แนวรบด้านเหนือ เหตุการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ทางรถไฟในแผน Belt and Road Initiative ของจีนที่ตัดกลางพม่า ผ่านรัฐฉาน ทางตอนเหนือ อันเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังของพันธมิตรภาคเหนือในปัจจุบัน

เมื่อวันก่อนผู้เขียนมีโอกาสได้ไปดูภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Soil Without Land หรือ “ดินไร้แดน” ที่กำกับโดยนนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับมากฝีมือที่ทำภาพยนตร์ในประเด็นความขัดแย้งทางชาติพันธุ์มาแล้วหลายเรื่อง ผู้เขียนมีโอกาสรู้จักนนทวัฒน์มาตั้งแต่ที่เขานำภาพยนตร์เรื่อง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (2013) อันกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยปราสาทเขาพระวิหาร ในภาพยนตร์เรื่องดินไร้แดนนี้ นนทวัฒน์กล่าวถึงความขัดแย้งในทางความคิดระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่ม ได้แก่ พม่าและฉาน (ไทใหญ่) ในขณะที่ “รัฐ” ของทั้งสองฝั่งมุ่งสู้รบเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตนต้องการ ฝ่ายหนึ่งอ้างความสมัครสมานสามัคคีของคนทุกหมู่เหล่าภายในสหภาพ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งอ้างความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศักดิ์ศรี อำนาจอธิปไตย และข้อตกลงปางโหลงที่มีมาตั้งแต่ปี 1947 เพื่อแยกตัวเป็นเอกราช ความขัดแย้งในระดับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์นี้มีความซับซ้อน ยืดเยื้อ ยาวนาน และไม่เอื้อประโยชน์ให้ใคร นอกจากผู้นำที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งแค่ไม่กี่คน ส่วนประชาชนข้างล่างก็ต้องเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ของรัฐ

ตัวแสดงหลักในภาพยนตร์ของนนทวัฒน์เป็นทหารในกองทัพรัฐฉานใต้ (Shan State Army-South) ที่อาศัยอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย-พม่า นโยบายของสภาฟื้นฟูแห่งรัฐฉาน (Restoration Council of Shan State) และกองทัพรัฐฉานใต้ คือการบังคับเกณฑ์ทหาร และเมื่อการสู้รบระหว่างกองทัพฉานและกองทัพพม่ารุนแรงขึ้น ก็จะเกิดการบังคับเกณฑ์ทหารที่เข้มข้นขึ้น เมื่อใดที่ทหารหนุ่มมีจำนวนไม่เพียงพอ กองทัพก็จะบังคับให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือต่ำกว่านั้นฝึกทหาร และฝึกการใช้อาวุธอย่างจริงจัง การปะทะกันระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยยังเกิดขึ้นเป็นปกติ

ในอีกฝั่งหนึ่งของรัฐฉาน รัฐฉานตอนเหนือกำลังประสบความความรุนแรงระลอกใหม่ ในกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กองกำลังของพันธมิตรภาคเหนือ (Northern Alliance) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่ม 4 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพอาระกัน (AA) กองทัพเพื่อเอกราชกะฉิ่น (KIA) กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ
เมียนมา (MNDAA) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) บุกโจมตีฐานของกองทัพพม่าหลายแห่ง รวมทั้งโรงเรียนนายร้อยของพม่าที่เมืองปยินอูลวิน (เมเมี้ยว) เป็นเหตุให้มีทหารและพลเรือนพม่าเสียชีวิตอย่างน้อย 14 นาย

หลังการโจมตีครั้งใหญ่ในกลางเดือนสิงหาคม ก็มีการโจมตีครั้งย่อยๆ เกิดขึ้นในรัฐฉานตอนเหนืออีกหลายครั้ง กองกำลังพันธมิตรภาคเหนือเน้นการระเบิดทำลายโครงสร้างพื้นฐาน เส้นเลือดหลักของการสัญจรไปมาระหว่างรัฐฉานกับพม่าตอนเหนือ เช่น การระเบิดทำลายสะพานโก้ก-ตวิน (Goke Twin) ที่เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงสายมัณฑะเลย์-ล่าเฉียว-มูเซ เส้นทางการค้าสำคัญเชื่อมระหว่างพม่าตอนเหนือกับจีนตอนใต้

Advertisement

หากจะกล่าวว่าลักษณาการของการสู้รบที่พบในรัฐฉานทางตอนเหนือและทางตอนใต้เหมือนกัน เพราะเกิดขึ้นในรัฐฉานเหมือนๆ กัน คงไม่ถูกต้องนัก รัฐฉานนั้นไม่ได้เป็นเพียง “รัฐ” ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อมีการสำรวจในยุคอาณานิคมเท่านั้น แต่รัฐฉานยังเป็นผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่ผสมปะปนกัน มิได้มีแต่ชาวฉาน แต่ยังมีชนกลุ่มน้อยที่สำคัญๆ อื่นๆ เช่น ว้า ตะอาง ปะหล่อง และโกก้าง รัฐฉานทางเหนือ หรือเขตสามเหลี่ยมทองคำ ยังเป็นที่ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมากมายในเชิงเศรษฐกิจ เพราะอยู่ติดชายแดนจีน เป็นประตูสู่จีนตอนใต้ และยังมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดม ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ อัญมณี และแร่ธาตุอื่น ๆ ตลอดจนเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน (ส่วนประกอบสำคัญของยาไอซ์) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน

การโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพพม่าเกิดขึ้นในระหว่างที่ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศยังมีผลบังคับใช้ เพียงแต่กองกำลัง 3 กลุ่มในกองกำลังของพันธมิตรภาคเหนือไม่ได้รับเชิญให้เข้าเจรจาหยุดยิงที่ลงนามกันมาตั้งแต่ปี 2015 ในระหว่างที่มีการสู้รบ มีประชาชนที่ต้องหนีออกจากพื้นที่กว่า 8,000 คน องค์กรนานาชาติที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ เพราะมีการซุ่มโจมตีอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีข้อเรียกร้องจากจีนให้กองกำลังของพันธมิตรภาคเหนือวางอาวุธและเลิกโจมตี แต่ก็ไม่เป็นผล จีนยังพยายามเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังของชนกลุ่มน้อยในรัฐฉานตอนเหนือด้วย

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าจีนมีบทบาทยิ่งต่อการสร้างสันติภาพในรัฐฉานตอนเหนือ และประชาคมโลกเอง ไม่ว่าจะหวาดระแวงรัฐบาลจีนมากเพียงใด ก็มองว่าจีนเป็นตัวแสดงและตัวกลางเพียงผู้เดียวที่จะสามารถเกลี้ยกล่อมทั้งกองทัพพม่าและกองกำลังชนกลุ่มน้อยในรัฐฉานตอนเหนือ ซึ่งต่างเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาจีน ให้เข้าสู่โต๊ะเจรจาได้ หากจะมีใครที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในรัฐฉานตอนเหนือ-พม่าตอนเหนือ นั่นคือจีน เพราะจีนกำลังสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมมัณฑะเลย์กับรุ่ยลี่ (Ruili) เมืองชายแดนของจีน โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมของจีน (Belt and Road Initiative-BRI) ความสงบในพื้นที่จึงสำคัญมากกับการลงทุนของจีน

Advertisement

แต่ที่ผ่านมานโยบายเศรษฐกิจของจีนเป็นไปในแนวลงทุน (ในพื้นที่ที่มีข้อพิพาท) ไปก่อน แล้วค่อยจัดการเรื่องสันติภาพทีหลัง และชนกลุ่มน้อยเองก็ไม่ต้องการมีข้อขัดแย้งกับจีน จึงโจมตีกองทัพพม่าในฝั่งพม่า หลีกเลี่ยงการโจมตีในแถบชายแดนพม่า-จีน สถานการณ์ความตึงเครียดในรัฐฉานตอนเหนือเพิ่มขึ้นเพราะกองทัพพม่าใช้กำลังอย่างเด็ดขาดเพื่อปราบปรามกองกำลังกลุ่มนี้ ในขณะที่ฝ่ายหลังจำต้องต่อสู้เพื่อป้องกันตนเอง ชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่เชื่อว่าการสู้รบที่ยืดเยื้อจนถึงทุกวันนี้ไม่ได้เกิดจากชนกลุ่มน้อย หากแต่เป็นการเริ่มโจมตีก่อนของกองทัพพม่า ดังนั้นการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพจึงต้องเริ่มจากกองทัพพม่าเป็นหลัก และผู้เดียวที่จะหยุดกองทัพพม่าได้ ไม่ใช่ออง ซาน ซูจี ไม่ใช่สหประชาชาติ หรือไม่ใช่เทวดาที่ไหน…

แต่เป็นรัฐบาลจีน ที่จะต้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อกดดันกองทัพพม่ามากขึ้น และในขณะเดียวกันจีนก็ต้องเริ่มพูดคุยกับชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ ให้ความมั่นใจว่าการลงทุนของจีนเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย ทุกชาติพันธุ์ มิใช่ประโยชน์ของกลุ่มชาติพันธุ์พม่าฝ่ายเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image