ฤๅการอุดมศึกษาไทยจะเดินหลงทางต่อไป : ธีรเวทย์ ประมวญรัฐการ

ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยดีที่สุด 1,000 แห่งในโลกประจำปี 2019 พบอันดับต้นๆ ยังคงอยู่ในกลุ่มเดิม อาทิ ฮาร์วาร์ด สแตนเฟิร์ด เคมบริดจ์ เอ็มไอที ยูซีเบิร์กลีย์ ปรินซ์ตัน ออกซ์ฟอร์ด โคลัมเบีย ซีไอที ชิคาโก ยูซีแอลเอ เยล คอร์เนล ยูดับเบิลยู ลอนดอน

ส่วนทางเอเชียที่ติดอันดับมีการเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญมาเป็นลำดับตั้งแต่ปี 2003 (ดูhttp://www.shanghairanking.com/ARWU2019.html)

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงนำด้วย 2 มหาวิทยาลัย คือ ม.โตเกียว กับ ม.เกียวโต ในอันดับที่ 25 กับ 32 ตามลำดับ ตามด้วยจีน 2 แห่ง คือ ม.ชินหัว (43) กับ ม.ปักกิ่ง (53) ต่อด้วย ม.แห่งชาติสิงคโปร์ (67) (เกาหลีตามมาใน 100 ลำดับแรกที่ยังมีของสิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่นกลับมาอยู่ในกลุ่มนี้อีก)

ส่วนของไทยเคลื่อนไหวทั้งจำนวนที่ลดลงเหลือ 4 มหาวิทยาลัย และร่วงลงมาเริ่มต้นที่อันดับระหว่าง 401-500 ด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล

Advertisement

ทิ้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ตกอยู่ในช่วงอันดับระหว่าง 601-700

ส่วนที่ 3-4 เป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่อยู่ในช่วง 801-900 (นอกจากนั้นก็ไม่ต้องพูดถึง)

ดูแล้วน่าตกใจพอสมควร แต่หากย้อนกลับไปดูสภาพการเดิน “หลงทางสู่ความเป็นเลิศ” ของมหาวิทยาลัยไทยก็พอจะเข้าใจได้ [ดูบทความ “การเดิน (หลง) ทาง ‘สู่ความเป็นเลิศ’ ของมหาวิทยาลัย” ของผู้เขียนใน มติชน ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2534]

ประเด็นคือ ปัญหาการอุดมศึกษาของไทยยังไม่ถึงทางตัน แต่ก็ไม่พบทางออกภายใต้ความสับสนระหว่าง “เสรีภาพทางวิชาการ” กับ “มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล/มหาวิทยาลัยนอกระบบ” ในยุค “ทบวงมหาวิทยาลัย” (2515-2546)

หลังการยุบทบวงมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2546 โดยโอนวิบากกรรมทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนที่ทยอยกันออกนอกระบบมาอยู่ใต้กำกับของ “สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา” (สกว.) กลับเพิ่มปัญหาให้กลายเป็นไฟลามทุ่งไปทั่วภูมิภาคผ่านต่อมาอีกหลายรัฐบาลอย่างน่าเศร้าและผิดหวัง ไม่เว้นรัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่วางมือปฏิรูปทั้งกระบวนไปดื้อๆ

และไม่แน่ว่า “ประยุทธ์ 2” (2562) จะมาแก้หรือเพิ่มปัญหาของการอุดมศึกษาไทยจากการนำภารกิจของอดีต “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” (ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาไม่นาน) มาผนวกกับงานที่เป็นความล้มเหลวของทบวงมหาวิทยาลัย” (ในนามของ สกว.) ที่เพิ่งเป็นอดีตไปเช่นกัน แล้วทำคลอดออกมาเป็น “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” (Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation)

เพราะเมื่อพิเคราะห์ความต้องการ “เตรียมคนและสังคมไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21” ซึ่งระบุว่าเป็นเป้าหมายของกระทรวงใหม่นี้ นั่นควรเป็นวิสัยทัศน์ของกระทรวงศึกษาธิการในยุคโลกดิจิทัลนี้ด้วยซ้ำ จึงน่ากลัวว่าจะมีการหลงปรัชญาที่อาจทำให้ความพยายามนำมหาวิทยาลัยไทยเข้าสู่วาระแห่งชาติในโหมดปฏิรูปเร่งด่วนเกิดการผิดฝาผิดตัวหรือไม่ อย่างไร

แต่ถ้าจะให้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ยังอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ (แต่ต้องปฏิรูปแล้ว) ต่อไปก็คงได้ จากนั้นค่อยนำโจทย์ “มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล” ที่เป็นยาขมตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2530s มาตีให้แตก เพื่อกำหนดแผนพัฒนาต่อยอดภายใต้ปรัชญา “เสรีภาพทางวิชาการ” ที่มีความพยายามสถาปนาย้อนหลังไปตั้งแต่มี “ปฏิญญาสวางคนิวาส (บางปู) 2506” ที่ไม่ล้าสมัย กลับมาปัดฝุ่นใหม่ และปฏิบัติการได้อย่างไม่ซับซ้อนเกินไป

อุดมศึกษาไทยที่แม้วันนี้ยังออกทะเลหาฝั่งไม่เจอ แต่ยังมีความหวังที่จะกลับมาเป็นโคมส่องชี้นำทิศทางการพัฒนาประเทศที่จะทั้งร่วมมือและแข่งขันได้กับนานาอารยประทศในประชาคมโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image