บริหารความขัดแย้ง…

ความเป็นมนุษย์หรือคนเมื่อเกิดมาลืมตาดูโลกแล้วการมีวิถีชีวิตตลอดชีวิตไปจนกระทั่งถึงหมดลมหายใจของแต่ละคนย่อมจะต้องพบเจอกับความขัดแย้ง ความคิดเห็นต่างทั้งในลักษณะของความเป็นปัจเจกบุคคลไปจนกระทั่งความขัดแย้งที่มีขึ้นในแต่ละระดับตั้งแต่บุคคล ครอบครัว องค์กรหน่วยงาน สังคม ประเทศชาติ รวมไปถึงความขัดแย้งที่เป็นภัยต่อสันติภาพโลกในบริบทต่างๆ

ตัวเลขหนึ่งของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยในเมืองไทยเราได้มีตัวเลขของคนที่จดทะเบียนสมรสลดลงจาก 3.13 แสนคนในปี พ.ศ.2550 มาอยู่ที่ตัวเลข 2.98 แสนคนในปี พ.ศ.2560 (ลดลง 5.1%) สำหรับการจดทะเบียนหย่าที่เพิ่มขึ้นจาก 1.02 แสนคน มาเป็น 1.22 แสนคน(เพิ่มขึ้น 19.7%) ในช่วงเวลาเดียวกัน (ข่าวสด 11 กรกฎาคม 2562)

ในข้อเท็จจริงหนึ่งของชีวิตความเป็นครอบครัวไทยเราในยุคของบริโภคนิยม วัตถุนิยม ทุนนิยม เงินนิยมและอำนาจนิยม ชีวิตของการแต่งงานและมีครอบครัวไทยเราในยุคปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเป็นอย่างมาก ในสมัยก่อนความรักความเข้าใจของคู่หนุ่มสาว การติดต่อเชื่อมโยงระหว่างพ่อแม่ญาติพี่น้องทั้งของฝ่ายเจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้งระบบเศรษฐกิจ นิสัยใจคอ พื้นฐานของครอบครัวอาจจะดูเสมือนชีวิตหลังจากแต่งงานไปแล้ว มีลูกหลานหลายๆ คู่ก็มีวิถีชีวิตอยู่กันไปจนกระทั่งไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร

ชีวิตคู่หรือชีวิตแต่งงานของหนุ่มสาวไทยปัจจุบันมีอยู่ในบริบทที่หลากหลาย อาทิ ผู้หญิงหลายคนเลือกที่จะไม่แต่งงานก็เนื่องด้วยตนเองมีการศึกษาสูง มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี มีหน้าที่การงาน ครอบครัวที่มีความมั่นคงกว่าฝ่ายชาย หลายๆ คนมีชีวิตที่เป็นโสดเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันสำหรับผู้ชายก็นิยมเลือกในลักษณะดังกล่าวด้วยเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่เราท่านได้ติดตามในสื่อทุกประเภทก็คือ การแต่งงานระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง ผู้สูงอายุที่แต่งงานด้วยกัน สถาบันครอบครัวถือว่าเป็นหน่วยระดับต้นของสังคมประเทศชาติ หากมีความมั่นคงทั้งความรัก ความเข้าใจรวมถึงการสร้างครอบครัวที่เป็นปึกแผ่นย่อมส่งผลถึงองคาพยพอื่นของชาติบ้านเมืองไปด้วย

Advertisement

เมืองไทยเราได้มีการบริหารราชการเพื่อการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหรือเขตปกครองพิเศษ ก็เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ อาทิ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา การบริหารจัดการก็เพื่อให้มีหน่วยงาน องค์กร บุคลากรที่รับผิดชอบในงานต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนทั้งระบบสาธารณูปโภคระดับพื้นฐาน ถนน ประปา ระบบไฟฟ้า ขยะ สิ่งแวดล้อม น้ำ คลอง ทะเล ภูเขา ป่าไม้ โรงเรียนในสังกัด (รพ.สต.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือแม้กระทั่งการปฏิรูปตำรวจจะให้มีการโอนภาระหน้าที่ของตำรวจไปอยู่ในการบริหารส่วนท้องถิ่น รวมถึงระบบงานราชการอื่นๆ ที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปีของรัฐบาล…

การบริหารความขัดแย้ง (Conflict Management) เป็นศาสตร์หรือองค์ความรู้สาขาหนึ่งก็เพื่อให้ความขัดแย้ง ความเห็นต่าง ความคิดเห็นที่มิได้ตรงกันได้มีการประสานสามัคคี หรือให้ความร่วมมือที่จะทำการงานประเภทนั้นได้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยปราศจากความขัดแย้งทั้งระบบความคิด ความรู้ ความเชื่อ ค่านิยม เป้าหมายและอุดมการณ์ ปรากฏการณ์ของความขัดแย้งก็เกิดด้วยของธรรมชาติทั้งอารมณ์ความรู้สึก การเจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย ทางจิตใจ จิตเภทประสาท สมอง รวมถึงเหตุไม่พึงพอใจร่วมกันตั้งแต่ความคิดเห็น การปฏิบัติงานและผลประโยชน์ตั้งแต่ระดับจุลภาคไปถึงมหภาคของสังคมประเทศชาติ

ข้อมูลหรือข่าวหนึ่งที่ถูกนำเสนอในสื่อประเภทต่างๆ ของสังคมไทยก็คือความขัดแย้งของบุคลากรในการทำงานที่เป็นส่วนราชการหนึ่งก็คือ ในองค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเค็ง อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างนายอนุวงศ์ มหานิติพงษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และนายสมหมาย รักษาขันธ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล กรณีที่ปลัด อบต.ไปแจ้งความที่นายก อบต.เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการยักยอกทรัพย์ (น้ำมันเชื้อเพลิง) เป็นจำนวนเงิน 120,000 บาท โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement

และกรณีนายบุญเพ็ง โมหา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) แก่งเค็ง ถูกยิงเสียชีวิตที่บริเวณริมทางเข้าทุ่งนาบ้านแสนสบาย-โป่งน้อย หมู่ 4 ต.คอนสาย อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ขณะไปเกี่ยวหญ้าให้วัว เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ความขัดแย้งดังกล่าว นายอนุวงศ์ มหานิติพงษ์ นายก อบต. ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ทำการย้ายปลัด อบต.ออกไปเนื่องด้วยการบริหารงานมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เกิดความติดขัดระหว่างการทำงาน งบประมาณสะสมกว่า 50 ล้านบาท ก็ไม่สามารถจะใช้ได้ งบประมาณออกมาก็นำไปพัฒนาไม่ได้ ข้าราชการประจำส่วนมากจะเป็นอย่างนี้ ใส่เกียร์ว่าง ปลัด อบต.ก็จะรอรักษาการ ตัวเองจะได้นำงบประมาณออกมาใช้ได้อย่างสะดวก…(มติชนรายวัน 14 กรกฎาคม 2562 หน้า 1,11)

ความขัดแย้งในกรณีดังกล่าวมิใช่เป็นกรณีแรกๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการบริหารราชการของนักการเมืองในระดับท้องถิ่นและข้าราชการประจำที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของบ้านเมือง เมืองไทยเรานับตั้งแต่ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลท้องถิ่น พ.ศ.2542 ที่มีจำนวน 43 มาตรา ได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ในหมวดที่ 7 มาตรา 30 ได้ระบุถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น ก็เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการบริหารงานบุคคลของพนักงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ ให้มีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่นและประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม รวมถึงสามารถรองรับการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น…

สิ่งหนึ่งที่เป็นเสียงเรียกร้องของสังคมก็คือการปฏิรูประบบราชการไทยทั้งระบบ สภาพปัญหาของความขัดแย้งยังคงมีอยู่ในข้อเท็จจริง คดีความที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีที่อยู่ในศาลปกครองมีจำนวนมาก ทั้งระหว่างบุคคล เอกชนต่อราชการ และการฟ้องร้องระหว่างหน่วยราชการกับหน่วยราชการเอง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีระเบียบปฏิบัติ ข้อกฎหมายที่ดูเสมือนจักไปด้วยกันได้ด้วยเจตนารมณ์หลักก็คือ เพื่อให้งานราชการดำเนินไปอย่างสะดวกที่จะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและส่วนรวม

แต่ในข้อเท็จจริงความขัดแย้งก็ยังดำรงอยู่ ใคร องค์กรใด รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีอำนาจเต็มในวาระที่สอง จะบริหารจัดการความขัดแย้งดังกล่าวให้ทุเลาไปได้หรือไม่…

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์โดยเฉพาะความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) หรือที่เรียกว่า ความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมในบริบทของการฉ้อราษฎร์บังหลวง การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ที่บุคคลผู้มีอำนาจได้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับความไว้วางใจ อาทิ นักการเมือง ผู้มีอำนาจในการบริหารบริษัท องค์กรเอกชน ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือผู้มีอำนาจในหน่วยงานในแต่ละระดับ ได้พบปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขหรือปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง ไม่ลำเอียงในผลประโยชน์ทับซ้อนจนกระทั่งกระทำให้บุคคลนั้นหรือกลุ่มบุคคลนั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามข้อกฎหมาย ระบบธรรมาภิบาลและคุณธรรม จริยธรรมขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

สภาพปัญหาของผลประโยชน์ที่นำไปสู่ความขัดแย้งก็คือ ทั้งการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปเพื่อประโยชน์ในธุรกิจของตนเองทั้ง ให้การช่วยเหลือญาติมิตรเพื่อนฝูงทั้งโดยตรงและโดยอ้อม การรับผลประโยชน์โดยตรง การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ การนำทรัพย์สินของหน่วยงานไปใช้ส่วนตัว การนำข้อมูลของหน่วยงานที่เป็นความลับไปใช้ในงานส่วนตัว การทำงานอีกสถานที่หนึ่งที่มีความขัดแย้งกับสถานที่เดิม มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากการเปลี่ยนสถานที่ทำงานและ การปิดบังความผิดทั้งระบบจริยธรรมและข้อกฎหมายของบ้านเมือง…

หลักในการปฏิบัติเพื่อมิได้ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในข้อเท็จจริงหนึ่งก็คือ กฎหมายของบ้านเมืองทั้งการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน การใช้ความโปร่งใสในการบริหารจัดการ หลายหน่วยงานมีประมวลจริยธรรมและการห้ามถึงผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งหลักนิติธรรม คุณธรรม การมีส่วนร่วม มีความรับผิดชอบและหลักของความคุ้มค่าในทรัพยากรต่างๆ ในข้อเท็จจริงหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเราในกรณี ค่าโง่ทางด่วน โครงการจำนำข้าว บ้านเอื้ออาทร ข้าราชการระดับสูงที่มีคดีความเกี่ยวกับการค้นพบเงินจำนวนมากที่เก็บสะสมไว้ในบ้านของตนเอง มิอาจจะรวมถึงคดีความที่มีการตัดสินถึงความยุติธรรมนอกระบบทั้งการอุ้มฆ่า การทำร้ายร่างกายและการฆ่าให้เสียชีวิต…

ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการของการสอบของบุคคลเพื่อเข้ารับราชการในระดับต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (หรือที่เรียกว่าสอบ ก.พ.) การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมไปถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง สิ่งหนึ่งที่ได้พบเห็นเชิงประจักษ์ก็คือ ความเข้มงวดของคณะกรรมการในการดำเนินการสอบเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริตทั้งต่อตนเองและส่วนรวม ข้อห้ามต่างๆ ที่ห้ามมิได้ผู้เข้าสอบนำติดตัวเข้าห้องสอบก็เพื่อป้องกันการทุจริต ข้อสังเกตหนึ่งของผู้เขียนอาจจะรวมถึงท่านผู้อ่านที่ว่า อะไร สิ่งใดเกิดขึ้นกับสังคมไทยที่ดูเสมือนว่าพฤติกรรมของคนไทยบางส่วนแม้กระทั่งผู้ที่จะสอบเข้ารับราชการจะมีพฤติกรรมที่มิพึงประสงค์ของสังคม ทั้งการกระทำความผิดที่เป็นที่ประจักษ์ของสังคม อาทิ การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดอยู่กับตัวเพื่อให้ได้มาซึ่งคำเฉลยที่ถูกต้อง หรือเข้าลักษณะมิได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกลอุบายที่แยบคาย…

วิกฤตของความขัดแย้งย่อมก่อให้เกิดโอกาสในภาวะดังกล่าว อาทิ ทำให้สมาชิกในองค์กรได้รับการกระตุ้นหรือเกิดแรงจูงใจหาทางออกในการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สมาชิกได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนทรรศนะความคิดเห็นที่ให้เกิดความสามัคคีในองค์กร การปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและสังคม ให้มีโอกาสเลือกผู้นำที่มีทั้งความรู้ความสามารถ จริยธรรมคุณธรรมเข้ามาบริหารกิจการรวมถึงเป็นการที่บุคคล คณะได้ระบายเปิดเผยถึงความคิดเห็น รู้สึกที่เก็บกดไว้เป็นเวลานาน พร้อมกับหาทางออกร่วมกันด้วนสันติวิธี

สังคมไทยเราชื่อว่าเป็นสังคมของชาวพุทธ ผู้คนส่วนหนึ่งได้นับถือศาสนาพุทธ กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนามีตลอดในช่วงของเดือน ปีและช่วงขณะของชีวิตทั้งการไหว้พระ รับศีล ฟังเทศน์ ร่วมกิจกรรมงานบวชพระ งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพ คำสอนของศาสนาพุทธส่วนหนึ่งเข้าไปมีส่วนร่วมในชีวิตทั้ง ศีล 5 การไม่เบียดเบียน การให้อภัย ความรัก ความสามัคคี แต่ในข้อเท็จจริงพฤติกรรมบางส่วนทั้งเด็กเยาวชน ผู้หลักผู้ใหญ่บางคน คนที่มีการศึกษา หน้าที่การงานที่ดี มีฐานะเศรษฐกิจดี กลับสร้างปัญหาให้แก่สังคมส่วนรวมประเทศชาติ คำถามหนึ่งที่อาจจะมิได้รับคำตอบก็คือ หลักการของศาสนาและกฎหมายเข้าถึงความเป็นชีวิตที่พึงประสงค์ของสังคมได้จริงหรือไม่…

ความขัดแย้งมิได้เกิดขึ้นในสมัยนี้ยุคนี้เท่านั้น สังคมของคนที่มีกิเลสคือความโลภ โกรธ หลง อวิชชาที่ปราศจากปัญญาอันถ่องแท้ของมนุษย์ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตกาลตั้งแต่ได้มีมนุษย์คนแรกของโลก เราท่านจักบริหารจัดการความขัดแย้งที่เกิดในปัจจุบันให้สามารถอยู่ร่วมลมหายใจและชีวิตไปได้อย่างราบรื่นได้อย่างไร…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image