บทนำ ประจำวันพุธที่ 21 สิงหาคม 2562 : ประชาธิปไตยกับรธน.

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต บรรยายพิเศษในการสัมมนาของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ตอนหนึ่ง กล่าวถึงรัฐธรรมนูญว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ว่า ขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามประชาธิปไตยว่าอย่างไร เวลานี้นักวิชาการก็นิยามไม่เหมือนกัน ยังถกเถียงกันอยู่ แต่ที่พูดกันมากก็คือหมายถึงการบริหารงานหรือการดำเนินการอะไรก็ได้เพื่อประชาชน ถ้าให้ดีก็คือโดยประชาชนด้วย

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ถ้าถามเรื่องประชาธิปไตยก็จะมีเกณฑ์หลักๆ คือ 1.อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน 2.มีการเลือกตั้งเป็นระยะและเป็นการเลือกตั้งที่ฟรีแอนด์แฟร์ 3.ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเสมอภาค 4.พรรคการเมืองมีหลายพรรค ถ้าดู 4 ข้อนี้ เมืองไทยก็เป็นประชาธิปไตย แต่ที่เถียงกันอยู่ในขณะนี้มีประเด็นอื่นเข้ามาพัวพัน อย่างฝ่ายค้านก็บอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญเขียนขึ้นมาเพื่อเอื้อคนกลุ่มหนึ่ง แต่ฝ่ายรัฐบาลก็บอกว่าถ้าไม่เป็นประชาธิปไตยทำไมฝ่ายค้านจึงได้เสียงในการเลือกตั้งมาก ซึ่งคิดว่าถ้าเราประเมินด้วยเกณฑ์ขั้นต่ำมันก็เป็นประชาธิปไตย แต่ถามว่ามันเป็นประชาธิปไตยที่ควรเป็นแบบอย่างหรือไม่มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ น่าจะพิจารณาจากกระบวนการยกร่างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนจะต้องมีส่วนในกระบวนการยกร่าง มิใช่มาจากการแต่งตั้งของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชน เมื่อประชาชนมีส่วนในการยกร่าง เนื้อหาของรัฐธรรมนูญจะสอดคล้องและสะท้อนเจตนารมณ์และความคิดความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ มิใช่เอื้อเพื่อบุคคลบางกลุ่ม มีบทเฉพาะกาลเพื่อผลทางการเมืองบางประการ จนนำไปกล่าวได้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา

ที่น่าสนใจก็คือประเด็นที่ว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ทำไมฝ่ายค้านได้เสียงในการเลือกตั้งมาก ตรรกะของประเด็นนี้ก็คือ รัฐธรรมนูญออกแบบมาให้ฝ่ายค้านได้เสียงน้อยลง แม้ประชาชนสนับสนุนจำนวนมาก ขณะที่บางพรรคได้เสียงไม่ถึงเกณฑ์กลับได้เป็น ส.ส. แม้กระนั้น ฝ่ายค้านก็ยังได้เสียงจำนวนมาก เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญไม่สะท้อนเจตนารมณ์หรือความต้องการของประชาชน ซึ่งเท่ากับไม่เป็นประชาธิปไตยนั่นเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image