อยู่ได้อย่าง‘เฉาๆ’ : สุชาติ ศรีสุวรรณ

ทุกครั้งที่ประชาชนรู้สึกว่าเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน คำถามหนึ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีก็คือ “รัฐบาลจะไปรอดหรือไม่”

ที่ตอบมา ทำความเข้าใจด้วยความเชื่อมาตลอดว่า ไม่มีอะไรที่จะก่อผลกระทบรุนแรงต่อรัฐบาลนี้ได้

ตอบกันมาซ้ำๆ ว่า โครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่ออกแบบไว้ภายใต้การควบคุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ไม่ว่าจะเป็นการเขียนกฎหมายใหม่หมด ตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงมาถึงกติกาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมทั้งการวางตัวบุคคลตามโครงสร้างอำนาจทุกส่วน

ล้วนแล้วแต่เอื้อให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลหลังเลือกตั้งที่สืบต่ออำนาจมานี่ผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้อิง ไม่มีทางที่อะไรจะมากระทบให้สั่นสะเทือนถึงระดับที่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้

Advertisement

แม้จะมีความคิดว่าเสียงปริ่มน้ำในสภาผู้แทนราษฎร อันหมายถึงจำนวน ส.ส.ที่สนับสนุนฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลใกล้เคียงกัน จนน่าจะควบคุมคะแนนโหวตได้ลำบาก และน่าจะมีปัญหามากในการโหวตวาระสำคัญต่อการอยู่รอดของรัฐบาล

คำตอบก่อนหน้านั้นคือ เป็นการประเมินในโครงสร้างอำนาจแบบเก่า ที่บทบาทของสภาผู้แทนราษฎรมีผลต่อความเป็นไปของรัฐบาลสูง แต่วันนี้ไม่ใช่วันนั้นอีกแล้ว โครงการอำนาจที่ควบคุมได้สามารถเข้ามาแทรกแซงกดดันการทำหน้าที่ของ ส.ส.ได้ไม่ยาก จนทำให้สามารถประกันความมั่นคงได้ โดยไม่ต้องกังวล

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นคำตอบที่มองผ่านโครงสร้างทางกายภาพที่ยังไม่มีสถานการณ์ใดมาเป็นองค์ประกอบในการประเมิน

Advertisement

แต่เมื่อรัฐสภาเปิดรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาล

มีบางสิ่งบางอย่างที่ก่อความรู้สึกขึ้นมาว่า “ความมั่นคงของรัฐบาล” ที่ผ่าน “โครงสร้างอำนาจที่ดีไซน์ไว้ให้” น่าจะเป็นคำตอบที่ต้องประเมินกันใหม่

ไม่ใช่จำนวน ส.ส.ที่เป็นพลังให้ฝ่ายค้านสร้างผลสะเทือนกับรัฐบาล

แม้กระทั่งเรื่องราวที่นำมาอภิปราย แม้จะได้ผลอยู่ไม่น้อย เนื่องจากรัฐบาลที่สานต่ออำนาจซึ่งพิสูจน์สภาพของผลงานมาแล้ว 5 ปี ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นจุดอ่อนทำให้การอภิปรายของฝ่ายค้านมีน้ำหนักให้เกิดความน่าเชื่อถือในความรู้สึกนึกคิดของประชาชน

ความน่าเชื่อถือที่นำมาซึ่งกระแสในสังคม

รัฐบาลที่ต้องเผชิญหน้ากับสภาวะไร้ความเชื่อมั่น ย่อมยากที่จะสร้างผลงานให้เกิดขึ้น

การถูกปฏิเสธ และหมิ่นแคลนความรู้ ความสามารถ ทำให้ถูกจับตาในมุมลบ อันจะส่งผลต่อกำลังใจของคณะรัฐมนตรี ที่ต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวงจากการวิพากษ์วิจารณ์

นั่นคืออุปสรรคในการทำงานให้มีความสุข

และเป็นที่มาของความอ่อนใหญ่อย่างที่สุดของ “เสถียรภาพรัฐบาล”

รัฐบาลที่ไม่ได้รับการยอมรับ ย่อมต้องทำงานด้วยความรู้สึกอึดอัด คับข้อง เพราะไม่ว่าจะขยับตัวไปทางไหน กลายเป็นพฤติกรรมถูกชี้ให้ประชาชนเห็นความน่ารังเกียจ และเมื่อกระแสพร้อมที่จะมองไปทางนั้นอยู่แล้ว

ความเหี่ยวเฉาจะยิ่งเกิดขึ้นกับความรู้สึกของบรรดารัฐมนตรี

ซึ่งจะทำให้หนีไม่พ้นที่จะมีชีวิตอยู่กับความหงุดหงิด

และตรงนี้เองที่จะเป็นจุดอ่อนสำคัญ

ความเหี่ยวเฉาของชีวิต ย่อมก่อให้เกิดพฤติกรรมในทางที่สะท้อนว่า “ไม่มีวุฒิภาวะ” ได้ง่าย

การควบคุมอารมณ์จะกลายเป็นภาระหลักของชีวิตประจำวัน

ยิ่งสะท้อนว่าทำไม่ได้ ความเสียหายต่อภาพลักษณ์จะยิ่งเกิดขึ้น

สภาวะที่เห็นในช่วงอภิปรายการแถลงนโยบายเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอยู่แล้ว

รัฐบาลอาจจะอยู่ได้ เพราะ “ดีไซน์โครงสร้างอำนาจ” ไว้รับอย่างแข็งแกร่ง

แต่จะเป็นการอยู่ได้ ที่อับเฉาในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image