สัญญาณเศรษฐกิจตกต่ำ : วีรพงษ์ รามางกูร

เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐได้ถีบตัวสูงขึ้น จนเป็นเหตุให้ผลตอบแทนต่อการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันที่เหลืออายุการไถ่ถอน 10 ปี ต่ำลง จนเหลือเท่าๆ กับหรือบางขณะต่ำกว่าพันธบัตรที่มีอายุการไถ่ถอนเหลือ 2 ปี ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี

ปกติแล้วดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนในการถือเครื่องมือในการออมของครัวเรือน หรือประชาชนทั่วไป ดอกเบี้ยของเครื่องมือการออมระยะสั้นควรจะสูงกว่าระยะยาว เพราะการลงทุนในเครื่องมือการออมระยะยาวที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยจ่ายคงที่ เป็นการตรึงเงินลงทุนไว้นานกว่าจะครบกำหนดไถ่ถอน แม้ว่าจะมีตลาดรองที่ผู้ถือหลักทรัพย์อาจจะขายก่อนกำหนดไถ่ถอนได้ แต่ราคาก็จะต่ำกว่าที่ควรจะได้เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ราคาพันธบัตรที่ซื้อขายก็ย่อมจะสูงต่ำตามเวลาที่เหลืออยู่ในการไถ่ถอน เช่น ราคาควรจะสูงขึ้นเมื่อใกล้เวลาไถ่ถอน หรือราคาจะต่ำกว่าเมื่อเวลาไถ่ถอนยังเหลืออีกนาน เป็นต้น

คล้ายๆ กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียกก็ควรจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนก็ควรจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีก็ควรจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอัตรา 6 เดือน เป็นต้น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินที่ผิดปกติของธนาคารกลาง

พฤติกรรมของผู้ออมก็คือยอมไม่ใช้จ่ายเงินส่วนหนึ่งในวันนี้ เพื่อสามารถใช้จ่ายได้มากขึ้นในวันข้างหน้า ผลตอบแทนต่อการออมรอเพื่อใช้จ่ายในวันข้างหน้าก็คือดอกเบี้ย ยิ่งให้รอนานก็ยิ่งต้องการผลตอบแทนต่อการรอมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะต้องอดกลั้นรอคอยแล้ว ระหว่างนั้นอาจจะมีการเสี่ยงเกิดขึ้น เช่น ของขึ้นราคา ของขาดตลาด ความนิยมเปลี่ยนไป เป็นต้น ทำให้แผนการใช้จ่ายอาจจะต้องเปลี่ยนไป ดังนั้น ยิ่งผู้ออมลงทุนในเครื่องมือการออมที่อายุการไถ่ถอนยาวขึ้น ก็ย่อมต้องการผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้นเป็นธรรมดา

Advertisement

เมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่ราคาตราสารหนี้ระยะยาวมีราคาสูงขึ้น จนทำให้ผลตอบแทนต่อการถือตราสารหนี้ระยะยาว เช่น พันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ของบรรษัทเอกชนต่ำลงกว่าตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นกว่า ก็ย่อมหมายความว่าผู้คนในตลาดการเงินต่างก็เห็นไปทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจในอนาคต 10 ปีข้างหน้าจะซบเซากว่า 2 ปีข้างหน้าและเศรษฐกิจ 2 ปีข้างหน้าจะเลวกว่าปัจจุบัน

ผลตอบแทนต่อการถือตราสารระยะยาวคิดเป็นร้อยละ ก็คือดอกเบี้ยระยะยาวนั่นเอง เพราะตราสารระยะยาวจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ตายตัว อัตราผลตอบแทนจะขึ้นลงตามราคาตราสารหนี้ระยะยาวนั้นๆ เพราะอัตราผลตอบแทนคิดจากราคาของพันธบัตรหรือตราสารหนี้ระยะยาวอื่นๆ นั้นเอง

ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อใดก็ตามที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาว หรือผลตอบแทนต่อพันธบัตรอายุไถ่ถอน 10 ปีของรัฐบาลอเมริกา มีราคาเท่ากับหรือสูงกว่าพันธบัตรชนิดเดียวกันที่มีอายุ 2 ปี อีกไม่ช้ากล่าวคืออีก 2-3 ปี เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลกก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ “recession” และมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือ “depression” ได้ ถ้าหากนโยบายการคลังและนโยบายการเงินปล่อยให้เกิดภาวะการณ์เช่นนั้นได้ กล่าวคือภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดแล้วเงินเฟ้อไม่มี กล่าวคืออัตราเงินเฟ้อติดลบหรือต่ำกว่าศูนย์

Advertisement

ในขณะที่ผลตอบแทนหรือ yield ของพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันอายุ 10 ปี อยู่ในระดับใกล้เคียงกับพันธบัตรอายุ 2 ปี คือประมาณ 1.582 กับ 1.525 ตามลำดับ และบางครั้งผลตอบแทนต่อพันธบัตรอายุ 10 ปีต่ำกว่าพันธบัตรอายุ 2 ปี สำหรับพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีและญี่ปุ่นผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุไถ่ถอน 10 ปีติดลบไปแล้ว กล่าวคือพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีและพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น มีผลตอบแทนต่อพันธบัตรอายุ 10 ปี คือ -0.646 และ -0.23 ตามลำดับ กล่าวคือราคาพันธบัตรอายุ 10 ปีในตลาดมีราคาต่ำกว่าราคาซื้อซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ

ในกรณีที่ผลตอบแทนต่อการออมระยะยาวติดลบ ก็หมายความว่าผู้คนยอมที่จะถูกลงโทษ ด้วยการได้เงินจากการไถ่ถอนพันธบัตรอายุ 10 ปีในอนาคตน้อยกว่าการถือเงินสดในปัจจุบัน การฝากเงินในธนาคารแทนที่จะได้ดอกเบี้ยกลับต้องเสียค่าฝากเงินให้กับธนาคาร แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะพยายามดึงดอกเบี้ยขึ้นก็คงไม่สำเร็จ กรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐจะมีการประชุมอีก 2 ครั้งภายในปีนี้ ที่คาดว่าธนาคารกลางจะลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้ก็อาจจะไม่แน่เสียแล้ว อาจจะลดดอกเบี้ยครั้งละ 0.25 เปอร์เซ็นต์ ทั้ง 2 ครั้งเลยก็ได้ เมื่อการคาดการณ์ในตลาดเปลี่ยนไปอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในตลาดก็เปลี่ยนไปด้วย

สัญญาณจากตลาดการเงินทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ชี้ไปในทิศทางที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา slow down หรือถดถอย recession ประเทศไทยซึ่งต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญเพราะมูลค่าการส่งออกมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ แม้ว่าจะต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งมูลค่าการส่งออกของเขามีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติสูงกว่าของประเทศเรามาก

เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวผลกระทบต่อของเขาสูงกว่าของเรามาก แต่ในขณะที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ก็จะขยายตัวในอัตราที่สูงกว่า

ที่ผ่านมาเงินตราต่างประเทศได้ไหลเข้าสู่ตลาดในประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปการเกินดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเงินทุน เพราะทางการตรึงอัตราดอกเบี้ยทางการไว้เป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตลาดโลก จึงทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข่งแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน อันเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและการแข่งขันของประเทศไทย อันเป็นสาเหตุสำคัญของการขยายตัวของรายได้ประชาชาติของเราต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศไว้ ความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มากเกินไป ไม่มีการถ่วงดุลกับรัฐมนตรีคลัง จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ที่ไม่มีความสมดุลระหว่างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง real sector กับเสถียรภาพของระบบการเงิน financial sector

สถานการณ์เช่นนี้ แม้ว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของรัฐบาลอาจจะประสบความยากลำบาก ข้างหน้ามูลค่าการส่งออกจะลดลง ราคาสินค้าโดยทั่วไปจะลดลง โดยเฉพาะอย่างสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล แม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลงก็ไม่ได้หมายความว่าดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะอ่อนแอลง เพราะรายจ่ายในการนำเข้าพลังงาน วัตถุดิบ ชิ้นส่วน ราคาก็ลดลงไปด้วย ทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ขาดดุลหรือขาดดุลก็เพียงเล็กน้อย

ปัญหาจึงอยู่ที่นโยบายการเงินที่มีผลเร็วเพราะจะเกิดการคาดการณ์ล่วงหน้าทันที rational expectation และรุนแรงเมื่อเทียบกับนโยบายการคลัง ที่ผลจะค่อยๆ เกิดและใช้เวลานานจึงจะเห็นผลเต็มที่ การเตรียม
การเพื่อรองรับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจซบเซาซึ่งจะเกิดต่อจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ดำเนินมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว

ข้างหน้านี้เศรษฐกิจซบเซาคงจะตามมา จากสัญญาณตลาดทุนที่สถาบันการเงินมีเงินแต่ไม่มี
ผู้กู้ จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยต้องลดดอกเบี้ยลง ไม่ให้เป็นโอกาสของทุนต่างประเทศเข้ามาหากำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนควรจะปล่อยให้อ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยควรคำนึงถึงเสถียรภาพของภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง อันได้แก่การผลิตและการลงทุน การส่งออก สนับสนุนส่งเสริมให้ทุนของไทยไปลงในประเทศที่ค่าจ้างแรงงานถูกกว่าของเรา โดยการอุดหนุนการส่งออกเครื่องจักรเก่าไปเวียดนามและพม่า กัมพูชา ลาว บังกลาเทศ เพื่อไทยจะได้เปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยกว่า

อย่าไปมองว่าเวียดนาม อินโดนีเซีย บังกลาเทศ ลาว กัมพูชา เป็นคู่แข่งกับไทย ควรมองว่าเป็นตลาดรองรับสินค้าส่งออกของไทย ถ้ารายได้ประชาชาติต่อหัวของประเทศเหล่านี้สูงขึ้น ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยที่ปริมาณการส่งออกของไทยจะยิ่งสูงขึ้น เพราะสินค้าไทยไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ จักรยานยนต์ เสื้อผ้าราคาแพง เครื่องใช้สำนักงานที่คุณภาพสูง ล้วนแต่เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย แม้ว่าจะใช้ตราของญี่ปุ่นก็ตาม เป็นไปตามทฤษฎีห่านบินของ ดร.โอกิตะ

การเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อต้นทุนที่ถูกลง ในขณะเดียวกันคุณภาพของสินค้าดีขึ้น สำหรับสินค้าที่มีตราของไทยแม้ว่าจะเป็นตราของญี่ปุ่นเดิมก็ตาม เพราะสินค้าหลายอย่างที่มีตราญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็เลิกทำการผลิตแล้ว หลังจากนโยบายโยกย้ายอุตสาหกรรมออกจากญี่ปุ่น ประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายของการโยกย้ายอุตสาหกรรมเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว

และบัดนี้ก็อาจจะเป็นเวลาที่อุตสาหกรรมไทยต้องโยกย้ายไปต่างประเทศ ตัวเลขการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทไทยจึงเป็นข่าวดี ไม่ใช่ข่าวร้ายอย่างที่สื่อมวลชนไทยเข้าใจ การโยกย้ายอุตสาหกรรมจากไทยและจีนไปเวียดนาม พร้อมๆ กับการลงทุนในไทยโดยญี่ปุ่นเจ้าเดิมและจีนเจ้าใหม่ จึงเป็นข่าวที่น่ายินดี

ควรจะเลิกพูดเรื่องการพัฒนาตลาดภายในประเทศให้มีคำสั่งซื้อจนเป็นฐานการผลิตของเราเพื่อลดความสำคัญของการส่งออก เช่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้แล้ว เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนกัน ทั้ง 2 ประเทศมีจำนวนพลเมืองน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เริ่มพัฒนาโดยการได้สิทธิพิเศษในฐานะประเทศในเครือจักรภพ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จึงเปรียบเสมือนจังหวัดหรือแคว้นๆ หนึ่งของอังกฤษ ไม่เหมือนอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา พม่า และมลายู ซึ่งยังต้องพึ่งการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ เลิกคิดปิดประเทศหรือมองแค่ว่าจะพัฒนาตลาดภายในประเทศเป็นหลัก

ในด้านการคลัง รัฐบาลควรลงทุนโดยการออกพันธบัตรกู้จากประชาชน ไม่ควรกู้จากต่างประเทศโดยการกู้เงินตราต่างประเทศเข้ามาใช้ เพราะขณะนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าหนี้สุทธิของต่างประเทศ ถ้าจะยกเลิกภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดกเสียได้ก็จะเป็นสัญญาณที่ดี เงินออมควรหักออกจากฐานภาษีเสียให้หมดถ้ายังจะมีเหลืออยู่บ้าง อัตราภาษีเงินได้ส่วนบุคคลก็ควรจะลดลง รวมทั้งอัตราสูงสุดด้วย

ความคิดที่จะใช้ภาษีอากรเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำทางฐานะเศรษฐกิจเป็นมาตรการทางลบและไม่ได้ผล ควรใช้มาตรการทางบวก คือโครงการลงทุนและใช้จ่ายเพื่อลดช่องว่างในด้านคุณภาพชีวิตให้น้อยลง ซึ่งบัดนี้ก็น้อยลงมากแล้ว นี่ไม่มีพื้นที่ใดในประเทศเป็นพื้นที่ชนบทอีกแล้ว การว่างงานสำหรับแรงงานระดับล่างไม่มีแล้ว มีแต่การว่างงานของคนมีการศึกษาระดับสูงที่เพิ่งจบการศึกษาและต้องฝึกงานใหม่ ภาษาอังกฤษต้องฟังพูดอ่านเขียนให้คล่อง จะทำได้ก็ต่อเมื่อบังคับให้ครูพูดเขียนอ่านภาษาอังกฤษให้ได้เสียก่อน ก่อนที่จะหวังให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้

เศรษฐกิจลงครั้งนี้คงไม่หนักหนาเหมือนคราวก่อนๆ แต่เปิดโอกาสให้เราได้ก้าวหน้าต่อไปได้อีกขั้นหนึ่ง ถ้ารู้จักทำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image