ภาพเก่าเล่าตำนาน : เมืองหลวงใหม่..เคยคิดจะย้ายไป‘เพชรบูรณ์’

ข่าวของเพื่อนบ้านเมืองอิเหนา จะย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปอยู่ที่บอร์เนียว น่าสนใจครับ… เพราะแผ่นดินจาการ์ตากำลังจะจมน้ำ ประชากรแออัดยัดเยียด การจราจรเลวร้าย สาธารณูปโภค ถนนหนทาง ขยับขยายไม่ออก เป็นสาเหตุหลักที่รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนจะย้ายเมืองหลวงไปตั้งใหม่ที่บอร์เนียว

ผู้เขียนเคยไปปฏิบัติหน้าที่ “รักษาสันติภาพ” ในจังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซียในปี พ.ศ.2547-2548 ต้องบิน 3 ชั่วโมง เข้ามารายงานสถานการณ์ “การหยุดยิง” ของจังหวัดอาเจะห์ ในนครจาการ์ตา เดินทางเข้า-ออกจาการ์ตานับครั้งไม่ถ้วน…

ต้องขอยืนยันว่า สภาพของสิ่งแวดล้อมย่ำแย่จริงๆ กรุงจาการ์ตามีประชากรอาศัยถึง 10 ล้านคน ในทางกายภาพ.. เมืองนี้เป็นเมืองที่กำลังทรุดตัวเร็วที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง วิศวกร สถาปนิก ฟันธงว่า บางส่วนของเมืองอาจจมอยู่ใต้น้ำได้ภายในปี 2050

จาการ์ตาเป็นเมืองติดฝั่งทะเลชวา และมีแม่น้ำถึง 13 สายไหลผ่านเมือง เมืองนี้กำลังทรุดตัวหมดทางเยียวยาแก้ไข 95 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ตอนเหนือของกรุงจาการ์ตา ซึ่งอยู่ติดกับทะเลชวา น่าจะจมน้ำภายในปี 2050

Advertisement

สยามของเรา ก็เคยขยับตัวแรงๆ คิดจะย้ายเมืองหลวงมาก่อน..

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ขอชวนคุย ประวัติศาสตร์ชนชาติไทย ที่ครั้งหนึ่ง นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งการให้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์….

8 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกขึ้นทางฝั่งทะเลอ่าวไทย ยื่นคำขาดให้สยามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ในที่สุด จอมพล ป. ตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น..ประกาศสงครามกับ อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา

มันคือ ภาวะจำยอม และไม่มีทางเลือก ที่ต้องร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้ให้ได้ เพราะในเวลานั้นกองทัพญี่ปุ่นอาจหาญ เกรียงไกร ยิ่งใหญ่เกินใครจะต้านทาน… และหลังจากลงนามความร่วมมือ กองทัพญี่ปุ่นก็ลดท่าทีแข็งกร้าวลง

กองทัพลูกซามูไรเข้ามาตั้งฐานทัพหลายแห่ง สร้างทางรถไฟในสยามข้ามพรมแดนไปรบกับอังกฤษในพม่า …สัมพันธมิตรถือว่า สยามเป็นคู่สงคราม

ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร บินมาทิ้งระเบิดใส่กรุงเทพฯ นนทบุรี ชุมพร และเมืองต่างๆ ด้วยเหตุผล ต้องการโจมตีกองกำลังทหารญี่ปุ่นในสยาม

เครื่องบินทิ้งระเบิดตัวพ่อ คือ B-24 บินมาทิ้งระเบิดระหว่างปี พ.ศ.2485 ถึง 2488 รวม 34 ครั้ง

14 ธันวาคม 2487 ทิ้งใส่สะพานพระราม 6 พังพินาศ

เป้าหมาย ถูกโจมตี ได้แก่ สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีรถไฟบางกอกน้อย สถานีรถไฟช่องนนทรี โรงงานซ่อมสร้างหัวรถจักรมักกะสัน โรงไฟฟ้าวัดเลียบ ท่าเรือคลองเตย สนามบินดอนเมือง สถานีรถไฟบางซื่อ ย่านโรงพยาบาลศิริราช ย่านสะพานพุทธ

สะพานจุฬาลงกรณ์ ข้ามแม่น้ำแม่กลองกลางเมืองราชบุรี โดนทิ้งบอมบ์อ่วม และยังมีระเบิดขนาดมหึมา จม แช่อยู่ในแม่น้ำให้ไว้ดูต่างหน้ายามคิดถึงอีก 7 ลูก…

ต่างจังหวัด เช่น สะพานปรมินทร์ข้ามแม่น้ำน่าน ชุมทางบ้านดารา จังหวัดอุตรดิตถ์ ถูกทิ้งระเบิดทำลายพังพินาศ

เมื่อ พ.ศ.2485-2486 รัฐบาลไทยซึ่งมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประชุมวางแผนการ เพื่อจะย้ายเมืองหลวง

2 กรกฎาคม 2485 นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. นำพระราชกำหนดจัดสร้างนครหลวง เสนอต่อสภา…เมืองที่ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาในขณะนั้นคือ อยุธยาและสระบุรี…สภาเห็นชอบ-อนุมัติ

6 กรกฎาคม 2485 จอมพล ป. นั่งหัวโต๊ะ เชิญทุกกระทรวงมาหารือ แล้วออกสำรวจพื้นที่ ศึกษา “ความเป็นไปได้”

จุดเปลี่ยนที่สำคัญในช่วงเวลานั้น คือ เฮ้ย.. ญี่ปุ่นกำลังจะแพ้สงคราม สยามจะเดินหน้าต่ออย่างไร… หากสัมพันธมิตรเข้ามากวาดล้าง สู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นในแผ่นดินสยาม

16 มิถุนายน 2486 จอมพล ป. ตัดสินเด็ดขาด เปลี่ยนแผนย้ายเมืองหลวงไป “เพชรบูรณ์” เพื่อเป็นเมืองที่มั่น ที่จะตีตลบหลังกองทัพญี่ปุ่น…

“ความลับในใจ” ของจอมพล ป. และทุกฟากฝ่ายในประเทศสยาม คิดเหมือนกัน คือ คิดต่อต้านญี่ปุ่นในใจเสมอมา ยังไงญี่ปุ่นก็ไม่มีทางชนะสงครามที่รบกับอเมริกา หากแต่ในเวลานั้น ผู้นำต้องนำพา “ชาติ” ให้รอดปลอดภัย ไม่ต้องการให้สยามล่มสลาย….

จอมพล ป. คิดลึกซึ้ง..ยากที่จะอธิบายต่อสาธารณชน

เมืองเพชรบูรณ์ มีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ เหมาะกว่าอยุธยา และ สระบุรี ภูเขาล้อมรอบ ภูมิประเทศสวยงาม อากาศดี ประการสำคัญ คือ อยู่ตรงกลางของประเทศ

ที่ตั้งของเพชรบูรณ์ เป็นศูนย์กลางภาคเหนือกับภาคอีสาน และกรุงเทพฯ

แนวคิดการย้ายเมืองหลวง จอมพล ป. ใช้การออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีเป็นส่วนใหญ่ โดยมีคำสั่งครั้งแรกในวันที่ 13 มีนาคม 2486

ประกาศใช้พระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ พ.ศ.2487 กำหนดให้ราชการบริหารส่วนภูมิภาคจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นนครบาลเพชรบูรณ์

จอมพล ป. เอาจริง ไม่ได้ล้อเล่น…

ทางราชการเริ่มดำเนินการอพยพราษฎร หอบลูกจูงหลาน มาตั้งหลักแหล่งที่เพชรบูรณ์ พร้อมกับย้ายที่ทำการรัฐบาลหลายหน่วย

จอมพลกระดูกเหล็ก ไปทำพิธีตั้งหลักเมืองนครบาลฯ ที่บ้านบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2487 (ตามภาพ) ส่วนที่ทำการราชการต่างๆ นั้นจะสร้างเป็นลักษณะชั่วคราว เรียกว่าโครงสร้าง จ.ผ.ด. (จักสาน-ไม้ไผ่-ดินเผา)

ชาวสยามพูดจากันอื้ออึง นี่มันอะไรกันอีกวะ เกิดความวิตกหวั่นไหวของชาวกรุงเทพฯ ที่เป็นชนชั้นนำของประเทศ พ่อค้า แม่ขาย สถานศึกษา ทุกอย่างที่สำคัญ มีคุณค่าอยู่ตรงนี้ .กรุงเทพฯ คือ หัวใจของประเทศ…

มีการเกณฑ์ราษฎรมาจาก 29 จังหวัด จำนวนนับแสนคน จนเกิดคำเรียกคนเหล่านั้นว่า “คนเกณฑ์”

เพชรบูรณ์ เป็นป่าเขาที่ยังเขียวชอุ่ม ธรรมชาติยังบริสุทธิ์ บรรดาคนเกณฑ์ ลูกเด็ก เล็กแดง ประสบความยากลำบาก เจ็บป่วย ล้มตายด้วยไข้มาลาเรียจำนวนมาก เรียกกันว่า “ไข้ป่า”

การอพยพราษฎรจากจังหวัดต่างๆ มาตั้งบ้านเรือน และทำมาหากินที่เพชรบูรณ์ เพื่อทำหน้าที่เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เป็นอาหารแก่หน่วยทหารและใช้แรงงาน ทางราชการจัดการขนส่ง และจัดแบ่งที่ทำกินให้ฝั่งตะวันออกแม่น้ำป่าสักและให้ทุนเริ่มแรกตามสมควร

หน่วยงานที่สั่งปุ๊บ ย้ายปั๊บ ง่ายที่สุด คือ หน่วยทหาร

กองทัพบกสั่งย้ายโรงเรียนนายร้อย จปร.ไปตั้งที่โนนผักชี บ้านป่าแดงที่ ต.ป่าเลา อ.เมืองเพชรบูรณ์

นักเรียนนายร้อยเตรียม ทบ.รุ่น 6 ที่เข้าศึกษาในพฤษภาคม พ.ศ.2486 เรียกกันเองว่า รุ่นป่าแดง นายทหารรุ่นปู่ รุ่นทวด เล่าให้ฟังว่า แทบไม่ได้เรียนหนังสือหนังหา เพราะอาจารย์ให้นักเรียนนายร้อยไปตัดไม้ไผ่ ทำโรงเรือนที่พักทั้งวัน ยุงกัดเจียนตาย

รุ่นป่าแดง ออกจากโรงเรียนนายร้อยเมื่อ 10 มกราคม 2487 ขึ้นรถไฟที่สถานีสามเสนช่วงค่ำ ใช้เวลา 15 ชั่วโมงไปลงสถานีตะพานหิน แล้วเดินต่อ ไปกางเต็นท์นอนในทุ่งนา จากนั้นเดินด้วยเท้าอีก 5 วัน ระยะทางประมาณกว่า 100 กม.

นักเรียนนายร้อยคนหนึ่งบันทึกไว้ว่า… มาตอนแรก ส้มโอเพชรบูรณ์ ใบละ 2 สตางค์ ขณะที่กรุงเทพฯใบละ 1 บาท ถั่วฝักยาวก็กำละ 2 สตางค์ แต่พอ 2 อาทิตย์ ส้มโอก็ขึ้นเป็นใบละ 5 สตางค์ อะไรๆ ก็ขึ้นราคา กู่ไม่กลับ แกงจืดชามละ 10 สตางค์ แกงเผ็ด ชามละ 15 สตางค์ ขนมถ้วยละ 5 สตางค์….

จอมพลคนนนทบุรีตั้งค่ายทหาร “พิบูลศักดิ์” ที่ ต.หนองไขว่ อ.หล่มสัก ตั้งกระทรวงกลาโหม ที่บ้านป่าม่วง ต.ท่าพล อ.เมืองเพชรบูรณ์

สร้างสนามบินไว้ที่บ้านสักหลง อ.หล่มสัก ซึ่งเดิมวางแผนจะย้ายมาอำเภอท่าโรง (อำเภอวิเชียรบุรี)

ตั้งกรมยุทธโยธา คลังแสงและโรงงานช่างแสง กรมพลาธิการ กรมยุทธศึกษา กรมเสนาธิการทหารบก กรมเสนารักษ์ทหารบก กรมเชื้อเพลิง (โรงบ่มใบยาบ้านไร่)

จอมพล ป.พิบูลสงคราม มอบหมายให้ พลตรี อุดมโยธา รัตนาวดี เป็นผู้อำนวยการสร้างเมืองหลวงใหม่ มีหน้าที่สำคัญ คือ กำหนดผังเมืองและอำนวยการสร้าง มีการสร้างถนนเชื่อมต่อ สร้างเส้นทาง

ตั้งกระทรวงเกษตรฯ ที่บ้านน้ำดุก ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก ตั้งกองชลประทาน ทำนบกั้นน้ำ สร้างเขื่อน เหมือง ให้มีน้ำใช้ตลอดปี ให้มีการลอกห้วยหนอง คลอง บึง ทั้งหมด ต้องสะอาด..

กระทรวงคลัง ที่กุมชะตากรรมเงิน ทอง ของสยาม ให้ย้ายไปอยู่ถ้ำฤาษี อ.หล่มสัก ปรับปรุงถ้ำให้มั่นคง แล้วขนทองคำ ทุนสำรองและของมีค่าในพิพิธภัณฑแห่งชาติ ไปเก็บไว้ ถ้ำนี้วันนี้ยังเรียกกันว่าถ้ำฤาษีสมบัติ

ผังเมือง กระจายที่ตั้งกระทรวง ทบวง กรมอยู่ทั่วทั้งจังหวัด โดยมิให้กระจุกตัวกันอยู่ในเมืองเหมือนกรุงเทพฯ

เมืองหลวงใหม่ต้องเลิศหรู อลังการแบบยุโรป อเมริกา

แต่งตั้ง พ.อ.ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม เป็นรอง นรม. มีหน้าที่ดูแลกิจการทั้งสิ้นที่เพชรบูรณ์โดยเฉพาะ มีอำนาจเทียบเท่า นรม. โดยเรียกตำแหน่งว่ารองนายกรัฐมนตรีประจำนครบาลเพชรบูรณ์

แม่ทัพญี่ปุ่นที่มาบัญชาการรบในสยาม ชื่อนายพลนากามูระ เฝ้ามอง สืบสภาพ หาข่าวตลอดเวลาว่า จอมพล ป. แกกำลังทำอะไร ที่ดูแสนจะลึกลับ ซับซ้อน…

คนงาน ชาวบ้านที่ถูกกวาดต้อนมาเจ็บป่วย ล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง เมืองเพชรบูรณ์ก็กลายเป็นมหานครมฤตยู

เพชรบูรณ์ ไม่มีไฟฟ้าใช้ จอมพล ป. “จัดให้” ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้หลายแห่ง เพิ่มโทรศัพท์ ปรับปรุงการโทรเลข มีการสร้างโรงหนังไทยเพชรบูล สโมสรรัตนโกสินทร์และโรงแรมขึ้นในเขตเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อให้ข้าราชการได้ใช้เวลามาตรวจราชการ

สร้างตลาดสดและอาคารเช่า 3 แห่ง คือ ตลาดเพชรบูรณ์ ตลาดวังชมภู และตลาดหล่มสัก ซึ่งทุกแห่งต้องมีโรงภาพยนตร์ด้วย มีการออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในนครบาลเพชรบูรณ์ชื่อ เพชรบูลชัย หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ มีคำขวัญว่า “เชื่อพิบูล ชาติไม่แตกสลาย”

การก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ เป็นงานระดับยุทธศาสตร์ชาติ

สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ญึ่ปุ่นแพ้สงคราม ..ต่อมาเมื่อ 20 กรกฎาคม 2487 รัฐบาลจอมพล ป. ได้เสนอพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ พ.ศ.2487 ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออนุมัติเป็นพระราชบัญญัติ จะมีผลดำเนินการอย่างถาวรตลอดไป

ฝ่ายเสรีไทยในสภา เกรงว่าหากปล่อยให้จอมพล ป. เป็นนายกฯต่อไปจนสงครามจบ ไทยก็ต้องกลายเป็นประเทศแพ้สงคราม เพราะจอมพล ป. ไปลงนามร่วมมือกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหรัฐ

สภาจึงพร้อมใจคว่ำพระราชกำหนด ฉบับนี้…

.. สภาผู้แทนราษฎรลงมติ “ไม่อนุมัติ” ด้วยคะแนนเสียง 48 ต่อ 36 ด้วยเหตุผลว่า “เพชรบูรณ์เป็นแดนกันดารภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีไข้ชุกชุม เมื่อเริ่มสร้างเมืองนั้นผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานล้มตายลงนับเป็นพันๆ คน….”

ฝ่ายรัฐบาลที่นำพระราชกำหนดเข้าสภา จะชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจนเป็นจริงในสภา ก็ไม่ได้ เพราะญี่ปุ่นจ้องดูตาไม่กะพริบ

24 ก.ค. จอมพล ป. ชายชาติทหาร ตรงไป-ตรงมา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยุทธศาสตร์ชาติ สร้างเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่จึงเอวังด้วยประการฉะนี้…

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง จอมพล ป. ต้องติดคุกในฐานะอาชญากรสงคราม โดนขัง แต่สยามประเทศ ประชาชนทั้งประเทศ รอดปลอดภัยจากความเสียหาย

ผู้เขียน…ขอให้ชาวเพชรบูรณ์ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของดินแดนเพชรบูรณ์

คำว่า “นครบาลเพชรบูรณ์” เป็นประวัติศาสตร์ ที่ควรบอกเล่าให้ลูกหลานได้รับทราบ…หวุดหวิดจะได้เป็นเมืองหลวงแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image