เดินหน้าชน : รอดูฝีมือ‘บิ๊กตู่’

ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่รัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1” จะต้องเร่งแก้ไข รัฐบาลจึงประกาศตั้ง “ครม.เศรษฐกิจ” โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นประธานเอง

โดย พล.อ.ประยุทธ์ให้เหตุผลว่า รองนายกรัฐมนตรีมาจากหลายพรรค แต่ละคนรับผิดชอบคนละกระทรวง การขับเคลื่อนนโยบายอาจจะมีปัญหาไม่สอดคล้องกัน จึงต้องมี “ครม.เศรษฐกิจ” เพื่อให้ทุกคนเห็นชอบร่วมกัน

ขณะเดียวกัน ครม.ยังเห็นชอบตั้งสำนักดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรี หรือพีเอ็มดียู ทำหน้าที่ขจัดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินแต่ละนโยบายของรัฐบาล ช่วยเหลือแต่ละกระทรวงอย่างบูรณาการ

ซึ่งรัฐบาลมองว่า ครม.เศรษฐกิจและพีเอ็มดียู จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้บรรลุผลตามที่ตั้งไว้

Advertisement

แต่ฟากฝ่ายค้านและนักวิชาการบางคน ไม่ค่อยเชื่อฝีมือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาคุมทีมเศรษฐกิจ

ความไม่เชื่อมาจาก ยังเชื่อว่า “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริง และเห็นฝีมือการบริหารงานของรัฐบาลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแล้ว

ย้อนกลับไปสมัยรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือหม่อมอุ๋ย เป็นรองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

Advertisement

บริหารงานได้ระยะหนึ่ง ก็มีเสียงว่า เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น เสียงบ่นเรื่องค่าครองชีพและสินค้าแพง

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวเรื่องความเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ระหว่างทีมเศรษฐกิจ ที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นหัวหน้าทีม กับ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ที่ช่วงนั้นเป็นที่ปรึกษาหัวหน้า คสช.คือ พล.อ.ประยุทธ์

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ปรับ ครม.ใหม่ โดยให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร พ้นตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งทีมเศรษฐกิจของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็ถูกปรับออกแบบยกทีม แล้วให้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่

ช่วงนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรให้สัมภาษณ์ว่า “ถูกจับผิดตลอดเวลา ทำให้หมดแรง ไม่มีความสุข” พร้อมตั้งคำถามว่า “ทำงานแล้วมีที่ปรึกษามาคอยดูงานตลอดเวลา มันก็แปลว่า มันจะถูกหรือผิดใช่ไหม”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังระบุว่า ไม่ชอบวิธีการแบ่งแยกแล้วปกครอง

และตั้งแต่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2558 จนหมดวาระรัฐบาล คสช. รวมเวลาแล้วเกือบ 4 ปี ก็ยังมีเสียงบ่นว่า เศรษฐกิจฐานรากยังมีปัญหา

ถึงรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งยังอัดฉีดเม็ดเงินลงไปในภาคต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งมีโครงการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกกันว่าบัตรคนจน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับบุคคลที่มีรายได้น้อย

แต่ปัญหาค่าครองชีพยังเป็นปัญหาหนักอกของรัฐบาล ที่ยังไม่สามารถทำให้ชาวบ้านพอใจ

จึงต้องดูว่ารัฐบาลผสมที่มีทั้งรัฐมนตรีหน้าเก่าและหน้าใหม่ ซึ่งมีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วม จะทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้จริงหรือไม่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image