ครูสามเส้า

สิ่งหนึ่งที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กคือเราจะมีความรู้ได้เราต้องไปโรงเรียน โรงเรียนและห้องเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ คุณครูเป็นผู้ให้ความรู้ แต่ในปัจจุบันการมองว่าแหล่งเรียนรู้หรือการจัดการเรียนรู้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนหรือสถานศึกษาแต่เพียงอย่างเดียว คงจะเป็นการมองที่ผิวเผินเกินไปโดยเฉพาะในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับวินาที มีชุดข้อมูลความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา โลกในยุคนี้จึงต้องการคนที่ไม่ได้มีแต่เพียงความรู้ แต่ต้องมีทักษะต่างๆ โดยเฉพาะทักษะในการปรับตัว การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st-Century Skill)” และในขณะเดียวกันเราก็ยังต้องการให้ลูกหลานของเรารัก เห็นความสำคัญและรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองไว้ คำถามคือการเรียนรู้แบบใดจึงจะสามารถตอบโจทย์สถานการณ์ดังกล่าวได้ ? ความรู้จากครูและโรงเรียนเพียงอย่างเดียวนั้นเพียงพอต่อความท้าทายดังกล่าวหรือไม่ ?

จังหวัดสตูลเป็นพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัดในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาสำหรับคนสตูล ได้พัฒนาและผลักดันการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ “โครงงานฐานวิจัย (Research Based Learning)” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และขับเคลื่อนผลักดันจนเกิดเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทั้งนี้รูปแบบ “โครงงานฐานวิจัย” ประกอบด้วย 5 หน่วย ได้แก่ หน่วยได้เรื่อง หน่วยโครงงาน หน่วยข้อมูล หน่วยทางเลือกใหม่ปฏิบัติการ และหน่วยสรุป แต่ละหน่วยประกอบด้วยขั้นตอนย่อย 14 ขั้นตอน ได้แก่ 1) เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว 2) วิเคราะห์ เลือกเรื่อง 3) พัฒนาเป็นโจทย์วิจัย 4) ออกแบบเป็นงานวิจัย 5) นำเสนอโครงงานวิจัย 6) สร้างเครื่องมือ 7) ลงพื้นที่เก็บข้อมูล 8) ตรวจสอบ วิเคราะห์ 9) คืนข้อมูลชุมชน 10) กำหนดทางเลือกใหม่ 11) แผนปฏิบัติการ 12) ทดลองปฏิบัติการ 13) รายงาน และ 14) นำเสนอผลงานวิจัย ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยนำขั้นตอนและกระบวนการวิจัยมาเป็นกระบวนการหลักในการจัดการเรียนรู้ เริ่มต้นจากการให้เด็กได้เรียนรู้จากเรื่องใกล้ตัว ทำความรู้จักชุมชน สำรวจชุมชนผ่านเครื่องมือต่างๆ (Social mapping) เก็บข้อมูลทุนชุมชน 5 ทุน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนเงินตรา ทุนทรัพยากร ทุนวัฒนธรรม และทุนภูมิปัญญา จากนั้นจึงนำประเด็นหรือสิ่งที่ค้นพบมาพัฒนาเป็นโจทย์วิจัย เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมสำหรับการพัฒนาหรือแก้ปัญหาในโรงเรียนและชุมชนได้ เราจึงเห็นได้ว่ากระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวจะอาศัยครูในโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ จึงจำเป็นที่ผู้ปกครองและชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และพัฒนาเป็นแนวคิดนวัตกรรมที่สำคัญขึ้นอีกหนึ่งแนวคิดในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ซึ่งได้แก่ “ครูสามเส้า”

“ครูสามเส้า” เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นและดำเนินการควบคู่ไปกับกระบวนการโครงงานฐานวิจัย ซึ่งมองว่า หัวใจสำคัญของการเรียนรู้ของเด็กต้องประกอบไปด้วยครูจากสามส่วนหรือสูตร 30-30-40 ซึ่งประกอบด้วย ครูในโรงเรียน ครูชุมชน และครูพ่อแม่ โดยเริ่มจาก ครูในโรงเรียน ทำหน้าที่เป็นผู้วางแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามขั้นตอนโครงงานฐานวิจัย

ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมสำหรับเด็กนักเรียน พานักเรียนลงพื้นที่สำรวจชุมชนเพื่อค้นหาประเด็นที่เด็กสนใจ และนำไปสู่การพัฒนาเป็นโจทย์วิจัย มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กเปรียบเสมือนโค้ชที่ช่วยให้คำแนะนำและตั้งคำถาม รวมถึงการประเมินพัฒนาการของเด็กในชั้นเรียน นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการเชื่อมโยงครูอีก 2 เส้า ซึ่งได้แก่ครูในชุมชนและครูพ่อแม่เข้ามาร่วมสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็กนักเรียนอีกด้วย

Advertisement

ครูชุมชน เป็นผู้ที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก เป็นแหล่งการเรียนรู้ในด้านของภูมิปัญญาและสิ่งแวดล้อม เช่น อุทยานแห่งชาติฯ สวนยาง วัด มัสยิด รวมทั้งปราชญ์ชุมชนซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์สั่งสมความรู้มายาวนาน ก็มาช่วยถ่ายทอด ส่งต่อองค์ความรู้ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยแนวคิดการให้ความสำคัญกับชุมชนและการดึงคนในชุมชนมาร่วมสร้างการเรียนรู้กับเด็กนักเรียนนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Learning : CBL) เป็นการบูรณาการเนื้อหาตามหลักสูตรให้เชื่อมโยงกับชุมชน ให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ได้ลงพื้นที่เพื่อฝึกทักษะการแก้ปัญหาจากสถานการณ์ที่พบจริงในชุมชน การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีในการแก้ปัญหาได้อย่างหลากหลาย เป็นการเรียนที่กระตุ้นและท้าทายความสามารถของผู้เรียนให้มีความสามารถด้านการคิดและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์งานจากสถานการณ์จริงในชุมชน

และส่วนสุดท้ายคือ ครูพ่อแม่ หรือ ครูผู้ปกครอง เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ จากเดิมพ่อแม่มองว่าการศึกษาเป็นหน้าที่ของครูในโรงเรียนเพียงอย่างเดียว พ่อแม่หลายคนทำงานและปล่อยปละละเลยลูก ครั้งนี้พ่อแม่ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่ มองว่าตนเองมีบทบาทสำคัญในการช่วยเสริมสร้างทักษะและความรู้พื้นฐานให้กับบุตรหลานของตนเองได้ผ่านการอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมกับลูก สอนการบ้านลูก การให้เวลาและความใส่ใจกับลูกหลานเช่นนี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์กับเด็กมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล พ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถเข้ามาร่วมออกแบบกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ตามความสนใจของบุตรหลานได้ เช่น ดนตรี กีฬา งานบ้านหรืองานฝีมือ ซึ่งมีผลการศึกษาจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่ดีและการที่พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของเด็กจะช่วยให้เด็กมีผลการเรียนรู้ มีพฤติกรรมและทักษะทางสังคมที่ดีมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เราอาจเพิ่มอาวุธหรือเสริมศักยภาพให้กับครูสามเส้าผ่านการใช้เครื่องมืออย่าง “ครูดิจิทัล” หรือ “ครูออนไลน์” เข้ามาช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กหรือบุตรหลานของตนได้ ซึ่งในปัจจุบันแหล่งการเรียนรู้ดิจิทัลนี้ถือเป็นแหล่งการเรียนรู้ขนาดใหญ่ที่มีความรู้หลากหลาย ถ้าหากเด็กมีอุปกรณ์ก็จะสามารถเข้าถึงความรู้ได้ด้วยตนเองจากทุกที่และทุกเวลา ทั้งนี้ การใช้เครื่องมือดิจิทัลจะเป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเมื่อเด็กใช้เครื่องมือดิจิทัลสำหรับการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการพูดคุยและตั้งคำถามจากครูหรือพ่อแม่ นอกจากนี้ครูในโรงเรียนยังสามารถนำมาเป็นเครื่องมือสื่อการสอน หรือนำมาใช้เก็บข้อมูลสำหรับการประเมินพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กทั้งในและนอกห้องเรียน แม้กระทั่งนำมาเป็นเครื่องมือสำหรับสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ และการทำงานร่วมกันของครูสามเส้าได้อีกด้วย

จากแนวคิดนวัตกรรม “ครูสามเส้า” ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเป็นแนวคิดที่มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชนและสังคม การให้ความสำคัญกับคนทุกคน ไม่ใช่แค่เพียงมีส่วนร่วมแต่เป็นการทำให้คนทุกคนเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของการศึกษาที่ขาดไม่ได้ ที่สำคัญที่สุดคือการทำให้เด็กได้เห็นว่าการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่และตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ “สร้างการเรียนรู้ได้อย่างยั่งยืน” ได้อย่างแท้จริง และสุดท้ายแล้วเราจะพบว่าการเรียนรู้นั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเสมอไป

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
ดานา โมหะหมัดรักษาผล

ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image