ที่เห็นและเป็นไป : ตาม‘ยถากรรม’

ประเทศภายใต้การบริหารของรัฐบาล ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ดูจะโกลาหล       จนไม่รู้ว่าควรจะใส่ใจ หรือให้น้ำหนักความสนใจกับเรื่องอะไรก่อนดี

เกมการเมืองที่อธิบายด้วยกติกามารยาทอะไม่ได้เลย นึกจะทำอะไรก็ทำ โดยไม่มีใครทำอะไรได้ เป็นความโกลาหลอย่างแรก

สภาผู้แทนราษฎร ยื่นกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีว่าที่ “ถวายสัตย์ด้วยข้อความไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดจะแก้ไขอย่างไร”

นายกรัฐมนตรีซึ่งตามหน้าที่และตามมารยาทจะต้องไปตอบ เพราะเรื่องนี้มีผลต่อการบริหารประเทศสูง เพราะมีความเป็นไปได้ที่ความไม่ถูกต้องดังกล่าวจะส่งผลต่อความสมบูรณ์ของมติคณะรัฐมนตรี และการปฏิบัติตามของข้าราชการ

Advertisement

เรื่องแบบนี้ควรจะมีคำตอบ แต่ไม่มีใครตอบ

ตัวนายกรัฐมนตรีเองใช้วิธีตะลอนไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้รับรู้กันว่ายุ่งเกินกว่าจะมาใส่ใจเรื่องนี้ ทั้งที่มันจะทำให้ยุ่งมากกว่าในอนาคต

ไม่มีใครทำอะไรได้

Advertisement

ในเรื่องเศรษฐกิจ รัฐบาลดำเนินมาตรการเทงบประมาณ 100,000 ล้านบาท แจกจ่ายให้ประชาชนไปใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ พร้อมทั้งทำโครงการปล่อยกู้อีก 200,000 ล้านบาท เพื่อหวังว่าจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

มีคำถามว่าใช้เงินกันมากมายอย่างนี้จะมีมาตรการควบคุมอย่างไร ไม่ให้เงินถูกดูดเข้าไปสู่กระเป๋าของทุนใหญ่ในที่สุด จนกลายเป็นไม่ว่าทำอะไรล้วนเข้าทางทุนผูกขาด

พร้อมทั้งมีคำถามว่าจะมีมาตรการอะไรที่เยียวยาเศรษฐกิจที่มีมากกว่าการแจกเงิน

สถานการณ์เศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดความเครียดมากมาย สภาวะหนี้สินของประชาชนมีมากขึ้นเป็นแรงกดดันให้อยู่กันอย่างระทมทุกข์

จะแก้กันอย่างไร คำตอบที่ชัดๆ ไม่มีให้ได้ยิน

เรื่องราวทั้งหลายส่งผลต่อปัญหาสังคม สภาวะที่เต็มไปด้วยความหดหู่ สิ้นหวัง ส่งผลให้ยาเสพติดระบาดหนัก สติการจับกุมมากขึ้น ผู้ถูกคุมขังในเรือนจำมาจากคดียาเสพติดมากขึ้น

ย่อมสะท้อนถึงสภาวะที่ประชาชนยอมเสี่ยงกับโทษร้ายแรงเพื่อเอาชีวิตรอด

สถิติการฆ่าตัวตาย เพราะแรงบีบคั้นจากปัญหาปากท้องไม่ไหวมีมากขึ้น

ไม่มีคำตอบว่าจะแก้ไขอย่างไร

การบริหารจัดการประเทศมุ่งเน้นที่จะทำให้รัฐบาลมีความมั่นคง โดยแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำในสภา ด้วยการไล่ดูด ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน เพื่อมาเสริมเสียงสนับสนุนให้ฝ่ายรัฐบาล

การยุบเลิกพรรคเล็กไปรวมกับพรรคใหญ่ที่ต้องมีการตีความกฎหมายกันวุ่นวาย กลายเป็นวาระสำคัญในการทำงานของผู้มีอำนาจ

แม้จะพอเข้าใจได้ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมุ่งเน้นการสร้างเสถียรภาพให้มั่นคง

แต่หากเสถียรภาพนั้นต้องแลกมาด้วยความโกลาหลในการตีความกฎหมาย และเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะทำให้หลักการการอยู่ร่วมกันหมดความศักดิ์สิทธิ์ ด้วยมีการถามถึงความชอบธรรม

สภาพเช่นนั้นจะส่งผลดีอะไรกับประเทศชาติโดยรวม

รัฐบาลอยู่ได้ แต่ความมั่นคงประเทศชาติในมติของความเป็นธรรมของการอยู่ร่วมจะยังอยู่ได้หรือไม่

เป็นเรื่องที่ยิ่งมีอำนาจยิ่งต้องระลึกถึง

กลับดูเหมือนว่าไม่มีใครใส่ใจนัก

สภาวะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่กำลังเกิดขึ้น

ง่ายอยู่หากคิดว่าก็ “ปล่อยมันไป”

แต่เชื่อเถอะ ระยะยาวชาติที่พัฒนาไปในสภาวะเช่นนี้ “มันน่ากลัว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image