บทนำ ประจำวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2562 : บรรทัดฐาน

รัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นรัฐบาลชุดที่เกิดขึ้นภายหลังจากมีการรัฐประหารยึดอำนาจ โดยเหตุผลในการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 คือ ต้องการระงับข้อขัดแย้งที่อาจจะบานปลายจนเกิดการสูญเสีย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะที่เป็นหัวหน้า คสช. กล่าวหาตำหนินักการเมืองไปในทางลบ โดยเฉพาะเรื่องของจริยธรรมและความสุจริต กระทั่งกลไกของ คสช. หรือที่เรียกกันว่าแม่น้ำ 5 สาย พยายามสร้างกฎระเบียบเพื่อพิทักษ์คนดี และสกัดกั้นคนไม่ดีไม่ให้เข้าสู่ระบบการเมือง โดยหลักใหญ่ของกฎหมายที่ทำหน้าที่ดังกล่าวคือรัฐธรรมนูญที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานร่างรัฐธรรมนูญภูมิใจที่ร่างขึ้นมาเพื่อ “ปราบทุจริต”

ภายหลังจากการเลือกตั้งปี 2562 ผ่านพ้น ได้พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลผสม 19 พรรค พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯอีกครั้ง แต่ในการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวคำปฏิญาณตนไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ กลายเป็นปัญหาความชอบธรรม ซึ่งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับความบกพร่องและพร้อมจะหาทางแก้ไข พร้อมยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะทำผิด จึงต้องรอดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะใช้วิธีการใดในการแก้ไข เพื่อให้รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญสามารถขับเคลื่อนประเทศต่อไปข้างหน้าได้โดยไร้ข้อกังขาเรื่องความชอบธรรม

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสนามฟุตซอลที่จังหวัดนครราชสีมา และชี้มูลความผิดในคดีสร้างโรงพักทั่วประเทศไม่เสร็จ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถูกกล่าวหาในคดีที่ ป.ป.ช.แถลงชี้มูลด้วย ซึ่งคดีเหล่านี้ ป.ป.ช.จะนำส่งอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องร้องดำเนินการต่อไป กลายเป็นข้อสงสัยว่าในขณะที่คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมสถานภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นจะเป็นเช่นไร หากพิจารณาในข้อกฎหมายย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติ แต่หากข้อกฎหมายไม่ได้บัญญัติ พรรคการเมืองและสภาผู้แทนราษฎรจะมีบรรทัดฐานใดที่จะรักษาภาพลักษณ์ของนักการเมืองไม่ให้ถูกตำหนิเหมือนกับที่เคยถูก คสช. ตำหนิ

ทั้งนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรี เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสมาชิก ล้วนแล้วแต่มีข้อเรียกร้องจากสังคมก่อนหน้านี้ว่าอยากเห็น “คนดี” ไร้ที่ติเข้าไปบริหารประเทศ ทั้งฝ่ายที่บริหารราชการแผ่นดิน และฝ่ายที่ออกกฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ต้องมีมาตรฐานที่เหนือกว่าปกติธรรมดา ขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องแสดงให้สังคมได้เห็นแล้วว่า การที่นายกรัฐมนตรีกระทำผิดไปจากรัฐธรรมนูญ และการที่ ส.ส.ถูกกล่าวหาในข้อหาที่ฉกรรจ์จาก ป.ป.ช. ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีปฏิกิริยาสนองตอบสนองเช่นไร และทุกอย่างที่ปรากฏจะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไปหรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image