พรรษาของการเมืองไทย

ความเป็นมนุษย์หรือคนที่ต้องมีชีวิตลมหายใจอยู่ในเมืองประเทศใดในโลกนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนจักต้องเกี่ยวเนื่องกับการเมืองของประเทศตนรวมถึงหลักการใช้ชีวิตด้วยการนับถือศาสนาที่ตนเชื่อและศรัทธา นอกจากสิ่งดังกล่าวแล้วความเป็นพลเมืองยังจะต้องเกี่ยวข้องกับประเพณีวัฒนธรรม ระบบการศึกษา การที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมืองในประเทศนั้นๆ

พรรษา เป็นศัพท์บัญญัติของพุทธศาสนาหมายถึงปี ระยะเวลาที่บวช ฤดูฝน พรรษาอธิษฐานหรือ อธิษฐานพรรษาก็คือการกำหนดจิตใจว่าจะจำพรรษาครบสามเดือน ในครั้งพุทธกาลเหตุที่มาของพระภิกษุหรือพระสงฆ์จำเป็นจะต้องอยู่เข้าพรรษาก็เนื่องจากวันเวลาดังกล่าวเป็นฤดูฝนที่ประชาชนชาวบ้านที่ต้องประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนา โดยข้าวกล้าในท้องทุ่งนาอาจจะได้รับความเสียหายจากการถูกเหยียบย่ำหากแม้นพระภิกษุ พระสงฆ์มิได้อยู่ประจำสถานที่ หรือมีการสัญจรไปในสถานที่ต่างๆ โดยกำหนดให้เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ไปจนถึงวันแรม 15 ค่ำของเดือน 11 ของทุกๆ ปี

พุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้าต้องการให้พระศาสนามีความยั่งยืน มั่นคงยาวนานก็เพื่อให้พระสงฆ์ได้มีการศึกษาพระธรรมวินัยทั้งปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ การว่ากล่าวตักเตือนกันในวันปวารณาเข้าพรรษาถึงความผิดพลาดและขออภัยขอโทษต่อการกระทำผิดนั้นๆ หรือข้อแนะนำที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยเป็นหลักการสำคัญระดับต้นๆ นอกจากนั้นก็มีข้ออนุญาตที่มีความจำเป็นจะต้องไปทำกิจธุระที่สำคัญที่ไม่สามารถอยู่จำพรรษาอย่างต่อเนื่องในวัดอารามได้ที่เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” อาทิ ประชาชนชาวบ้านต้องการนิมนต์เพื่อไปรับศรัทธาการทำบุญ

บิดามารดาญาติพี่น้อง พระอุปัชฌาย์ป่วยไข้ มีโจรปล้นจี้ ไฟไหม้สถานที่อยู่อาศัย ภัยธรรมชาติน้ำท่วม แผ่นดินไหว การขาดแคลนอาหารหรือปัจจัยสี่ในการดำรงชีพ หรือแม้กระทั่งพระภิกษุสงฆ์ทะเลาะกันขัดแย้งกันทั้งความคิดความเชื่อและความรู้เป็นเหตุให้พระศาสนาเกิดความไม่มั่นคงยั่งยืน ก็อนุญาตให้จากสถานที่นั้นๆ ไปแสวงหาสถานที่ใหม่ได้เพื่อสะดวกแก่ชีวิตแห่งความเป็นสมณเพศต่อการปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พระศาสนา

Advertisement

ศาสนาพุทธได้ก่อกำเนิดในเนปาลและอินเดียได้แผ่ขยายไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จำนวนประชากรที่นับถือศาสนาพุทธทั่วโลกอยู่ในตัวเลขประมาณ 376 ล้านคน หากไปเปรียบเทียบกับศาสนาคริสต์ที่มีคนนับถือถึง 2.1 พันล้านคน ศาสนาอิสลามมีผู้นับถือ 1.5 พันล้านคน ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูมีผู้นับถือ 900 ล้านคน ศาสนาซิกข์มีผู้นับถือ 23 ล้านคน และศาสนาที่นับถือผีในเผ่าของตน 350 ล้านคน นอกจากนั้น ยังมีผู้คนที่ไม่มีความเชื่อและศรัทธาในศาสนาที่เรียกว่า “คนไม่มีศาสนา” อีกเป็นจำนวนมาก…(sites.google.com)

เมืองไทยเราประชาชนชาวบ้านส่วนใหญ่ได้มีการเชื่อนับถือศรัทธาในพุทธศาสนามาตั้งแต่ครั้งอดีต พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยถือว่ามีความงดงามทางด้านพุทธศิลป์ ชีวิตผู้คนในสมัยสุโขทัยที่เป็นหลักฐานจากหลักศิลาจารึกที่ได้กล่าวถึง “รอบเมืองสุโขทัยนี้ ตรีบูรได้สามพันสี่ร้อยวา คนในเมืองสุโขทัยนี้มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน…” เมื่อมาถึงยุคของพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี ศึกสงครามทั้งผู้คนภายในประเทศที่เป็นไส้ศึกและการรบแย่งชิงดินแดนอย่างต่อเนื่อง บริบทของศาสนาพุทธที่เกี่ยวเนื่องมาถึงยุคปัจจุบันก็คือความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูป เครื่องรางของขลัง คาถาอาคมของพระภิกษุบางรูปและบางวัดที่ดูเสมือนจะยึดเป็นระบบพุทธธุรกิจการตลาด…

นัยการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์จะเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมของนักการเมืองไทย พรรคการเมืองไทยบางพรรคเช่นใดเราท่านทั้งหลายพอจะมองเกมของระบบการเมืองไทยในปัจจุบันอย่างรู้เท่าทันทั้งนักการเมืองที่เสียทั้งอำนาจและผลประโยชน์และนักการเมืองที่ต้องการรักษาฐานอำนาจและผลประโยชน์ ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 160 ได้ระบุถึงคุณสมบัติของรัฐมนตรี (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ทั้งเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง หรือเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ…(มติชนรายวัน 11 กรกฎาคม 2562 หน้า 1)

Advertisement

มีคำถามจากประชาชนผู้คนส่วนหนึ่งอาจจะทั้งคนไทยเราและชาวต่างชาติที่ได้เฝ้ามองถึงความเป็นประชาธิปไตยในเมืองไทยเราที่ว่า ประชาธิปไตยไทยในวันนี้ได้เข้าถึงความเป็นประชาธิปไตยที่หลายคนคาดหวังว่าจะเป็นประชาธิปไตยในระดับสากล โดยเฉพาะคำถามที่ตรงไปยังหัวหน้ารัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การให้ความเห็นต่อสื่อสาธารณะของนักการเมืองบางคนในบริบทที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเมืองรวมถึงการปฏิรูปประเทศในภาพรวมจะเป็นฝันที่เข้าถึงแห่งความเป็นจริงได้หรือไม่…

ความซื่อสัตย์สุจริตและมาตรฐานของจริยธรรม ดูเสมือนว่าจะเป็น Ethical Dilemma (ภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หนีเสือปะจระเข้หรือภาวะที่ยุ่งยากใจในสถานการณ์ที่ยากลำบาก) นักกิจกรรมทางการเมืองส่วนหนึ่งที่ออกมาเรียกร้องถึงการใช้สีเสื้อ มือตบ นกหวีด ธงชาติ ปิดหูปิดตาปิดปาก เพลงแร็พ ร่ายบทกลอน เพนต์เสื้อหรือชูสามนิ้วที่บ่งบอกถึงนัยแห่งสันติภาพ เสรีภาพและภราดรภาพ รวมถึงวาทกรรมเผด็จการ ล้มเจ้า โกงจำนำข้าว เผาบ้านเผาเมือง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งเมื่อไปในพิธีเปิดอุโมงค์ทางลอดห้าแยกฉลองที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อเร็ววันมานี้ “ทำไมชอบว่าตัวเองทุกวัน ไม่มีทางที่เราจะไปได้ถ้าเราว่าตัวเองทุกวัน เพราะมันเหมือนกับสาปแช่งตัวเราเอง สาปแช่งประเทศตัวเอง ประเทศไปไม่ได้หรอก เขามีแต่ให้สร้างแรงศรัทธา ขอให้ประเทศตัวเองอยู่รอดปลอดภัย อย่างผมก็ไหว้พระทุกวัน ให้การบริหารราชการราบรื่น ไม่ได้ขอให้ใครมารักผมขอแค่ให้ทำงานให้สำเร็จ ดูแลประชาชนให้ปลอดภัย…”

นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นได้ทำการปฏิวัติรัฐประหารก็เนื่องด้วยคนไทยส่วนหนึ่งมีความคิดเห็นที่แตกแยกทั้งสีเสื้อ ขั้ว ฝ่าย จนเป็นเหตุให้มีการประท้วงรัฐบาลด้วยการปิดถนน สถานที่ราชการ สนามบิน มีการใช้อาวุธสงครามยิง ระเบิดทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ของรัฐ สถานที่ราชการสาธารณะได้รับเสียหาย เหตุผลของการเข้ายึดอำนาจก็เพื่อยุติสภาพปัญหาดังกล่าว แล้วก็มีการร่างรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศ เพลงขอเวลาอีกไม่นาน

จนกระทั่งนำมาสู่การเป็นรัฐบาลอำนาจเต็มบริหารราชการประเทศห้าปีที่ผ่านมาด้วยปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก สภาพของปัญหาที่หลากหลายถูกบริหารจัดการด้วยมาตรา 44 และตามมาด้วยการประกาศเพื่อยกเลิกคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติใน 66 คำสั่งเพื่อหวังจะคืนความเป็นประชาธิปไตยให้กับสังคมไทย…

การบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันเวลาที่ผ่านมาห้าปี สิ่งหนึ่งที่เราท่านสัมผัสได้ก็คือความสงบที่ไม่มีระเบิดรายวันยกเว้นปัญหาชายแดนภาคใต้ ประชาชนชาวบ้านส่วนหนึ่งยังประสบปัญหาถึงการใช้ชีวิตประจำวันถึงค่าใช้จ่ายที่สวนทางกับรายได้ประจำวันในการเลี้ยงดูครอบครัว การกู้หนี้ยืมสินจากเงินกู้นอกระบบ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนที่รัฐบาลให้การช่วยเหลือที่มากกว่าสิบล้านคนทั่วประเทศ ปัญหายาเสพติดที่ระบาดทั่วบ้านเมือง ปัญหาเด็กเยาวชนทั้งยุวอาชญากรและปัญหาการศึกษาอาจจะรวมไปถึงปัญหาการเมืองไทยที่มีทั้งนักการเมืองหน้าเก่า-ใหม่ที่ยังคงใช้วาทกรรมไปสู่สภาพของการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

พระภิกษุในพุทธศาสนาหากเริ่มตั้งแต่อุปสมบทใช้เวลาและชีวิตในสมณเพศเกินห้าพรรษาหรือห้าปีผ่านไปแล้วถือว่า เป็นพระที่มีความรู้ความสามารถประสบการณ์ที่จะอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรภายในวัด หรือการแสดงธรรมที่เป็นหลักการในพระไตรปิฎกอาจจะรวมถึงการบริหารการปกครองภายในวัดและนอกวัด สิ่งหนึ่งก็คือมีคุณสมบัติที่คณะสงฆ์จักแต่งตั้งให้ดำรงในตำแหน่งเจ้าอาวาส หรือผู้บริหารคณะสงฆ์ในระดับต้นๆ ในตำแหน่งต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย การสิ้นสุดของการเป็นเจ้าอาวาสก็เนื่องด้วยเงื่อนไขกระทำความผิดพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรง ถูกปลดออก ทำผิดกฎหมายของบ้านเมือง สมัครใจออกจากสมณเพศ (ลาสิกขา-สึก) ถูกจับสึกและมรณภาพหรือถึงแก่ความตาย…

บทเรียนของการเมืองไทยในวันเวลาที่ผ่านมาห้าปีในความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ที่ยังคงหาคำนิยมที่ชัดเจนมิได้ ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กับบริบทของการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศหรือการฉีกรัฐธรรมนูญและให้มีการร่างใหม่ การบริหารราชการแผ่นดินที่มีการแพร่ภาพบรรยากาศของการประชุมสมาชิกวุฒิสภาที่ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้แสดงความคิดเห็นในมติชนออนไลน์ “การประชุมวุฒิสภา ในยามบ่ายวันหนึ่งที่ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที แจ้งวัฒนะ ดูว่าง วิเวกวังเวง โหวงเหวง คาดว่าคงไม่มีประเด็นที่น่าสนใจ คนจึงไม่ค่อยนั่งฟัง ต่างก็รู้ว่าเป็นเพียงพิธีกรรมหาความหมายอะไรไม่ค่อยได้ มีประโยชน์ต่อประเทศหรือไม่ เพียงเห็นภาพคำตอบก็ผุดขึ้นมาในใจ ยามใดที่ต้องการทำหน้าที่รับใช้ผู้แต่งตั้ง ต่างเข้าประชุมกันพร้อมหน้า แต่ยามใดไม่ถูกเรียกจากเสียงของอำนาจ การขาดหายคือภาวะปกติ เห็นภาพนี้แล้วคิดกันอย่างไรต่อบทบาทของ ส.ว.”

ในข้อเท็จจริงของการเผยแพร่การประชุมดังกล่าวไปสู่สาธารณะ ประชาชนชาวบ้านหลายคนได้รับรู้ถึงการที่ ส.ว.จักต้องทำหน้าที่ในการปกป้องดูแลประเทศชาติในภาพรวม ค่าตอบแทนเงินเดือนที่ได้รับจากภาษีของประชาชนมีจำนวนมากกว่ารายได้ของชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ คำตอบของความเป็นผู้นำประเทศที่จักตอบต่อประชาชนและสภาผู้แทนราษฎรรวมทั้งสื่อก็คือ ระบบธรรมาภิบาล ความเป็นธรรม เสรีภาพของประชาชน ระบบพรรคพวกเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องในการบริหารราชการประเทศกับภาวะที่ยากลำบากกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของภาวะผู้นำ อะไรสิ่งใดคือมาตรฐานสากลที่เราท่านต่างรับรู้ได้

หลักการของจริยธรรม ที่ว่าด้วยอะไรดี-ชั่ว ถูก-ผิด ควร-ไม่ควร เป็นสามัญสำนึกที่เป็นเฉพาะตัวในแต่ละคน นักการเมืองบางคนที่ใช้วาทะถึง ความบกพร่องอย่างสุจริต ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพียงแต่กระทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม การเมืองคือเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ใครมีอำนาจผู้นั้นก็เป็นผู้ออกกฎหมาย คอมมิสชั่นก็คือคอร์รัปชั่น ระวังจะไม่มีแผ่นดินอยู่ อดีตนักการเมืองไทยหลายรายต้องคดีความของบ้านเมืองที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ บางคนก็อยู่ในคุกเรือนจำ และบางคนได้ลาจากชีวิตไปอย่างนิรันดร์เพียงแต่เหลือไว้ดี-ชั่วไว้ในตำนานให้ลูกหลานได้เรียนรู้และระวังในการมีชีวิต

เวลาของชีวิตทั้งพระภิกษุสงฆ์ที่ต้องเวียนมาในรอบปีของการเข้าพรรษา-ออกพรรษาและเวลาของนักการเมืองที่ต้องหมุนเวียนด้วยเหตุปัจจัยการเข้ามาดำรงตำแหน่งความเป็นรัฐบาลของประเทศ มีกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ฤๅว่าเวลาแห่งการดำรงตำแหน่งของการเมืองไทยที่ติดกับดักด้วยอำนาจและผลประโยชน์ จักมากกว่าเวลาของชีวิตที่ไม่เกินหนึ่งร้อยปีก็ลาโลก…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image