ออง ซาน ซูจี : ผู้นำล่องหนกับยักษ์จินนี่ (ตอนจบ) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

เมื่อไม่นานมานี้ มีกระแสในสื่อระดับโลกหลายแห่งที่กลับมาถามถึงบทบาทของออง ซาน ซูจี ในการเมืองของพม่า มีบทความในทำนองว่า “เกิดอะไรขึ้นกับออง ซาน ซูจี?” ตั้งคำถามว่าอะไรที่ทำให้ภาพลักษณ์ของเธอเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในสายตาของประชาคมโลก จากวีรสตรีเพื่อประชาธิปไตย ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ไปเป็นนักการเมืองผู้เพิกเฉยต่อความอยุติธรรม และเป็นเพียงอดีตผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในวงวิชาการ บทบาทการเปลี่ยนผ่าน และความเปลี่ยนแปลงในเชิงสัญลักษณ์ของเธอเป็นปมปัญหาของผู้คนทั่วโลก แต่กลับไม่เป็นปัญหาสำหรับชาวพม่า โดยเฉพาะชาวพุทธ ที่ยังสนับสนุนเธอไม่เสื่อมคลาย

ในแวดวงวิชาการ คำถามที่ถามถึงความเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ บทบาททางการเมือง และความคิดของซูจีกลับมามีบทบาทอีกครั้ง เมื่อปีที่แล้วฮันส์-แบร์นด เซิลเนอร์ (Hans-Bernd Zöllner) ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าศึกษา และโรดิออน เอบบิคเฮาเซ่น (Rodion Ebbighausen) นักข่าวแห่งสำนักข่าว DW จากเยอรมนี ร่วมกันตั้งคำถามถึงบทบาททางการเมืองของออง ซาน ซูจี โดยเริ่มจากข้อถกเถียงว่าด้วยบทบาทของเธอท่ามกลางวิกฤตการณ์โรฮีนจาที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2015 ในหนังสือชื่อ The Daughter: A Political Biography of Aung San Suu Kyi…From her roots to her role in the Rohingya Crisis (บุตรสาว: ชีวประวัติทางการเมืองของออง ซาน ซูจี ตั้งแต่รากเหง้าถึงบทบาทของเธอในวิกฤตการณ์โรฮีนจา) จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Silkworm Books

อาจกล่าวได้ว่าข้อเขียนของผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันทั้งสองนี้ฉีกแนวออกไปจากข้อเขียนในเชิงวิชาการและสื่อสารมวลชนอื่นๆ ที่เคยมีมา เพราะทั้งสองมองว่าเราจำเป็นต้องมองการเมืองในพม่าในฐานะ “เรียลโพลิติก” (Realpolitik) หรือการเมืองล้วนๆ และย้ำว่าการเกิดขึ้นมาของออง ซาน ซูจี ทั้งในฐานะไอคอน-ไอดอลของฝ่ายประชาธิปไตย และการที่ทั่วโลกต่างรุมประณามเธอ เพราะมองว่าเธอไม่สามารถปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างที่นานาชาติคาดหวัง ล้วนแต่เป็นประเด็นทางการเมือง ผู้เขียนมีความเห็นสอดคล้องกับทั้งเซิลเนอร์และเอบบิคเฮาเซ่นว่าไม่ว่าเราจะชื่นชอบออง ซาน ซูจี หรือไม่ ไม่ว่าเราจะ “อิน” กับวิกฤตการณ์โรฮีนจา หรือประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ อย่างไร แต่เราไม่ควรลืมว่าปัญหา หรือ “ยักษ์จินนี่” ที่แท้จริงที่คอยร่ายมนต์กำหนดทิศทางการเมืองของพม่านั้นยังเป็นกองทัพพม่า ภายใต้การนำของพลเอกมิน อ่อง หล่าย

สำหรับข้อถกเถียงเรื่องบทบาทของออง ซาน ซูจี ท่ามกลางความขัดแย้งในวิกฤตการณ์โรฮีนจานั้น เซิลเนอร์และเอบบิคเฮาเซ่นเปรียบเทียบให้เห็นว่าเรื่องเล่ามี 2 เวอร์ชั่นหลัก หากเปรียบกับละครเวที ละครเวอร์ชั่นแรกที่มีผู้กำกับชาวตะวันตกก็จะขับเน้นความหดหู่สิ้นหวัง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้อพยพชาวโรฮีนจาเป็นหลัก บทละครเวอร์ชั่นนี้แทบไม่เคยกล่าวถึงบทบาทของกองกำลังติดอาวุธโรฮีนจา หรือกลุ่ม ARSA (Arakan Rohingya Salvation Army) และแน่นอนเรื่องเล่านี้พยายามสร้างให้ออง ซาน ซูจี เป็นวีรสตรีตกอับ (fallen hero) ผลักเธอไปเป็นศัตรูของฝ่ายสนับสนุนสิทธิมนุษยชน ขนาดมีการรณรงค์ให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลถอดถอนรางวัลโนเบลจากเธอ ซูจีกลายเป็นตัวละครอย่างเลดี้ แมคเบธ (Lady Macbeth) ที่มีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวเพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์คับขัน และพร้อมจะสังเวยชีวิตของผู้อื่นให้กับอุดมการณ์ที่เธอเชื่อมั่น

Advertisement

เรื่องเล่าเดียวกันนี้ หากถูกนำมาทำเป็นละครเวทีโดยผู้กำกับพม่า จุดสนใจของเรื่องก็จะต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ชาวโรฮีนจาไม่ได้เป็นเพียง “คนอื่น” หรือคนต่างด้าว แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่อความสงบสุขของชาวพุทธอีกด้วย ในละครเรื่องนี้ ออง ซาน ซูจี ยังเป็นขวัญใจมหาชน ที่ได้รับกำลังใจอย่างต่อเนื่อง เพราะสำหรับชาวพุทธส่วนใหญ่ในพม่า ออง ซาน ซูจี และนักการเมืองจากพรรค NLD ของเธอยังเป็นความหวังเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมพม่าได้อย่างยั่งยืน

ไม่ว่าเรื่องเล่าของแต่ละฝ่ายจะเป็นอย่างไร สิ่งที่สัมผัสได้ชัดเจนคือทั้งสองฝั่งต่างมีความคับข้องใจ และผิดหวัง ความคาดหวังในตัวออง ซาน ซูจี ของผู้คนทั่วโลก ทำให้เธอแทบเป็นเพียงจุดสนใจเดียวของข่าวการเมืองพม่า ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่สนับสนุนเธอก็มองว่าเธอเป็นทั้งวีรสตรีประชาธิปไตย ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้นำประเทศ หรือเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับผู้คนที่ต้องการเห็นพม่าเป็นประชาธิปไตยและพัฒนาต่อไป การยกให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นศูนย์กลางของการเมืองย่อมไม่ใช่เรื่องดี ความท้าทายของซูจีและพรรค NLD ไม่ใช่เรื่องการพัฒนาประเทศ หรือการดึงดูดนักลงทุนจากภายนอกให้ระดมเม็ดเงินมาพัฒนาพม่า แต่กลับเป็นการเล่น “เรียลโพลิติก” ตลอดจนการบริหารจัดการวิกฤตเฉพาะหน้า จึงไม่แปลกใจที่ซูจีไม่ยี่หระนักกับคำวิจารณ์ที่มาจากภายนอกพม่า เพราะแท้จริงแล้ว เธอก็มีทัศนคติไม่ต่างจากชาวพม่าทั่วไปที่เห็นว่าคนนอกไม่มีวันรู้และเข้าใจพม่าเท่ากับคนที่อยู่ในประเทศ

“เรียลโพลิติก” นี้เองที่ทำให้พม่าอยู่ในภาวะชะงักงัน ทั้งในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ก่อนการเลือกตั้งในปี 2015 ไฮไลต์ของการปฏิรูปอยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญ และการเจรจาสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยอีกหลายกลุ่มที่ยังมีความขัดแย้งกับรัฐบาลและกองทัพพม่า แต่มาถึงวันนี้ วันที่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่งวดเข้ามาเต็มที่ พรรค NLD และออง ซาน ซูจี ยังไม่มีโอกาสแสดงฝีมือเพื่อแก้ปัญหาฐานรากทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และต้องเล่นการเมืองรายวันเพื่อกันไม่ให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมืองมากเกินไป (ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้)

Advertisement

วิกฤตการณ์โรฮีนจาเป็นบททดสอบที่ดีสำหรับซูจี พรรค NLD และประชาชนในพม่า ว่าพวกเขาพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ท้ายที่สุด ความสับสนอลหม่านที่เกิดขึ้นนี้ยิ่งทำให้กองทัพถือไพ่เหนือกว่า และคงหัวเราะชอบใจอยู่ที่ใดที่หนึ่งเมื่อเห็นคะแนนความนิยมออง ซาน ซูจี ลดลงฮวบฮาบในเวทีโลก ซูจีนอกจากจะมีมิตรต่างชาติน้อยลงแล้ว เธอยังไม่พยายามจะหาพันธมิตรเพิ่ม กลับมาที่เรื่องเดิมๆ ที่ว่าแค่คิดเล่นการเมืองภายในประเทศก็ปวดขมองมากพอแล้ว ทางที่ดีที่สุดสำหรับพม่าคือการปลุกปั้นนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่ยึดมั่นหลักการ และพร้อมรับมือกับบทบาทกองทัพที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้อาวุโสเพียงไม่กี่คนในพรรค NLD ไม่สามารถรับมือกับเรียลโพลิติกแบบนี้ได้อีกต่อไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image