึงยังสามารถรอการลงโทษได้ด้วย พูดง่ายๆ คือ คดีขับรถชนคนตายนั้น จำเลยนั้นอาจจะไม่ติดคุกก็ได้ ถ้าพฤติการณ์ในคดีและหลังจากคดีจบนั้นเข้าเงื่อนไขบางอย่างที่ศาลเห็นว่า “พอจะอภัย” ให้ได้

นั่นคือ พฤติการณ์ในการก่อเหตุนั้น จะต้องเกิดจากความประมาทล้วนๆ ประมาทมากหรือประมาทน้อยนั้นไม่สำคัญ แต่ถ้าให้ดีไม่ควรจะเป็นเพราะการดื่มสุราหรือใช้ยาเสพติด หลังจากเกิดอุบัติเหตุไปแล้ว ผู้กระทำความผิดจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตตามสมควร และไม่มีพฤติกรรมหลบหนี รวมถึงจากนั้นหากผู้เสียหายบาดเจ็บก็ต้องไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล หรือถ้าเสียชีวิตก็ต้องไปร่วมงานศพ มีการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมโดยไม่เกี่ยวกับค่าเสียหายตามกฎหมายหรือสัญญาประกันภัยจำนวนหนึ่ง

และหลังจากนั้น จะต้องแสดงเจตนาให้เห็นว่าพร้อมชดใช้ค่าเสียหายตามที่ญาติพี่น้องของคนเจ็บคนตายเรียกร้อง (ต่อรองได้ตามสมควรโดยอาจจะมีศาลเป็นคนกลาง) มีการชำระชดใช้แล้วประมาณหนึ่ง จนญาติพี่น้องอาจจะแถลงต่อศาลว่าให้อภัยแล้ว (แต่ไม่ติดใจเอาความนั้นทำไม่ได้ เนื่องจากเป็นคดีที่ยอมความไม่ได้)

โทษของความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 นั้น อยู่ที่จำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท จะสังเกตได้ว่าไม่มีโทษขั้นต่ำ ดังนั้น หากเรื่องเข้าองค์ประกอบอันพอให้อภัยได้ข้างต้น ศาลก็อาจกำหนดโทษกันไปเท่าที่จะรอการลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ถ้าก่อนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในปี 2559 ก็ไม่เกิน 3 ปี (ปัจจุบันอยู่ที่ 5 ปี)

เช่นนี้ “ยี่ต๊อก” หรือบัญชีกำกับดุลยพินิจในการลงโทษของศาลในทางปฏิบัติ ในคดีแพรวาและคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ยกมาข้างต้นนั้น คือ 2 ปีเท่ากัน เพื่อให้รอการลงโทษได้ ส่วนโทษอุปกรณ์อื่นก็สุดแต่ท่านจะไปกำหนดตามพฤติการณ์แห่งคดี

ปัญหาหากจะมีข้อสงสัย คือ ทำไมการทำให้คนตายลงไปทั้งคน ไม่นับว่าครอบครัวของเขาจะต้องตายทั้งเป็นอีกเท่าไร ทำไมผู้กระทำความผิดจึงเหมือนกับไม่ต้องถูกลงโทษร้ายแรงระดับจำคุก นั่นก็เพราะว่า ในทางทฤษฎีกฎหมายอาญานั้น “รัฐ” โดยกฎหมายนั้นมุ่งเอาผิดลงโทษแก่ผู้ที่ตั้งใจที่จะละเมิดกฎหมายด้วยเจตนาเต็มที่สมบูรณ์ของตน หรือในบางทฤษฎีเรียกว่ามีจิตชั่วร้ายหรือเถยจิต เช่นการตั้งใจฆ่าฟันหรือเบียดเบียนเอาแก่ทรัพย์ของคนอื่นด้วยใจทุจริต

แต่กรณีการกระทำความผิดโดยประมาทนั้นแตกต่างกันออกไป เพราะผู้กระทำความผิดนั้น ไม่ได้มีเจตนาชั่วร้าย เพียงแต่ประมาทปราศจากความระมัดระวังอันสมควรตามมาตรฐานของวิญญูชนเท่านั้น

ประกอบกับแนวทางปฏิบัติแบบไทยๆ ที่ไม่รู้ว่าเริ่มต้นขึ้นเมื่อไร แต่มันก็เกิดเป็น “ดุลยภาพ” ในกระบวนยุติธรรมลักษณะนี้ว่า การกำหนดโทษขับรถประมาทเป็นเหตุให้คนตายนี้ไว้ต่ำ หรือการรอการลงโทษได้เป็นบรรทัดฐานไว้ จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้กระทำความผิดนั้นช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างมีมนุษยธรรม ไม่ชนแล้วหนี หรือพยายามแก้ไขความเสียหายที่ตนได้ก่อขึ้น โดยการชดใช้เงินทองให้แก่ผู้เสียหายอย่างรวดเร็วโดยอาจจะไม่ต้องอาศัยอำนาจศาล

ลองนึกดูว่า ถ้าสมมุติขับรถชนคนตายแล้ว ไม่ว่าจะจอดรถลงไปช่วยหรือหนีไป ยังไงก็ต้องติดคุก จะติดมากจะติดน้อยก็คุกเหมือนกัน จะไปร่วมงานศพ หรือให้ความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรมหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะไม่มีผลต่อการกำหนดโทษทางอาญา รวมถึงค่าเสียหายอันพึงจ่ายก็ค่อยรอผู้เสียหายไปฟ้องเป็นคดีแพ่งซึ่งยืดเยื้อและบังคับคดียากกว่าเอาเอง

ในขณะที่แนวทางดุลยภาพในทางปฏิบัติของศาลจะช่วยบรรเทาความเสียหายให้แก่ฝ่ายเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายได้ดีกว่า และถ้าผู้เสียหายหรือครอบครัวผู้เสียหายพอใจยอมรับและอภัยให้ได้แล้ว รัฐ (โดยการตัดสินของศาล) ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเอาโทษอะไรแก่ผู้กระทำความผิดนั้นให้หนักหนาเกินไปนัก รวมถึงถ้ามองในเชิงเศรษฐศาสตร์ การเอาผู้กระทำความผิดไปลงโทษจำคุกเสียแล้ว จะมีช่องทางไหนให้เขาหาเงินหรือลงแรงไปแก้ไขเยียวยาช่วยเหลือผู้เสียหายได้

ดูเผินๆ แล้วก็เหมือนดุลยภาพนี้น่าจะเป็นทางออกที่ทุกคนเหมือนจะเป็นฝ่ายได้ หากมันก็แฝงปัญหาและโทษภัยอันตรายไว้ในภาพใหญ่ระยะยาว

ประการแรก คือการสร้างความเหลื่อมล้ำในกระบวนยุติธรรม เพราะหากว่าศาลนำเอาเรื่องของการ “ช่วยเหลือเยียวยา” หรือจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายมาเป็นดุลยพินิจในการลดโทษลงจนอยู่ในระดับที่รอการลงโทษได้แล้ว เช่นนี้หากผู้กระทำความผิดที่ฐานะไม่ดี ไม่มีเงินพอที่จะไปช่วยเหลือจ่ายค่าเสียหายได้ก่อนศาลพิพากษา ก็อาจถูกลงโทษจำคุกจริงๆ ได้ กลายเป็นไปเข้าทางวาทกรรมว่า “คุกมีไว้ขังคนจน”

แต่ ประการที่สอง ที่ผมคิดว่าแย่ไปกว่านั้น คือการทำให้หน้าที่หนึ่งของกฎหมายอาญา ในการ “ข่มขู่เตือนใจ” ไม่ให้คนกระทำความผิดนั้นต้องเสียไปด้วย นั่นคือ เมื่อเป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่า การขับรถชนคนตายนั้น ถ้าเข้าเงื่อนไของค์ประกอบและมีการช่วยเหลือ ก็เป็นไปได้ที่จะไม่ต้องติดคุกจริง

เราก็เลยได้เห็นวัยรุ่นไม่มีใบขับขี่ใช้ความเร็วเกิน 160 บนทางด่วน แต่งรถซิ่งแล้วขับกันไปบนถนนหลวงอย่างไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น หรือเมาขนาดเดินไม่ตรงทางแต่ยังฝืนขับรถส่ายไปมาบนถนน เพราะพวกเขารู้อยู่จากกรณีตัวอย่างที่เคยเห็นหรือมีประสบการณ์ว่ากฎหมายนั้นไม่ได้ใจร้ายนัก หากว่าเขาจะไปทำให้เพื่อนร่วมท้องถนนโชคร้ายหรือบาดเจ็บพิการ

ดุลยภาพในกระบวนยุติธรรมที่เหมือนจะดีต่อผู้เสียหาย (ซึ่งก็ได้พิสูจน์แล้วในเรื่องนี้ว่าบางกรณีมันก็ไม่ได้สมประโยชน์นัก) ก็อาจจะทำให้สังคมไม่ปลอดภัยได้ในระยะยาว

แล้วเรามีวิธีไหนที่จะปรับดุลยภาพของเรื่องนี้ได้ ไหนๆ ก็เขียนถึงเรื่องนี้แล้ว ขออนุญาตใช้พื้นที่นี้เขียนตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า เพราะไม่อยากให้เรื่อง “แพรวา 9 ศพ” ที่ปลุกกระแสกันมารอบนี้จบลงง่ายๆ เพียงความพอใจของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งได้ล่าแม่มดสำเร็จแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image