เรื่องไม่เป็นเรื่อง : วีรพงษ์ รามางกูร

อุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นได้เสมอถ้าไม่ระมัดระวังให้ดีพอ แม้จะระมัดระวังอย่างไร
ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ และเรื่องที่เกิดก็มักจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็อาจลุกลามบานปลายกลายเป็นประเด็นทางการเมือง ถึงขั้นผู้นำทางการเมืองอาจจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปไม่ได้ ต้องรับผิดชอบ

กรณีเรื่องการเข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินที่นายกรัฐมนตรีต้องกล่าวนำคณะรัฐมนตรี ด้วยถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เป็นฉบับไหนก็เหมือนกัน เพราะลอกแบบกันมาเป็นทอดๆ จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่มีใครคิดว่าจะเป็นเรื่องเป็นราว

เมื่อนายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยคำไม่ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมีปัญหาว่าคณะรัฐมนตรีจะสามารถเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้หรือไม่ เพราะด้วยถ้อยคำปฏิญาณไม่สมบูรณ์ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ จะเป็นด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ จะอ้างว่าไม่มีเจตนาที่จะไม่กล่าวปฏิญาณให้ครบถ้วน เพราะการกล่าวหรือไม่กล่าวปฏิญาณให้ครบถ้วนไม่ต้องการเจตนา การกระทำหรือไม่กระทำย่อมเห็นเป็นการแสดงเจตนาอยู่ในตัวอยู่แล้ว

การถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรีก่อนเข้ารับหน้าที่ต่อองค์พระประมุข องค์อธิปัตย์ ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทยผ่านทางสภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรีและศาล ผู้ใช้อำนาจดังกล่าวจึงต้องกล่าวคำปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน อีกทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

Advertisement

ประโยคที่ละเลยไม่กล่าวปฏิญาณเป็นประโยคที่สำคัญ เพราะเท่ากับไม่รับรองต่อองค์พระประมุขว่าจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ที่ว่าสำคัญก็เพราะรัฐธรรมนูญเป็นที่ก่อเกิดขององค์กรการเมืองต่างๆ ของรัฐ รูปแบบของรัฐ รูปแบบและระบอบการปกครอง รูปแบบของรัฐบาล รัฐสภาและศาลสถิตยุติธรรมและศาลอื่นๆ

การยืนยันของคณะรัฐมนตรีต่อพระประมุขผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย จึงเท่ากับเป็นการปฏิญาณยืนยันต่อประชาชนว่าจะดำรงรักษาไว้และปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

การปฏิญาณตนก่อนเข้าทำหน้าที่ต่อพระมหากษัตริย์จึงเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ ต้องตั้งใจทำอย่างหนักแน่น จริงจัง หรือที่ภาษาฝรั่งว่า solemnly ไม่ใช่ทำเล่นๆ ไม่จริงจัง ไม่ถือว่าเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์และจริงจัง ทั้งมีผลตามกฎหมาย เพราะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญของปวงชนชาวไทยทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคณะรัฐมนตรีเท่านั้น และอาจจะรวมถึงผู้คนที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยทั้งหมด ต้องปฏิบัติและรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

Advertisement

การละเว้นไม่กล่าวคำปฏิญาณให้ครบ ย่อมตีความได้ว่าตั้งใจละเว้น ไม่กล่าวให้ครบเพราะไม่ประสงค์จะยืนยันต่อองค์พระประมุขและปวงชนชาวไทย ว่าตนจะปฏิบัติตามบทบัญญัติและรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือไม่ก็เผลอเรอ ประมาทเลินเล่อ ทำเป็นเรื่องเล่นๆ เพราะไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ต้องทำอย่างจริงจังก็ได้ ทำให้จบๆ ไปดังที่เห็นนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “จบๆ ได้แล้ว” ตนไม่ต้องทำอะไร

เมื่อถูกกระแสสังคมกดดันมากๆ เข้า นายกรัฐมนตรีจึงออกมากล่าวรับว่าตนได้กระทำผิดและยกเอาคำกล่าวของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว” แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าจะไม่ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี จะขออยู่ทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป แล้วจะรับผิดชอบต่อความผิดเช่นว่านี้อย่างไร

การที่ผู้นำรัฐบาลกล่าวยอมรับผิดกับสาธารณชน พร้อมกับกล่าวขอรับผิดชอบแทนคณะรัฐมนตรีแต่ผู้เดียว เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะทำได้ ความผิดเช่นว่าเป็นความผิดของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคน ดังจะเห็นได้ว่ารัฐมนตรีทุกคนไม่กล้าลงนามสั่งการอะไร เพราะไม่แน่ใจว่าตนมีอำนาจเช่นว่าในฐานะนายกรัฐมนตรีและหรือรัฐมนตรีหรือไม่ ถ้า “นิติรัฐ” “rule of law” ยังเป็นที่ยึดถือกันอยู่ในประเทศนี้

อยากจะยืนยันหรือไม่ยืนยันก็ได้ว่าตนจะรักษาระบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ สถาบันการเมืองต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญตนจะพิทักษ์รักษาไว้หรือไม่ เพราะเมื่อมีการทำปฏิวัติรัฐประหาร สถาบันการเมืองก็ได้ถูกล้มล้างไปทั้งหมดพร้อมๆ กับรัฐธรรมนูญ

ในกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มีผู้ถ่ายภาพไว้จากการถ่ายทอดสดและขยายภาพออกดู จึงพบว่านายกรัฐมนตรีเตรียมการเขียนคำปฏิญาณในแผ่นกระดาษแข็งมาก่อน ในแผ่นที่เขียนเตรียมการไว้เพื่ออ่านหรือท่องจำไว้ในการถวายสัตย์ปฏิญาณก็ไม่มีข้อความที่ว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

หากเป็นการเตรียมการมาตั้งแต่ต้นก็เท่ากับจงใจละเมิด ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรใน พ.ศ.2560 มาตรา 161 ซึ่งคณะรัฐมนตรี พนักงานของรัฐและฝ่ายต่างๆ รวมทั้งประชาชนไทยทุกคนต้องปฏิบัติตาม จะฝ่าฝืนมิได้ แม้ว่าจะไม่บัญญัติกำหนดโทษทางอาญาไว้ก็ตาม

รองนายกรัฐมนตรีผู้เขียนตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญก็พูดไม่ออก บอกไม่ได้ว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีถูกต้องสมบูรณ์หรือไม่ จวบจนนายกรัฐมนตรีออกมาสารภาพและขอโทษต่อคณะรัฐมนตรีว่า “ตนทำผิด” ประเด็นที่ว่านายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณถูกต้องหรือไม่ก็เป็นอันยุติว่ากระทำผิด

เมื่อเป็นที่ยุติแล้วว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทำผิด ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐมนตรี การกระทำผิดย่อมเป็นผลตามกฎหมาย และเมื่อนายกรัฐมนตรียอมรับผิด แม้จะยอมรับผิดแต่ผู้เดียว แทนผู้อื่นด้วยคงไม่ได้ เพราะความผิดยอมรับผิดแทนกันไม่ได้ ผลก็คือนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรียังเข้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ คณะรัฐมนตรีที่กระทำการใดในระหว่างนั้นก็ย่อมเป็นโมฆะ ไม่มีผลอื่น ทำไปก็อาจจะเป็นการทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และอาจจะมีการร้องเรียนได้

แต่โดยหลักกฎหมายและหลักการปกครองประเทศ “รัฐ” จะขาดเสียซึ่งรัฐบาลไม่ได้ เพราะรัฐบาลเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเป็น “รัฐ” ดังนั้นรัฐบาลเก่าก่อนการเลือกตั้งจะยังคงอยู่ เพราะคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ยังไม่อาจจะเข้ารับหน้าที่ได้

แต่เรื่องมารยาทประเพณีปฏิบัติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามีความรีบด่วนซึ่งถ้าไม่รีบปฏิบัติจะเสียหายต่อการบริหารราชการและเศรษฐกิจของชาติ หรือเกิดภัยพิบัติแก่ประชาชน เป็นต้น

ปัญหาเรื่องความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรีนั้น คำถามแรกก็คือความรับผิดชอบต่อผู้ใด คงไม่ใช่ความรับผิดชอบต่อประชาชนแน่ เพราะตนไม่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรง ตนได้รับแต่งตั้งมาจากรัฐสภาซึ่งส่วนหนึ่งของรัฐสภาคือวุฒิสภา ทั้งหมดจำนวน 250 คน ซึ่งตนเป็นผู้แต่งตั้งและมีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของรัฐสภา เท่ากับตนเลือกตั้งตนเองด้วยเสียงจากผู้ที่ตนแต่งตั้งเอง 250 คน ต้องการเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ตนดูถูกเหยียดหยาม ไม่เคยเห็นคุณค่าในฐานะเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ไม่เหมือนกับสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นผู้แทนของตนเอง ความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีก็ควรจะมีต่อวุฒิสภาเท่านั้นเอง ไม่ใช่ต่อรัฐสภาทั้งหมด

หลายคนคิดว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ใช่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม free and fair เป็นการเลือกตั้งที่รู้อยู่แล้วว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีทางสู้ฝ่ายสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารที่ทำการปฏิวัติรัฐประหารได้ ความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อประชาชนจึงไม่มี การอยู่ในอำนาจและสืบทอดอำนาจที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับคะแนนเสียงไม่ถึง 70,000 คะแนนเสียงอันเป็นเสียงขั้นต่ำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ แต่ด้วยความไม่มี “กระดูกสันหลัง” ขององค์กรทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับขบวนการยุติธรรม

รวมทั้งนักกฎหมายในคณะรัฐมนตรีและนักกฎหมายฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต่างพากันทรยศต่อวิชาชีพของตน ยอมเป็นทาสรับใช้อำนาจเผด็จการทหาร ไม่แน่นักว่าทหารที่ยังประจำการอยู่จะเห็นด้วยกับการดำรงอยู่ในอำนาจทางการเมืองหรือไม่

การที่ทหารเข้าทำการยึดอำนาจ สถาปนาตนเองขึ้นครองอำนาจทางการเมืองและพยายามรักษาไว้ซึ่งอำนาจทางการเมือง ทหารเหล่านั้นก็กลายเป็นนักการเมืองไปแล้ว แต่เป็นนักการเมืองจากการสถาปนาตนเอง ไม่เหมือนนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่แสวงหาความนิยมให้ได้มาเพื่อการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้งและความเห็นชอบจากประชาชน

การกล่าวประณามดูหมิ่นเหยียดหยามนักการเมืองนอกจากจะเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามประชาชนแล้ว ยังเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามตนเอง โดยประชาชนไม่ต้องรับผิดชอบด้วย

การเมืองประชาธิปไตยจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างไร ประชาชนยินดีน้อมรับ เพราะเราเป็นผู้เลือกเขาเข้ามาเอง และนักการเมืองเหล่านั้นกระทำในนามของพวกเราประชาชน ถ้าเราได้นักการเมืองไม่ดีมาปกครองประเทศก็เพราะเราไม่ดีเอง ตามหลัก “ประชาชนเป็นอย่างไรก็ได้รัฐบาลอย่างนั้น” สำหรับรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการทหารหรือรัฐบาลที่สืบทอดเผด็จการทหาร

แม้ว่าในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นอย่างไรก็จะได้รัฐบาลอย่างนั้น แต่ประชาชนสามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลได้ องค์กรอิสระตรวจสอบรัฐบาลได้ ต่างกับรัฐบาลเผด็จการทหารหรือรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร องค์กรอิสระทั้งหลายคณะเผด็จการทหารเป็นผู้แต่งตั้งเอาไว้เองทั้งสิ้น ความรู้สึกว่าตนต้องรับผิดชอบต่อประชาชนจึงไม่มี มีแต่ความรู้สึกว่าตนต้องรับผิดชอบต่อผู้แต่งตั้งตน จึงไม่ต้องสนใจว่าต้องรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ เพราะรัฐธรรมนูญตนก็เป็นคนเขียนเอง จะฉีกทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้

คำปฏิญาณจึงไม่ต้องมีประโยคนี้ก็ได้

เกาะติดการเมือง กับ Line@มติชนการเมือง

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image