วิชาแห่งอนาคตในคอมพิวเตอร์ ที่ไม่ได้อยู่แต่ในคอมพิวเตอร์ : โดย กล้า สมุทวณิช

หากมีผู้กล่าวว่า “การเรียนโค้ดดิ้ง (Coding)” ที่ในความเข้าใจทั่วไปของผู้คนนั้นหมายถึงวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น “ไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้” ก็แน่นอนว่าคงจะถูกฮาป่า เพราะมันขัดต่อสามัญสำนึกและความเข้าใจโดยทั่วไปอย่างร้ายแรง

โดยเฉพาะเมื่อผู้พูดนั้น เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลปัจจุบัน ที่ดูเหมือนจะสืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาลของคณะรัฐประหารก่อนหน้า และมีทั้งปัญหาความชอบธรรมในการเข้าสู่ตำแหน่งนานาสารพัด ก็ไม่น่าแปลกใจหรอกที่เรียกร้องเสียงโห่ฮาจะมาจากฝ่าย “ประชาธิปไตย” เป็นต้นเสียงหลัก ซึ่งผมเองถ้าไม่เคยรู้มาก่อนว่าวิชาที่ว่านี้คืออะไร ก็น่าจะเป็นอีกคนที่ไปร่วมส่งเสียงโห่กับเขาด้วย

แต่อาจจะเป็นโชคดีที่ลูกสาวผมซึ่งขึ้นเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในปีการศึกษานี้ จะต้องเรียนวิชาชื่อแปลกวิชาหนึ่ง คือ “วิทยาการคำนวณ” ซึ่งเมื่อเอาแบบเรียนวิชานี้ ที่เขียนโดยคณาจารย์จาก สสวท. ก็รู้สึกทึ่ง เพราะนี่แหละคือวิชาการ “โค้ดดิ้ง” (Coding) ที่ถ้าใครติดตามวงการธุรกิจและเทคโนโลยี คงจะเคยได้ยินว่า นี่คือ “ภาษาแห่งอนาคต” ที่เด็กๆ ในรุ่นต่อไปควรจะเรียนและมีความรู้ นอกเหนือจากภาษาพ่อภาษาแม่ และภาษาโลกที่จะใช้สื่อสารกัน

ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ จีน หรือญี่ปุ่น ก็เริ่มให้เด็กประถมได้เรียนวิชาโค้ดดิ้งนี้แล้ว สำหรับในประเทศไทยก็เริ่มมีโรงเรียนสอนพิเศษหรือสถาบันสอนพัฒนาการเด็กที่สอน “วิชาโค้ดดิ้ง” นี้ สำหรับเด็กที่พอมีฐานะ และพ่อแม่มองการณ์ไกลเล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้

Advertisement

การที่เด็ก “ทุกคน” ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาไทยภาคบังคับนั้น จะได้เรียนวิชาล้ำสมัยเช่นนี้ถึงสิบสองปี ตั้งแต่ประถมหนึ่งถึงมัธยมหก นั้นก็เป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายและน่าทึ่ง

ซึ่งก็เป็นโชคดีที่เกิดจากการชักนำโดยมิตรสหายหลายท่าน ทำให้ผมมีโอกาสได้สนทนากับหนึ่งในผู้ร่วมออกแบบหลักสูตรและเขียนแบบเรียนวิชานี้ คืออาจารย์ผนวกเดช สุวรรณทัต แห่งสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ถ้าใครติดตามรายการ Podcast “กล้าคุย (กับคนอื่น)” ของผมทางช่อง “โลกไปไกลแล้ว” คงจะทราบว่าผมได้สนทนากับท่านอาจารย์ผ่านรายการไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ด้วยเนื้อหาที่ได้สนทนากันนั้นมันดีเสียจนไม่ควรที่จะสงวนไว้เป็นเนื้อหา Exclusive เฉพาะช่องทางดังกล่าว จึงของนำมาถ่ายทอดลงในคอลัมน์นี้ด้วย

วิชาที่ปัจจุบันเรียกว่า “วิทยาการคำนวณ” นี้มีพัฒนาการต่อเนื่องยาวนานมาเกือบ 30 ปีแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือ PC มีจำหน่ายในประเทศไทย ในปี 2528 ก็เริ่มมีการสอนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้เด็กมัธยมในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพแล้ว ตามด้วยการปรับปรุงหลักสูตรต่อมาเรื่อย เนื่องจากการใช้โปรแกรมประยุกต์ในคอมพิวเตอร์อย่างพวก Word Processing หรือ Spreadsheet นั้นเป็น “ทักษะการทำงาน” ที่จำเป็นในยุคหลังสหัสวรรษ

Advertisement

จนกระทั่งในยุคที่คอมพิวเตอร์อยู่ในอุ้งมือของทุกคนตั้งแต่ยุค 2560 เป็นต้นมานี้ วิชานี้จึงปรับจากวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ (ที่มุ่งเน้นเพื่อการสร้างทักษะการทำงาน) ก็กลายมาเป็น “วิทยาการ” ในระดับเดียวกับวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม ภาษาไทย ที่เด็กทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดเวลาแห่งการศึกษาภาคบังคับของรัฐ ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

ถามว่ามันจำเป็นขนาดนั้นหรือ คำตอบก็คือว่าในโลกยุคต่อไปนั้นจะเป็นยุคที่เราจะขับเคลื่อนกันด้วยเทคโนโลยีแห่งดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่งทุกอย่าง (Internet of Things : IoT) แม้แต่ในเสื้อผ้าหรือบางอวัยวะในร่างกายของเรา ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent : AI) ที่ผนวกเข้ากับข้อมูลมหาศาล (Big Data) จะถูกนำมาใช้ช่วยเราทำงานได้แทบทุกวงการ และหุ่นยนต์ที่จะผนวกเทคโนโลยีข้างต้นนั้นเข้าด้วยกัน ก็อยู่ในอนาคตที่มองเห็นได้จากนี้ไม่ไกล

โลกเช่นนี้ เด็กๆ ของเราที่จะโตไปในอีกสิบยี่สิบปีจึงต้องมีทักษะต่างๆ ไว้รับมือ ได้แก่ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบที่จะสามารถเข้าใจได้ว่าเราต้องการอะไรกันแน่อย่างแท้จริง และเราจะทำอย่างไรให้คอมพิวเตอร์ AI และหุ่นยนต์ทำงานได้ตามความต้องการของเราอย่างไม่ผิดเพี้ยนไปจากเป้าหมาย ที่สำคัญคือจะต้องมีทักษะที่จะแยกแยะข่าวจริงข่าวลวง และการรู้เท่าทันกลไกของเครือข่ายสารสนเทศและสังคมโซเชียล ที่เราเรียกกันว่า Digital Literacy หรือความตระหนักรู้ต่อดิจิทัล

นี่คือสิ่งสำคัญยิ่งกว่าการเรียนให้รู้จักใช้โปรแกรมประยุกต์ หรือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งวิชานี้เรียกรวมกันว่า Computer Science หรือ “วิทยาการคำนวณ”

แล้วเราสอนอะไรลูกหลานเราบ้าง ผู้ร่วมออกแบบวิชาได้อธิบายไว้ว่า วิชานี้จะประกอบไปด้วยสามแกนหลัก คือ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นการสอนตรรกะ เหตุผล และการเรียบเรียงความคิดเพื่อออกแบบให้ได้แผนการทำงานหรือแก้ปัญหา ซึ่งแผนนี้จะนำไปใช้เขียนโปรแกรม หรือที่เรียกว่า “โค้ดดิ้ง” หรือไม่ก็ได้

เช่นเอาที่ลูกสาวผมเรียนในส่วนนี้ เขาจะให้นักเรียนคิดว่า เราจะมีวิธีการใดบ้าง ที่จะแยกลูกกอล์ฟกับลูกปิงปองที่ปะปนในกล่องเดียวกันได้ หรือตวงน้ำ 4 ลิตรให้ได้ จากอุปกรณ์การตวงที่มีไว้ให้สองขนาด คือ 3 ลิตร และ 5 ลิตร ซึ่งคำตอบไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว และวิชานี้ก็ไม่ได้มุ่งเน้นที่คำตอบ แต่คาดหมายให้เด็กรู้จักการแสวงหา “วิธีการ” ที่เรียกว่า “อัลกอริธึม”

แกนที่สอง คือ ICT ได้แก่การเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันที่จำเป็นต่อชีวิต เช่นการใช้โปรแกรมพิมพ์งาน กระดานคำนวณ โปรแกรมท่องเว็บ และโปรแกรมอื่นๆ ที่ต้องใช้เพื่อการสร้างสรรค์ผลงานของนักเรียน จุดที่ต้องขอชมอย่างหนึ่งที่ได้เห็นคือในหนังสือเรียนหลักสูตรนี้ของ สสวท. ไม่ได้ใช้การสอนแบบการอธิบายเมนูหน้าจอ หรือที่เรียกว่า User Interface เป็นหลัก แต่เป็นการสอน “หลักการพื้นฐาน” ของการทำงานโปรแกรมเหล่านั้นเป็นหลัก หรือพูดให้เข้าใจง่าย คือ เขาไม่ได้สอนให้เด็กรู้จักใช้ “โปรแกรม Excel (ของ Microsoft)” แต่เป็นการสอนให้เด็กรู้จักการใช้งานโปรแกรมประเภทกระดานคำนวณ (Spreadsheet) ที่เมื่อเด็กเข้าใจแล้ว จะเอาไปใช้กับโปรแกรมแบบนี้ของอะไรก็ได้ เช่น Libre Office Calc Google Sheet หรือ Numbers ของ Apple

และแกนที่สามที่กล่าวไปแล้ว คือการตระหนักรู้ทางดิจิทัล เพื่อให้เข้าใจและมีทักษะในการแยกแยะข่าวจริงข่าวลวง การรู้เท่าทันกลอุบายของนักเจาะระบบคอมพิวเตอร์ที่จะมาขโมยเอาทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตไปได้ด้วยการหลอกให้คลิก Malware หรือ Ransomware เพียงครั้งเดียว รวมถึงรู้และเข้าใจสิทธิหน้าที่พลเมืองในโลกออนไลน์ ตลอดจนกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราจะสอนวิชาสังคมศึกษาและวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจในกลไกของโลกและสังคมมนุษย์ได้ตลอดสิบสองปี ความเข้าใจในโลกดิจิทัลที่เป็นส่วนหนึ่งของเราก็สำคัญและจำเป็นในระดับเดียวกัน

สําหรับดราม่าเรื่อง “โค้ดดิ้งโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์” นั้น จริงๆ แล้วเรื่องนี้คือปัญหาว่าด้วย “นิยาม” ที่แต่ละฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกันถึงความหมายของคำว่า “โค้ดดิ้ง”

ซึ่งอาจารย์ผนวกเดชได้อธิบายว่า โค้ดดิ้งนั้นมีสองความหมายจริงๆ นั่นคือ ในความหมายหนึ่ง “โค้ดดิ้ง” (Coding) จะมีความหมายกว้าง ส่วน “โปรแกรมมิ่ง” (Programming) จะมีความหมายแคบกว่าครับ การโค้ดดิ้งในความหมายนี้ คือการที่มนุษย์ใช้สัญลักษณ์อะไรบางอย่าง อาจจะเป็นข้อความ ตัวอักษรหรือสัญลักษณ์อื่นๆ เพื่อที่จะสื่อถึงลำดับขั้นตอนการทำงานอะไรบางอย่างเพื่อนำไปสู่ผลที่คาดหมาย ถ้าถือตามนิยามนี้ การ “โค้ดดิ้ง” ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้คอมพิวเตอร์ เช่นการเขียนทำนองเพลงลงในรูปแบบของโน้ตดนตรี เพื่อให้ใครก็ตามที่อ่านโน้ตนั้นออกนำไปเล่นออกมาเป็นเพลงเดิมและเพลงเดียวกันกับที่ผู้ประพันธ์แต่งไว้ นี่ก็เรียกว่าการโค้ดดิ้งแล้ว ส่วนถ้าเราลำดับงานแล้วนำลำดับงานนั้นไปแปลงเป็นรูปแบบคำสั่งภาษาใดภาษาหนึ่งที่คอมพิวเตอร์เข้าใจและประมวลผลทำงานตามขั้นตอนนั้นได้ ก็เรียกว่า “Computer Coding” ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า “Computer Programming” หรือการเขียนโปรแกรม

แต่นิยามในอีกทางหนึ่งเหมือนจะกลับกันออกไป คือคำนิยามตามผู้ออกแบบหลักสูตรของเว็บไซต์ Code.org ที่มองว่า การ “โปรแกรมมิ่ง” นั้นคือการคิดวางแผนอย่างเป็นระบบ การวาด Flow Chart และความความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ของโปรแกรมในหัวสมองหรือกระดาษไว้ล่วงหน้า แล้วกลั่นกรองแปลงออกมาเป็นโค้ดคอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปสู่กระบวนการ “พิมพ์โค้ด” ลงในคอมพิวเตอร์ตามภาษา C ภาษา Java ภาษา Python อะไรก็ตาม พูดง่ายๆ คือ การ “โค้ดดิ้ง” ในความหมายนี้จำกัดเพียงการเขียนโค้ดลงไปในคอมพิวเตอร์เพื่อให้เป็นไปตามโปรแกรมที่ถูกออกแบบไว้เท่านั้น

ดังนั้น ถ้าเราพูดกันด้วยนิยามแรก การเรียน “โค้ดดิ้ง” นั้นอาจจะ “ยัง” ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ และในต่างประเทศ ก็มีหลักสูตรการสอนให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยไม่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์อยู่จริง โดยเด็กๆ จะได้ทำกิจกรรมกับบัตรคำสั่งและเกมเพื่อการเรียนรู้ต่างๆ ผู้สนใจอาจจะค้นหาได้จากคำค้น CS Unplugged ก็ได้ แต่ถ้าถือนิยามที่สอง การโค้ดดิ้งนั้นอย่างไรก็คือกระบวนการที่กระทำต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเรียนได้โดยไม่มีคอมพิวเตอร์

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สาระที่แท้จริงของเรื่องนี้คือ วิชา “วิทยาการคำนวณ” ที่ลูกหลานเราจะได้เรียนกันนี้มันใหญ่กว่าแค่การเขียนหรือไม่เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และก็เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะสอนวิชานี้โดยไม่มีคอมพิวเตอร์ได้ทั้งหมดตลอดหลักสูตร แต่ส่วนหลักและส่วนใหญ่ของวิชานี้ก็ยังเรียนได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการมีหรือไม่มีคอมพิวเตอร์ และยิ่งไปกว่านั้น มันจะน่าเสียดายมากกว่า ถ้าเราอ้างเอาการขาดแคลนอุปกรณ์มาเป็นเครื่องกีดขวางไม่ให้ลูกหลานเราได้เรียนรู้วิชาที่จะเป็นทักษะของโลกอนาคตนี้ ยิ่งถ้าพิจารณาว่าปัจจุบันนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ก็ไม่ได้มีราคาแพงมากมายอะไรแล้ว และยิ่งถ้าเราตีความคำว่า “เครื่องคอมพิวเตอร์” ออกไปไกลกว่าแค่เครื่อง PC หรือ Notebook เราก็จะพบว่า แม้แต่แท็บเล็ตซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใกล้ชิดกับผู้คนในปัจจุบันมากที่สุด ก็ยังใช้เอามาเรียนก็ได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีโรงเรียนมากมายในต่างจังหวัดที่ได้นำร่องเรียนวิชานี้กันไปแล้ว รวมถึงโรงเรียน ตชด. หรือแม้แต่โรงเรียนพระปริยัติธรรมก็ด้วย

แต่สำคัญไปกว่าความพร้อมของเทคโนโลยีก็คือกรอบความคิดและการยอมรับว่า ในบางเรื่อง สิ่งที่ “รัฐบาล” ที่อาจจะไม่มีความชอบธรรมได้กระทำทำนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องแย่หรือเลวร้ายไปเสียทุกเรื่อง

โดยเฉพาะถ้าเรามองว่าใน “รัฐบาล” นั้นนอกจากประกอบด้วยข้าราชการการเมืองแล้ว ยังมีฝ่ายประจำ นักวิชาการ และผู้คนที่มุ่งมั่นและมีอุดมการณ์ในการที่จะสร้างให้เด็กและเยาวชนไทยของเราต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ ทั้งในโลกและในสังคมได้ ด้วยความรู้ที่ได้จากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ผ่านการเรียนหลักสูตรวิชานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image