สถานีคิดเลขที่ 12 : ฮ่องกงจะจบอย่างไร

การประท้วงของชาวฮ่องกงส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมจำนวนมากที่สนามบินนานาชาติฮ่องกงจนปั่นป่วนตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้ น่าจะทำให้หลายๆ คนนึกถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง เมื่อ 11 ปีก่อน

แต่กระแสที่ถกเถียงกันในโลกออนไลน์ กลับกลายเป็นว่า บรรดาคนดังที่เคยสนับสนุนการประท้วงที่สุวรรณภูมิ มีมุมมองด้านลบกับการประท้วงที่สนามบินฮ่องกง

ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะการชุมนุมของไทยเมื่อปี 2551 กับของฮ่องกงปี 2562 นั้นต่างกัน ทั้งด้านเนื้อหา กระบวนการ และเป้าหมาย

แม้ใช้คำว่า ยึดสนามบิน เหมือนกัน แต่ก็มีข้อโต้เถียงจากสมาชิกแกนนำพันธมิตรว่า สมัยปี 2551 ไม่ใช่การยึดสนามบิน แค่ไปดักรอนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่การท่าอากาศยานเป็นฝ่ายปิดสนามบินเอง

Advertisement

มาดูกรณีฮ่องกง ผู้ชุมนุมที่ไปก็ไม่ได้เป็นคนสั่งปิดสนามบินเช่นกัน ฝ่ายที่ตัดสินใจปิดสนามบินคือการท่าอากาศยานเหมือนกัน เพราะเห็นว่าสถานการณ์กระทบต่อการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัย

ข้อสังเกตความแตกต่างก็คือ ผู้ชุมนุมฮ่องกงไม่มีแกนนำ ไม่มีผู้นำความคิดคนดัง ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งหลายๆ คนให้สัมภาษณ์ว่าถ้าไม่ประท้วงตอนนี้ ต่อไปก็อาจไม่มีโอกาสรักษาสิทธิและเสรีภาพของการเป็นพลเมืองฮ่องกงได้อีก

และนั่นคืออนาคตของพวกเขา

Advertisement

ผู้ประท้วงกลุ่มนี้แสดงตนชัดเจนไม่อ้อมค้อมแบบของไทย ว่าต้องการขัดขวางการบินของสนามบินที่มีผู้โดยสารหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างจริงจังในการกดดันรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการต่อต้านการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เพราะการท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่ทำรายได้ให้กับฮ่องกง คิดเป็นร้อยละ 5 ของจีดีพี เฉพาะคนจีนมาเที่ยวฮ่องกงช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. ก็สูงถึง 27 ล้านคนแล้ว

หากรวมการค้าขายอื่นๆ หรือปิดสนามบินที่กระทบต่อทุกสายการบินทั้งขาเข้าและขาออก ความเสียหายนี้ล้วนพอกพูนขึ้นทุกวัน

คำถามยอดฮิตในสถานการณ์นี้ คือมันจะจบอย่างไร หลังการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มต้นด้วยการเรียกร้องให้ถอนร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนผ่านมานานเกิน 2 เดือน ยังไม่มีใครยอมใคร

ยิ่งเมื่อรัฐบาลจีนส่งสัญญาณเตือน (เชิงขู่) ผู้ชุมนุมในฮ่องกงหลายครั้ง ก็ยิ่งเหมือนแรงผลักให้เกิดการต่อต้านมากขึ้น

ยิ่งตำรวจยกระดับความรุนแรงมากขึ้น การต่อต้านก็ยิ่งลุกลาม

มีนักวิเคราะห์ฝรั่งมองว่า การประท้วงอาจยืดเยื้อไปได้อีกเดือน แต่ทุกอย่างน่าจะต้องจบก่อนวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันชาติจีน

ยิ่งปีนี้เป็นวาระพิเศษเลขสวย ครบรอบ 70 ปี การก่อตั้งประเทศที่ปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ ยิ่งน่าระทึก

คำถามฮิตต่อมาว่า รัฐบาลฮ่องกงจะถอนร่างกฎหมายตัวปัญหาออกไปอย่างเด็ดขาดตามที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องโดยไม่ต้องรอไฟเขียวจากรัฐบาลจีนได้หรือไม่ ยังคงไม่ได้รับคำตอบ

ทั้งที่การยอมรับความผิดพลาดแล้วแก้ไข เป็นวิธีที่ง่าย แต่ผู้มีอำนาจมักไม่เลือก

ข้อติดขัดนี้ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นเฉพาะฮ่องกงเสียด้วย

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image