การฟื้นฟูการปฏิบัติธรรม สมัย 2475-2500 : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

ภาพจิตรกรรมโบสถ์วัดช่องนนทรี แสดงนารทพรหมชาดก ชนบางพวกไม่ตั้งอยู่ในธรรมแต่ธรรมมีอยู่จริง ผู้ปกครองพึงอยู่ในธรรม

เรื่อยมาตั้งแต่กลางรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สถานการณ์โลกมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและการเมืองรวมทั้งพระพุทธศาสนา การเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลอย่างสำคัญด้วย

ช่วงแรกเป็นช่วงที่กรุงรัตนโกสินทร์ต้องพยายามปรับการบริหารราชการให้ทันสมัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการและการทหาร ต้องสร้างความรักชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดตกต่ำทั่วโลก

ช่วงหลังเป็นช่วงที่อำนาจรัฐอยู่ในมือของคณะราษฎรและมีปัญหาความไม่สงบและภัยสงคราม ประชาชนขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ รัฐออกลอตเตอรี่เป็นประจำ การเสี่ยงโชคและการพนันกลายเป็นวิถีชีวิตปกติที่บั่นทอนสังคม

ก่อนสมัยของคณะราษฎร พระพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์และศรัทธาจากรัฐ การปฏิรูปการปกครองสงฆ์เน้นความเป็นปึกแผ่น การศึกษาเน้นด้านปริยัติและการเล่าเรียนตามแบบตะวันตก การปฏิบัติธรรมเริ่มถูกแทนที่ด้วยปริยัติธรรม คณะอรัญวาสีที่เน้นวิปัสสนาธุระเริ่มหายไป

Advertisement

เมื่อเข้าสู่สมัยของคณะราษฎร พระพุทธศาสนาขาดการอุปถัมภ์จากรัฐ การปกครองสงฆ์ได้รับผลสะเทือนจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การศึกษามุ่งด้านปริยัติและการสอบบาลี งานวิปัสสนาธุระอ่อนแอและพระสงฆ์ยังต้องรับผิดชอบการศึกษาของเด็กในโรงเรียนวัดอีกด้วย

คณะราษฎรมองการปกครองสงฆ์ในมุมทางการเมืองซึ่งทั้งหลวงพิบูลสงครามและหลวงประดิษฐ์มนูธรรมต่างต้องการแบ่งแยกอำนาจการปกครองสงฆ์และรวมสองนิกายเข้าด้วยกัน ความขัดแย้งระหว่างนิกายถูกขยายไปในหลายระดับ

เกือบตลอดช่วงสมัยนี้ การปฏิบัติธรรมโดยทั่วไปนับว่าตกต่ำมากทั้งในหมู่พระภิกษุและผู้ครองเรือน การสืบทอดการปฏิบัติต้องอาศัยการใฝ่หาของพระภิกษุและศิษย์วัดโดยลำพัง

Advertisement

ด้านฝ่ายมหานิกาย สำนักกรรมฐานหลักเริ่มมีบทบาทลดลงตามงานคันถธุระที่มากขึ้น พระภิกษุที่สนใจการปฏิบัติยังมีกระจายอยู่ตามวัดต่างๆ แต่ประชาชนมักเข้าหาเพื่อขอวัตถุมงคลและเลขเด็ด พระเกจิอาจารย์มักสืบทอดสมถกรรมฐานมาจากครูอาจารย์สายสมเด็จโต พรหมรังสี หลวงพ่อแตง วัดอ่างศิลานอก หลวงพ่อเอี่ยม วัดสะพานสูง และหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ เป็นต้น

สมัยนี้เกิดกบฏบวรเดช สงครามไทย-อินโดจีน สงครามมหาเอเชียบูรพา และสงครามเกาหลี ทหารตำรวจ นักการเมือง โจรผู้ร้าย นักเลงอันธพาล พ่อค้าและประชาชนจึงยิ่งสนใจอิทธิปาฏิหาริย์ การปลุกเสกเครื่องรางของขลังแบบแคล้วคลาดคงกระพันดูจะเฟื่องฟูอย่างยิ่ง มีสารพัดเครื่องราง แม้แต่ยาพิษก็ยังมีการลงอาคม ชาวบ้านหวังว่าพระสงฆ์เป็นที่พึ่งในสิ่งที่มองไม่เห็น พระเกจิด้านนี้นับว่ายังมีอยู่มากมาย เช่น หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ การใช้ไสยเวทเติบโตมากในหมู่ฆราวาส ผู้ที่เชี่ยวชาญมักเป็นอดีตพระภิกษุที่มีชื่อเสียงมาก่อน

พระสงฆ์มหานิกายมักต้องใช้เวลาในเรื่องของประเพณี พิธีกรรมและปัญหาของชาวบ้าน ถ้าสนใจการปฏิบัติ ยังพอขอศึกษาได้จากพระอาจารย์ที่มักประจำอยู่แถบภาคกลาง เช่น อยุธยา สุพรรณบุรี และธนบุรี ทว่าพระสงฆ์ที่ปรารถนามุ่งตรงถึงพระนิพพานมีน้อย

สำนักของหลวงพ่อวัดปากน้ำหรือหลวงพ่อสด จันทสโร เป็นสำนักที่โดดเด่นในสมถวิปัสสนาแบบดั้งเดิมตามคัมภีร์วิสุทธิมรรคและคำสอนของครูอาจารย์ ท่านเป็นศิษย์สายวัดพลับทั้งจากอาจารย์บอกกรรมฐานที่นั่นและจากพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาก เช่น หลวงพ่อเนียม วัดน้อย และหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน ซึ่งต่างเคยศึกษาการปฏิบัติจากวัดพลับ วิธีปฏิบัติอาศัยกสิณแสงสว่าง

ภาพประตูโบสถ์วัดอ่างศิลา หลวงพ่อแตง ธัมมโชโต (พ.ศ.2342-2435) พระอาจารย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ซึ่งมีศิษย์สืบทอดเช่นหลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ

ส่วนท่านพุทธทาสภิกขุเป็นพระภิกษุรุ่นใหม่ที่มองพระธรรมแบบวิทยาศาสตร์และมีความรอบรู้อย่างยิ่ง ท่านปฏิเสธวัตถุนิยมและส่วนผสมของลัทธิพราหมณ์ หลังจากล้มเลิกความตั้งใจที่จะไปศึกษาวิธีการที่อินเดียและทิเบต ท่านได้ก่อตั้งคณะธรรมทานและสวนโมกขพลารามขึ้นในปี 2475 จึงเกิดสำนักวัดป่าที่มีโบสถ์ธรรมชาติ เน้นการถกธรรมและการปฏิบัติ ไม่มีตู้บริจาคและไม่รับกิจนิมนต์ ท่านเปิดให้มีการปฏิบัติด้วยตนเองโดยไม่จำกัดวิธีภาวนา

ผู้ที่ร่วมปณิธานอันยิ่งใหญ่ของท่าน ได้แก่ อาจารย์ธรรมทาส พานิช พระราชญาณกวี (บ.ช. เขมาภิรัต) และหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุต้องการวิธีปฏิบัติสายตรงซึ่งก็คือการเจริญปัญญาเพื่อถ่ายถอนอาสวะ ต่อมาท่านแนะนำการเจริญอานาปานสติ 16 ขั้น ตามพระอานาปานสติสูตร

การฟังธรรมและการสนทนาธรรมเพื่อการเจริญปัญญาเป็นลักษณะเด่นที่สะท้อนให้เห็นว่าสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญามีส่วนช่วยการปฏิบัติและการฟื้นฟูพระศาสนาได้อย่างมาก

สํานักสวนโมกข์ให้การอบรมแก่ทั้งพระภิกษุและฆราวาส ต่อมามีการอบรมแก่ผู้พิพากษาและผู้สนใจปฏิบัติเป็นประจำ ท่านเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่รู้จักกันดีในวงการพุทธศึกษาของโลก สวนโมกข์จึงเป็นที่สนใจของผู้ปฏิบัติชาวต่างประเทศในเวลาต่อมาด้วย
ต่อมาระยะหนึ่ง พระภิกษุสังกัดมหานิกายซึ่งศึกษากันในทางปริยัติเริ่มมีโอกาสฝึกการปฏิบัติด้วย การปฏิบัตินี้เกิดจากการเข้ามาของวิธีปฏิบัติจากพม่า 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการเข้ามาของพระอาจารย์ภัททันตะวิลาสะในปี 2475 ที่วัดปรก ยานนาวา และครั้งที่สองเป็นการนำเข้าศิษย์พระอาจารย์มหาสี สยาดอ ตั้งแต่ปี 2496

ท่านแรกมีอาจารย์เป็นศิษย์ฆราวาสของพระอาจารย์มิงกุน สยาดอ ซึ่งเป็นวิปัสสนาจารย์ที่สำคัญมากของพม่า ส่วนพระอาจารย์มหาสีเป็นศิษย์สำคัญของพระอาจารย์มิงกุน ทั้งสองคณะนี้นับว่ามีวิธีปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือเป็นแบบอิริยาบถตามแนวทางในพระมหาสติปัฏฐานสูตร

ศิษย์สำคัญของพระอาจารย์ภัททันตะวิลาสะคืออุบาสิกาแนบ มหานีรานนท์ ท่านได้สานต่อด้วยการเปิดสอนพระอภิธรรมและการปฏิบัติที่มักเรียกกันว่าสายรูปนาม โดยมีสถานที่แรกๆ ที่วัดระฆัง วัดสามพระยา วัดมหาธาตุและอีกหลายแห่ง

ส่วนการเข้ามาของสำนักพระมหาสี สมเด็จพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ซึ่งเป็นสังฆมนตรีและพระอาจารย์ทางคันถธุระและบาลีได้ส่งพระมหาโชดก ญาณสิทธิ ไปศึกษาที่นั่นในปี 2495 และนำพระอาจารย์เข้ามาด้วย ท่านหนึ่งคือพระอาจารย์ภัททันตะอาสภะแห่งวิเวกอาศรม

พระอาจารย์มหาสี สยาดอ เป็นวิปัสสนาจารย์ที่มีบทบาทอย่างยิ่ง ท่านเป็นอาจารย์สอนกรรมฐานให้นายพลอูนุซึ่งก็เคยศึกษาแบบอานาปานสติมาก่อน ต่อมาเมื่อมีการสังคายนา นายพลอูนุได้กำหนดให้วิธีปฏิบัตินี้เป็นวิธีเดียวและถือเป็นวิธีใหม่ของพม่า ส่วนสายอานาปานสติของศิษย์พระอาจารย์เลดี สยาดอยังมิได้นำเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย

วิธีปฏิบัติสายวัดพระมหาสีใช้ขณิกสมาธิไม่เหมือนวิธีอานาปานสติซึ่งใช้อุปจารสมาธิ มีการกำหนดสติที่หน้าท้อง ซึ่งเมื่อเข้ามาเผยแผ่ที่วัดมหาธาตุ เจ้าคุณโชดกให้กำหนดด้วยคำว่ายุบหนอ พองหนอ ส่วนการเดินจงกรมจะเป็นการเยื้องย่างช้าๆ เพราะเน้นสติที่ละเอียด

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายปกครองสงฆ์ได้ให้พระภิกษุในสังกัดทั่วราชอาณาจักรเข้ารับการอบรมแบบวัดมหาสีเท่านั้น

กล่าวสำหรับสายธรรมยุต แม้การศึกษาเน้นด้านปริยัติมากขึ้น การปฏิบัติธรรมในสำนักหลักยังไม่ตกต่ำ สายวัดโสมนัส-วัดบวรนิเวศ-วัดเทพศิรินทร์สามารถรักษาความสนใจไว้ได้ ส่วนสายพระป่าซึ่งใกล้ชิดกันก็มีพระปฏิบัติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะภาคอีสานซึ่งมีผู้ศรัทธามาก

เจ้าคุณอุบาลีฯ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น พระปัญญาพิศาลเถร (หนู) พระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ และหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม เป็นกำลังสำคัญในระยะเริ่มต้น ต่อมาในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง บางท่านละสังขาร บางท่านชราภาพ และหลวงปู่มั่นก็ไปประจำที่ภาคเหนือ หลวงปู่สิงห์จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในช่วงสมัยต่อมานี้ เกิดวัดป่าสาลวันในปี 2475 และเริ่มการปฏิบัติธรรมที่วัดบูรพารามในปี 2477 จากนั้นการเผยแผ่ก็ขยายไปถึงภาคตะวันออกและต่อด้วยภูเก็ต พังงาและกระบี่

การปฏิบัติธรรมสายพระป่าเริ่มเติบโตมากเมื่อหลวงปู่มั่นกลับจากการบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำสาริกาและเขาพระงาม ท่านสอนพระภิกษุและฆราวาสจำนวนมากที่วัดปทุมวนารามในปี 2457 ก่อนขึ้นไปอีสานเป็นเวลานาน ต่อมาภายหลังท่านไปวิเวกที่ภาคเหนือและบรรลุพระอรหัตตผล ท่านได้เผยแผ่ธรรมอย่างมากในท้องถิ่นห่างไกลแถบอีสานตอนบน

หลวงปู่มั่นปกติมีวัตรปฏิบัติอยู่ป่าและมักธุดงค์โดยลำพังไปตามป่าลึก ท่านอบรมพระภิกษุเพื่อให้เป็นหลักของพระศาสนา ผู้ที่เคยปฏิบัติกับท่านมักก้าวหน้าและมั่นคงในธรรม รศ.ดร.ปฐม นิคมานนท์ เคยประมาณว่าศิษย์โดยตรงของท่านมีไม่ต่ำกว่า 700-800 รูป

ศิษย์ภายหลังท่านบรรลุพระอนาคามิผล ได้แก่ หลวงปู่สิงห์ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระมหาปิ่น ปัญญาพโล หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่สาม อกิญจโน หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ หลวงพ่อลี ธัมมธโรหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ฯลฯ ส่วนศิษย์ภายหลังสำเร็จพระอรหัตตผล ได้แก่หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หลวงปู่ชา สุภัทโท หลวงปู่หลอด ปโมทิโต หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท หลวงปู่วิริยังค์ สิรินธโร หลวงปู่หล้า เขมปัตโต ฯลฯ

หลวงพ่อลี ธัมมธโร จัดงานสมโภช 25 พุทธศตวรรษ วัดอโศการาม โดยไม่พึ่งรัฐบาล

การบอกกรรมฐานของท่านมักย่นย่อเป็นมูลกรรมฐานห้า การบรรลุธรรมอาศัยการเกิดอริยมรรคในอัปปนาสมาธิและฌาน

หลวงปู่มั่นละสังขารที่สกลนคร ปี 2492 กองทัพธรรมสายพระป่าขยายบทบาทมาอย่างต่อเนื่อง มีสำนักสงฆ์และวัดป่ากรรมฐานกระจายไปตามเส้นทางธุดงค์ต่างๆ

ช่วงท้ายของสมัยนี้ได้เกิดศูนย์กลางการปฏิบัติที่สำคัญเพิ่มขึ้น อาทิ วัดดอยธรรมเจดีย์ซึ่งสร้างปี 2489 วัดหนองป่าพง ปี 2497 วัดป่าบ้านตาด ปี 2498 ส่วนสัญญาณของการกลับมาปักหลักในเขตเมืองใหญ่เกิดขึ้นเมื่อหลวงพ่อลี ธัมมธโร สร้างวัดอโศการามในปี 2498

จากนั้นพระสงฆ์สายพระป่าก็เริ่มเข้าถึงประชาชนทั่วไปในเมืองใหญ่ซึ่งก็นับว่าตรงตามคำทำนายในอดีตของหลวงปู่มั่น

ปีกึ่งพุทธกาลเป็นจังหวะสมัยที่สำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชน แหล่งธรรมปฏิบัติพร้อมรองรับความต้องการที่กำลังเปลี่ยนแปลง สมถวิปัสสนาแบบดั้งเดิมไม่สูญหายไปมาก วิปัสสนาได้รับความสนใจมากขึ้น คณะมหานิกายเริ่มนำเข้าการปฏิบัติแบบอิริยาบถมาเผยแผ่อย่างต่อเนื่อง สวนโมกข์ส่งเสริมการเจริญปัญญาและเป็นที่สนใจของปัญญาชน ส่วนวิปัสสนาวงศ์สายพระป่ากำลังกลับมาเผยแผ่ถึงเขตเมืองใหญ่

เหล่านี้ส่งผลให้ในสมัยต่อมาประเทศไทยมีแหล่งธรรมและวิธีปฏิบัติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ชาวพุทธมั่นใจได้ว่าพระอริยมรรคนั้นยังคงดำรงอยู่จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image