ระบอบการปกครองแบบมั่วๆ : วีรพงษ์ รามางกูร

ระบอบการปกครองของประเทศเป็นระบอบการปกครองแบบใด ไม่มีผู้ใดตอบได้ด้วยความมั่นใจ แม้ว่าประเทศไทยปกครองโดยระบอบกฎหมายรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน แต่ก็ไม่มีใครมั่นใจได้ว่าการปกครองก็ดี การวินิจฉัยกรณีต่างๆ จะเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าฉบับใดก็ตาม

โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสียหายโดยที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เริ่มตั้งแต่กรอบใหญ่ว่าประเทศไทยรับการสืบทอดอำนาจจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ทำรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนในการสร้างและนับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทย ที่มีรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 20 ฉบับ

รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นผลพวงจากการทำปฏิวัติรัฐประหารของคณะ คสช. นายทหารจากค่ายทหารจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นกรณีที่แปลกและผิดปกติไปจากประเพณีของการทำรัฐประหารในประเทศไทย การทำรัฐประหารครั้งนี้มีการเตรียมการกันมานานอย่างที่นายกรัฐมนตรีกล่าวยอมรับว่าเตรียมการมาถึง 3 ปี และเตรียมการอย่างเข้มข้นเป็นเวลากว่าปี ไม่ใช่กระทำการอย่างปุบปับกะทันหัน เราจึงเห็นการเตรียม
การหลายอย่าง เช่นการใส่เกียร์ว่างของข้าราชการ ให้ความร่วมมือกับ กปปส.จัดการชุมนุมขับไล่รัฐบาล เริ่มตั้งแต่การกล่าวหาเล็กๆ แล้วขยายวงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ มีผู้เข้าร่วมขบวนการมากขึ้น มีผู้ลากมากดีร่วมบริจาคเงินเป็นล้านๆ เป็นสิบๆ ล้านก็หลายราย นอกเหนือไปจากการสนับสนุนของผู้นำกองทัพ คำสารภาพของผู้นำที่ทำการปฏิวัติรัฐประหารว่าคิดเตรียมการมานาน 5-6 เดือน และครั้งสุดท้ายก็กล่าวว่าคิดทำการปฏิวัติรัฐประหารมากว่า 3 ปีแล้ว

การที่อดีต ผบ.ทบ.หัวหน้าคณะรัฐประหาร คสช.กล่าวเช่นนั้นและก็เป็นความจริง ก็หมายความว่ากองทัพตั้งธงที่จะปฏิวัติรัฐประหารอยู่แล้ว เมื่อประสบจังหวะเหมาะที่จะทำการก็ค่อยนำเหตุผลมาอธิบายการที่ตนทำปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งไม่ยากเพราะเหตุของการนำปฏิวัติรัฐประหารมีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ 1.มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รัฐบาลไม่สามารถป้องกันปราบปรามได้ 2.รัฐบาลปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างกว้างขวาง เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ และ 3.รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ผู้คนเดือดร้อน เศรษฐกิจของคนรากหญ้าฝืดเคืองทุกข์ยาก ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างขึ้นทุกที ปัญหาเหล่านี้จะปล่อยไว้ก็จะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ คณะทหารตำรวจและพลเรือนเห็นความจำเป็นต้องยึดอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นเพื่อทำการปฏิรูปและบัดนี้ได้ยึดอำนาจไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Advertisement

การปฏิวัติรัฐประหารจึงง่าย มีรูปแบบการปฏิวัติรวมทั้งคำแถลงการณ์สำเร็จรูปไว้ให้ใช้อยู่แล้ว เมื่อทำการปฏิวัติสำเร็จก็สถาปนาตัวเองเป็นหัวหน้ารัฐบาล แล้วก็แต่งตั้งพรรคพวกตัวเองจากฝ่ายทหารและฝ่ายอาจารย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เข้าร่วมรัฐบาล แล้วทำการปกครองประเทศถึง 5 ปีก่อนมีการเลือกตั้ง

ในช่วงเวลา 5 ปี สภาซึ่งเป็นรัฐบาลทหารและข้าราชการพลเรือน ความคิดริเริ่มจึงไม่มี เพียงแต่เอาโครงการของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาปัดทำใหม่ ส่วนที่เคยสัญญาว่าจะทำการปฏิรูปการเมือง ขจัดปัญหาคอร์รัปชั่น การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาใหญ่ๆ ให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ปรากฏผลสำเร็จเป็นรูปธรรม มีโครงการเดียวที่เดินหน้าต่อได้เร็วกว่าเดิมคือ โครงการรถไฟรางคู่ นอกนั้นก็เป็นโครงการธรรมดาที่รัฐบาลเก่าเอาหางแช่น้ำก่อนจะหมดวาระ แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารในรอบ 5 ปีไม่มีอะไรใหม่เลย แถมหลายอย่างยังเป็นเรื่องถอยหลังเข้าคลองด้วยซ้ำ เช่นการนำภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดกกลับมาใช้อีก แทนที่จะปฏิรูประบบภาษีอากรไปข้างหน้าให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

บางครั้งแม้ว่าจะมีธงตั้งไว้อยู่แล้วและหาทางให้ไปถึงจุดหมายทางการเมืองหรือการบริหาร ซึ่งไม่มีเหตุผลและขัดกับหลักการประชาธิปไตยแต่ก็ต้องการจะทำ โดยอธิบายว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ซึ่งความจริงประชาธิปไตยแบบไทยๆ นั้นไม่มี ประชาธิปไตยนั้นเรานำเข้ามาจากต่างประเทศ สิทธิเสรีภาพ เสมอภาคและสิทธิมนุษยชน ล้วนเป็นแนวความคิดที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งนั้น

Advertisement

รวมทั้งการแต่งกาย การจับมือทักทายและอาจจะรวมทั้งวิชาการสาขาต่าง ที่เราต้องศึกษาเล่าเรียนและฝึกฝนด้วย ล้วนเป็นของฝรั่งต่างประเทศทั้งนั้น ซึ่งเห็นว่ามีดีบ้างไม่ดีบ้าง

ส่วนระบอบการเมืองของไทยนั้น เรารับมาจากขอมหรือเขมร สมัยกรุงศรีอยุธยาก็เป็นระบอบกษัตริย์สมมุติเทพ ความมีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดอย่างสมบูรณ์ของกษัตริย์ที่เรียกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบกฎหมายก็พัฒนามาจากพระมนูศาสตร์ของอินเดีย ผสมกับขงจื่อในเรื่องหน้าที่ของผู้คนในแต่ละฐานะ ตั้งแต่เป็นบุตรหลานในครอบครัว วงศ์ตระกูล ผู้ปกครองท้องถิ่น ไปถึงฮ่องเต้ผู้ปกครองประเทศ ไม่มีส่วนไหนเป็นประชาธิปไตยเลย แม้เราจะพยายามกล้อมแกล้มโมเมเอาบางอย่างว่าเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ซึ่งค้านกับระบอบเจ้าขุนมูลนายกับระบบไพร่ที่เป็นอยู่เดิมก่อนที่จะมีการประกาศเลิกทาสในปี 2448 และการปฏิรูประบอบการปกครอง ยกเลิกระบอบจตุสดมภ์ซึ่งใช้มาตั้งแต่แผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ความเป็นชนชั้นของสังคมไทยค่อนข้างรุนแรงและเคร่งครัด

ด้วยเหตุที่ความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ สิทธิมนุษยชน เป็นของที่ถูกยัดเยียดให้คนไทย เพื่อที่จะสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือแบบมั่วๆ คือมีรัฐธรรมนูญที่มั่วๆ มีปัญหาเพราะร่างขึ้นมาเพื่อคนชั้นสูง กลุ่มผู้มีอำนาจ อภิสิทธิ์ชน ยังมีวุฒิสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี พรรคการเมืองที่แพ้เลือกตั้งก็สามารถเป็นรัฐบาลได้ เพราะมีวุฒิสมาชิกร่วมในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีแล้วก็อ้างว่าได้รับเลือกจากเสียงส่วนมาก ผู้สมัครรับเลือกตั้งได้คะแนนไม่ถึงคะแนนเฉลี่ย 71,000 เสียงก็ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะมิฉะนั้นรัฐบาลจะไม่ได้เสียงเกินครึ่ง ถ้าให้ผู้สมัครเหล่านั้นตกไปเพราะได้คะแนนเพียง 3-4 หมื่นเสียง

องค์กรอิสระเช่นคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ไม่ยอมเปิดเผยคะแนนของผู้สมัครเลือกตั้งเป็นรายเขตของทุกคน เพราะกลัวมีปัญหาการนับคะแนน

เมื่อตอนทำปฏิวัติรัฐประหารใหม่ๆ มีผู้ถูกศาลตัดสินลงโทษฐานไม่ไปรายงานตัวกับหัวหน้า คสช. หัวหน้าคณะรัฐมนตรี โดยอ้างว่าตำแหน่งรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าพนักงาน มีอำนาจเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมายได้ จำเลยจะอ้างว่าไม่ไปตามคำสั่ง คสช. เพราะไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าพนักงานไม่ได้ แต่พอจะสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐสมัคร ก็อ้างว่าตนซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าพนักงาน เอาสีข้างเข้าถูให้ได้ดูกันอย่างที่เห็น

ระบอบการปกครองของไทยเริ่มมั่ว เมื่อไทยมีอคติกับนักการเมืองที่เป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองในขณะนั้น เมื่อพรรคไทยรักไทยได้เสียงในสภาเกินครึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในระบอบรัฐสภาไทยที่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองพรรคหนึ่งจนมีเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสภา สร้างความตกใจและความกลัวให้กับเหล่าอภิสิทธิ์ชน กล่าวหาว่าเป็นเผด็จการโดยรัฐสภา ทั้งๆ ที่เป็นรัฐบาลที่มาจากเสียงประชาชนตามระบอบรัฐสภา เป็นการปกครองโดยเสียงข้างมาก แม้ว่าวินัยของพรรคจะเข้มแข็ง ส.ส.ของพรรคต้องปฏิบัติตามมติพรรค แต่สภาก็มีฝ่ายค้านและมีการเลือกตั้งทั่วไปทุกๆ 4 ปี ประชาชนสามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้โดยสันติวิธีทุกๆ 4 ปี แต่คนไทยก็รังเกียจ กล่าวหาว่าเป็นระบอบการปกครองเผด็จการโดยรัฐสภา แม้แต่ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจากอังกฤษก็เป็นไปกับเขาด้วย

การปกครองของไทยแท้ๆ จึงเป็นการปกครองที่ไม่มีกติกาที่แน่นอน ไม่มีนิติรัฐ ไม่มี rule of law แต่เป็นการปกครองโดยอำเภอใจ คณะกรรมการเลือกตั้งก็ดี องค์กรอิสระที่วินิจฉัยรัฐธรรมนูญก็ดี หรือข้อขัดแย้งระหว่างรัฐกับเอกชนก็ดี ตั้งแต่มีการให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอื่นมาร่วมวินิจฉัยแก้ไขปัญหาการเมืองของประเทศ

เป็นการทำลายความเชื่อถือของระบบยุติธรรมอย่างใหญ่หลวง เป็นการทำลายเกียรติภูมิของอำนาจนิติบัญญัติครั้งใหญ่ ไม่มีทางเยียวยามาจนบัดนี้ การตั้งตุลาการมาเป็นกรรมการทำงานบริหารได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบอบการปกครอง

เมื่อจะมีการวินิจฉัยเรื่องทางการเมือง ผู้คนก็ไม่รู้สึกมั่นใจว่าคำวินิจฉัยจะสมเหตุสมผลหรือตั้งอยู่บนข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง บนเหตุผลและจริยธรรม ในวงการวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์มหาวิทยาลัย จริงอยู่ “การเป็นนักวิชาการที่ถือตัวจนเกินไป ไม่ยอมเสวนาเสพสังวาสกับนักการเมืองผู้บริหาร ย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเท่าที่ควร” แต่การปฏิสัมพันธ์ การใช้วิชาและให้แสงสว่างกับฝ่ายการเมืองก็ควรตั้งอยู่บนความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพและเกียรติภูมิของตน เพราะประชาชนย่อมมีความคาดหวังจากนักวิชาการผู้มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของตน แตกต่างจากการคาดหวังจากนักการเมืองและเผด็จการทหาร

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ผ่านประชามติรับรอง เพราะขณะที่จะลงประชามติก็ดี กระแสจากฝ่ายทหารออกมาบอกว่าให้รับไปก่อนแม้จะเห็นว่ามีสิ่งบิดเบี้ยวแปลกปลอม กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนลงคะแนนประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จึงผ่านประชามติมาอย่างง่ายดาย ส่วนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นไปได้ยาก โดยต้องเริ่มตั้งแต่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิกจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่ดำเนินการอยู่ปัจจุบันไม่น่าจะทำได้ ความจริงการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ควรเริ่มต้นด้วยการแก้เพียงมาตราเดียวก่อน คือการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีต้องไม่เลือกในที่ประชุมรัฐสภาซึ่งวุฒิสมาชิกมาร่วมประชุมและมีสิทธิออกเสียงด้วย ตามระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือประชาธิปไตยแบบมั่วๆ เพราะรัฐสภาไม่มีทางเลือกคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรีได้เลย ไม่ว่าจะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวนเท่าใด

ระบอบไทยๆ แบบนี้คงจะกล่าวได้ว่าออกแบบโดย “ศรีธนญชัย” นั่นเอง

ระบอบมั่วๆ แบบไทยๆ ก็คือสามารถบิดเบือนหรือตีความรัฐธรรมนูญได้ตามใจชอบ ถ้าต้องการให้คนอื่นปฏิบัติตามกฎหมายก็จะสร้างกระแสกดดันให้องค์กรอิสระดำเนินการอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าไม่ต้องการ องค์กรอิสระก็ใช้วิธียืดเวลาพิจารณาออกไปเป็นเวลานาน 5-10 ปี ผู้คนก็ลืมไปหมดแล้ว ตุลาการก็เปลี่ยนตัวไปหลายคนแล้ว หรือบางครั้งจำเลยเสียชีวิตไปแล้ว หรือกลายเป็นคนสูงอายุไปแล้ว ได้รับการลดโทษและไม่ต้องถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ แต่ให้ “จำ” อยู่ที่บ้าน

พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย ใช้ “ความเกลียดชัง” เป็นหลักในการหาเสียง ไม่ต้องเสวนานโยบายหรือโครงการพัฒนาใดๆ แต่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่สืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนก็ได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมากในสภาเกือบทุกครั้ง

ขณะเดียวกันฝ่ายตรงกันข้ามไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่ยอมข้าม “ทักษิณ” อาจจะเป็นเพราะไม่มีปัญญาค้นคิดโครงการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองมาเสนอประชาชน

ที่มั่วสุดสุด คือพรรคประชาธิปัตย์ก็ดี พรรคภูมิใจไทยก็ดี ในขณะหาเสียงให้คำมั่นว่าจะไม่ยอมให้นายกรัฐมนตรีทหารที่เคยทำลายระบอบประชาธิปไตยได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้ง 2 พรรคตระบัดสัตย์ ลงคะแนนเสียงด้วยการลุกขึ้นกล่าวขานชื่อนายกรัฐมนตรีคนเก่ากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ยังดีที่ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาเลือกก่อน

ไม่เช่นนั้นเราคงจะได้ยินเสียงประธานสภาผู้แทนราษฎรกลืนน้ำลายแล้วขานชื่อประยุทธ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image