โรงเรียนขนาดเล็ก : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

โรงเรียนขนาดเล็กเกิดเป็นประเด็นปัญหาขึ้นมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือแม้แต่เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลเดิม

เหตุเนื่องมาจากความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาไม่ตรงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดการคัดค้านจากผู้มีส่วนได้เสีย และนักคิดทางการศึกษา ต่อมาตรการยุบและควบรวมโรงเรียนเล็กเข้าด้วยกัน

ฝ่ายคัดค้านมองว่าวิธีการดังกล่าวไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะโรงเรียนขนาดเล็กเป็นช่องทางให้เด็กยากจนในชนบทห่างไกลมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา เป็นแหล่งเรียนรู้เคียงคู่กับชุมชนที่ควรจะคงไว้ รัฐต้องดูแลจัดการโดยไม่คิดถึงเรื่องของกำไรขาดทุน

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าโรงเรียนขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วประเทศ ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2561 มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน 14,796 โรงเรียน มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน 2,845 โรงเรียน โรงเรียนในพื้นที่สูง 1,190 โรงเรียน

Advertisement

และโรงเรียนในพื้นที่เกาะแก่ง ห่างไกล 123 โรง การบริหารจัดการให้มีคุณภาพจำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก เป็นภาระด้านงบประมาณของรัฐ

หากยุบและควบรวมโรงเรียนเข้าด้วยกัน โดยคงไว้เฉพาะโรงเรียนที่จำเป็นไม่ควรยุบ ได้แก่ โรงเรียนในพื้นที่สูงและเกาะแก่งห่างไกล ไม่ได้ทำให้ปัญหาการขาดโอกาสและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่กลับทำให้คุณภาพการศึกษาสูงขึ้น

หากคงไว้ตามเดิมทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาการขาดโอกาส และความเหลื่อมล้ำ จะไม่สามารถแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาได้ทั่วถึง เพราะทรัพยากรที่รัฐต้องทุ่มเทลงไป ทั้งอาคารสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ และบุคลากร ครูและผู้บริหาร ไม่เพียงพอ

ดังจะพบว่าโรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหาขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น ครูไม่ตรงสาขาวิชาที่โรงเรียนต้องการ บางแห่งมีครูเกิน เพราะนักเรียนมีจำนวนน้อยเกินไป

ข้อเสนอที่ให้ยุบและควบรวมกับโรงเรียนใกล้เคียงกัน โดยภาครัฐสนับสนุนพาหนะการเดินทาง จึงเป็นทางออกจะทำให้นักเรียนได้เรียนในโรงเรียนที่มีครูเพียงพอ และครบทุกสาระวิชา คุณภาพการศึกษาจะเพิ่มสูงขึ้น

ครับ การพิจารณาเรื่องนี้ จึงต้องย้อนกลับมาตั้งต้นกันใหม่ ถึงแนวคิดพื้นฐานที่มีต่อโรงเรียนขนาดเล็กว่า เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ส่งผลกระทบถึงระบบการศึกษาโดยรวมหรือไม่

หากเห็นว่าไม่เป็นปัญหาก็ปล่อยให้โรงเรียนขนาดเล็กดำรงคงอยู่ตามเดิม หรือเพิ่มขึ้นใหม่อีกเท่าไหร่ก็ตาม เพราะเด็กเกิดน้อยลง นักเรียนน้อยลง รัฐทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างลงไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่คิดถึงความคุ้มทุนใดๆ ทั้งสิ้น

แต่หากมองว่าเป็นปัญหากระทบต่อระบบการศึกษาโดยรวมก็ต้องหาวิธีบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพที่สุด ในขณะที่การคมนาคม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาขึ้นตามลำดับ เป็นเครื่องมือช่วยแก้ไขปัญหาให้ลดลงได้

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีทั้งสองด้าน คือ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส เข้าไม่ถึงการศึกษา กับความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพ โรงเรียนคุณภาพไม่เท่าเทียมกัน

การดำรงอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำประการแรกคือการขาดโอกาสได้ก็ตาม แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพได้ทั่วถึง เพราะการจัดสรรทรัพยากรไม่เหมาะสม เพียงพอ นั่นเอง

การแก้ปัญหาจึงต้องดำเนินการอย่างจำแนกแยกแยะ ไม่เหมารวมใช้วิธีการเดียวเหมือนกันหมดทั้งประเทศ โรงเรียนที่ควรยุบ ควบรวมก็ดำเนินการ ขณะที่โรงเรียนที่จำเป็นต้องคงไว้ก็ให้อยู่ต่อไป โดยรับฟังความคิดเห็น ความต้องการจำเป็นของชุมชน

เหตุที่การแก้ไขปัญหานี้ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพราะขาดความต่อเนื่อง ขาดความชัดเจนทางนโยบาย เกรงผลกระทบทางการเมือง ฐานเสียง คะแนนนิยม

มาถึงรัฐบาลปัจจุบัน นโยบายที่เกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็กปรากฏอยู่ในข้อที่ 8.6.3 ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความว่า “จัดระบบโรงเรียนพี่เลี้ยง จับคู่ระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพการศึกษาดีกับโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และการส่งเสริมให้ภาคเอกชน ชุมชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการศึกษาในพื้นที่ สนับสนุนเด็กที่มีความสามารถแต่ไม่มีทุนทรัพย์เป็นกรณีพิเศษ”

เขียนไว้กว้างๆ แค่ว่า จัดระบบโรงเรียนพี่เลี้ยง จับคู่กับโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ

เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดคำถามและตีความว่า ไปไกลถึงขั้น ยุบหรือควบรวม โรงเรียนที่ควรยุบ และคงไว้สำหรับโรงเรียนที่ไม่ควรยุบ หรือไม่

การเขียนนโยบายแบบไม่ผูกมัด ชัดเจน จะทำให้การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กมีสภาพไม่แตกต่างไปจากทุกรัฐบาลที่ผ่านมา อีกเช่นเคยอย่างแน่นอน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image