สถานีคิดเลขที่ 12 : อเมริกาแทรกแซง?

วาระครบรอบ 18 ปี เหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยาฯ หรือ 9/11 ปีนี้ ไฮไลต์อยู่ที่การล้มเลิกการเจรจาสันติภาพของรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ กับกองกำลังนักรบสายสุดโต่ง ทาลิบัน ของอัฟกานิสถาน

สองเหตุการณ์นี้เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก เพราะ 11 กันยาฯ คือจุดเริ่มต้นที่ผู้ก่อการร้ายต่างแดนเข้ามาหยามสหรัฐถึงในถิ่น ด้วยการจี้เครื่องบินชนตึก

จากนั้นอเมริกาต้องยกทัพไปบดขยี้ทาลิบัน โค่นอำนาจจากการเป็นรัฐบาลและไล่ล่าโอซามา บิน ลาเดน อยู่เป็นสิบปี จนเด็ดชีพได้ในที่สุดที่เซฟเฮาส์ในพรมแดนปากีสถาน

ถามว่าคุ้มค่าไหม ถ้าเทียบตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 9/11 เกือบ 3,000 ราย ขณะที่ทหารอเมริกันเสียชีวิตในสมรภูมินี้ไปเกือบ 2,400 นาย ช่วง 18 ปีที่ผ่านมา

Advertisement

หากนับตัวเลขพลเรือนที่สังเวยชีวิตในช่วงเวลาเดียวกันคือ 31,000 ราย

บาดเจ็บและพิการไปอีกเกือบ 30,000 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตทั้งชาวบ้าน ทหาร นักรบติดอาวุธ คือเกิน 111,000 ราย

ความขัดแย้งที่อเมริกาเข้าแทรกแซงอัฟกานิสถาน น่าจะช่วยทำให้ชาวบ้านที่ทุกข์ทรมานและหวาดผวากับการปกครองของทาลิบัน ปรับเปลี่ยนขึ้นมาดีขึ้น แต่ก็ไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ ดูได้จากยอดผู้เสียชีวิตของชาวบ้านที่ตกเป็นเหยื่อการก่อการร้าย

Advertisement

รัฐบาลสหรัฐเองก็คงประเมินผลได้ จึงเริ่มการเจรจากับศัตรูอย่างทาลิบัน

คืบหน้าถึงขั้นที่ประธานาธิบดีทรัมป์เกือบเชิญมาเจรจาถึงแคมป์เดวิดในอเมริกา แต่ล้มดีลอย่างฉุกละหุก ก่อนถึงวาระรำลึก 9/11

ใช้ข้ออ้างเหตุโจมตีด้วยคาร์บอมบ์ในกรุงคาบูล เมื่อวันที่ 5 ก.ย. คร่าชีวิตเหยื่อ 12 ราย ในจำนวนนี้ มีทหารอเมริกัน 1 นาย และทหารโรมาเนียอีก 1 นาย ในสังกัดองค์การนาโต

ตามร่างข้อตกลงเดิม สหรัฐเสนอจะถอนทหารระลอกแรก 5,400 นาย จากที่มีอยู่ 14,000 นาย ภายใน 20 สัปดาห์ หากกลุ่มทาลิบันรับรองว่าจะไม่ยอมให้อัฟกานิสถานตกเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มก่อการร้ายอีก

แต่เมื่อทาลิบันมาก่อเหตุอย่างประเจิดประเจ้อขนาดนี้ จึงเป็นเงื่อนไขให้ล้มกระดานได้ทันที

ชะตาของอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไรต่อไป ต้องรอชมหลังวาระรำลึก 9/11 ผ่านพ้นไปก่อน เพราะทั้งหมดนี้ ชัดเจนว่าการตัดสินใจใดๆ ของผู้นำสหรัฐ คืออเมริกาต้องมาก่อน

นโยบายนี้อาจเป็นส่วนที่ช่วยทำให้กลุ่มคนในประเทศที่อยากให้รัฐบาลอเมริกาช่วยเหลือ ประเมินความคาดหวังของตนเองได้ เช่น ผู้ประท้วงของฮ่องกงที่อยากให้สหรัฐช่วยสนับสนุนการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย

หากอเมริกาจะช่วย หมายความว่าอเมริกาจะต้องได้ประโยชน์จากการยื่นมือ และผลที่ได้ต้องคุ้มค่า

หรือกรณีประเทศไทยเอง คงไม่มีใครอยากไปเรียกร้องแบบผู้ประท้วงชาวฮ่องกง เพราะอาจถูกโจมตีว่าชักศึกเข้าบ้าน ชังชาติ หรือหนักๆ หน่อยก็ขายชาติ

และหากย้อนดูประวัติศาสตร์ที่อเมริกาคบหากับไทยแล้ว ล้วนเป็นผลดีด้านยุทธศาสตร์การทหาร การปราบปรามคอมมิวนิสต์

หากประชาธิปไตยไทยจะชะงักเป็นช่วงๆ ถูกกดขี่เป็นพักๆ ก็ดูจะไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่

ยิ่งผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว การเจรจาขายอาวุธก็จะเดินหน้าต่อไปได้เรื่อยๆ

ฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเลยว่าอเมริกาจะเข้ามาแทรกแซง

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image