คิดถึง SOAS (1) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

มัลคอล์ม คัลด์เวล (คนขวาสุด) ในกัมพูชา ก่อนถูกลอบสังหารไม่นาน

ในบรรยากาศทางวิชาการสายมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ที่ถดถอยลงทั่วโลก พร้อมๆ กับแนวคิดว่ามหาวิทยาลัยต้องไม่ได้มีเพียงหน้าที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ พึ่งพารัฐบาลให้น้อยลง และต้องหาเงินเพื่อเลี้ยงตนเอง มหาวิทยาลัยทั่วทั้งโลกประสบกับปัญหานี้ อาจมียกเว้นในรัฐสวัสดิการอยู่บ้างในประเทศกลุ่มนอร์ดิก หรือเยอรมนี ที่รัฐบาลมองว่าการศึกษาเป็นเสมือนโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ที่มหาวิทยาลัยอาจไม่ได้รับผลกระทบจากแนวทางเสรีนิยมใหม่เท่ากับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในอังกฤษ (สหราชอาณาจักรโดยรวม) สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ไทย

เมื่อมหาวิทยาลัยต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านงบประมาณ มหาวิทยาลัยก็จำเป็นต้องปรับตัว ในอังกฤษ มหาวิทยาลัยหลายแห่งหันไปใช้ระบบเครือข่ายศิษย์เก่าเพื่อระดมทุน เป็นระบบที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาใช้มานานนับร้อยปี เกือบทุกมหาวิทยาลัยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเพื่อเข้าไปบริหารสถาบันการศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้มีเพียงหน้าที่สอนหรือทำวิจัยอีกต่อไป แต่ยังต้องรายงานตรงต่อ “แอดมิน” ส่วนกลางของภาควิชา คณะ และมหาวิทยาลัย

แน่นอน เมื่อกล่าวถึงการเรียนการสอนในสาขาที่ “ไม่ทำเงิน” คือมีผู้เรียนน้อยราย และต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อจ้างผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุมาก มีประสบการณ์สูง และมีจำนวนเพียงหยิบมือทั่วโลก วิธีแก้ปัญหานี้คือการทยอยปิดรายวิชาที่มีผู้เรียนน้อย หรือที่ไม่ทำเงิน ในอังกฤษ มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ฐานะการเงินดี ที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาวิชา อย่างมหาวิทยาลัยกลุ่มรัสเซลล์ (Russell Group ประกอบด้วยมหาวิทยาลัย 24 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร มีชื่อเสียงและความชำนาญแตกต่างกันไป มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดก็เป็นส่วนหนึ่งของ Russell Group ด้วย) อาจต้องปรับตัวบ้างตามโครงสร้างนักศึกษาที่เปลี่ยนไป หันมาให้ความสำคัญกับนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่ม “ทำเงิน” กลุ่มหลักมากขึ้น แต่ในมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีจำนวนนักศึกษาน้อย ปัญหาของผู้บริหารจึงต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

อังกฤษมีมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยเฉพาะด้านที่มีชื่อเสียงมากมาย เฉพาะในลอนดอน วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน (London School of Hygiene & Tropical Medicine) สถาบันการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน (Institute of Education) ที่ในปัจจุบันถูกควบรวมเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London-UCL) หรือวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา (School of Oriental and African Studies) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “โซแอส” (SOAS)

Advertisement

ผู้เขียนใช้เวลาเกือบ 6 ปีที่โซแอส ผูกพันกับสถาบันแห่งนี้จนเรียกได้เต็มปากว่าเป็นบ้านหลังที่สอง โซแอสไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ แต่ยังเป็นที่ผู้คนจากทั่วโลกที่มาศึกษาสาขาหายากด้านเอเชียและแอฟริกาศึกษา โซแอสมีครูสอนภาษาหายากจากทั่วทั้งโลก เช่น ภาษาสิงหล ภาษาในกลุ่มออสโตรนีเซีย อันเป็นภาษาหลักในโลกมลายู หมู่เกาะในเขตโปลินีเซีย ไปจนถึงมาดากัสการ์ในแอฟริกาตะวันออก หรือภาษาพม่า ที่ผู้เขียนได้เรียนมาจากจอห์น โอเคล (John Okell) ปรมาจารย์คนสำคัญ ศิษย์เอกของสะยาจี หละ เพ (Hla Pe) หนึ่งในผู้บุกเบิกการเรียนการสอนภาษาพม่ายุคใหม่ที่โซแอส ในอดีต โซแอสมีผู้เชี่ยวชาญด้านอาณาบริเวณศึกษามากมาย ในภาษาของผู้เขียน คนเหล่านี้เป็นมนุษย์อีก “สปีชี่” หนึ่ง เพราะพวกเขามีความหมกมุ่น ความสนใจ และความเชี่ยวชาญแสนพิเศษ มัลคอล์ม คัลด์เวล (Malcolm Caldwell) เป็นนักเขียนฝ่ายซ้ายที่ผู้เชื่อมั่นในการปฏิวัติประชาชน จากนักเขียน คัลด์เวลกลายเป็นอาจารย์และนักวิจัยที่โซแอสตลอดทศวรรษ 1960 และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Journal of Contemporary Asia วารสารที่รวบรวมบทความว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนจากทั่วเอเชีย (ยังตีพิมพ์อยู่จนถึงปัจจุบัน) คัลด์เวลมีผลงานเขียนหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Thailand: Towards the Revolution (ไทย: มุ่งสู่การปฏิวัติ) ที่ตีพิมพ์ในปี 1976

คัลด์เวล นักเขียนสายแรดิคัลชาวสก๊อต ผู้ “อิน” กับการปฏิวัติและลัทธิคอมมิวนิสต์ โปรคอมมิวนิสต์จีน เดินทางเข้าไปในประเทศคอมมิวนิสต์หลายแห่ง รวมทั้งกัมพูชา ในช่วงเดียวกันกับที่เขมรแดงยึดกัมพูชาได้ในปี 1975 คัลด์เวลชื่นชมพล พต ผู้นำเขมรแดงอย่างยิ่ง และออกโรงปฏิเสธรายงานที่ออกมาประณามการสังหารหมู่ของเขมรแดง แม้จะเป็นผู้สนับสนุนเขมรแดง แต่ในที่สุดคัลด์เวลถูกลอบสังหารในเกสต์เฮาส์แห่งหนึ่งในพนมเปญ ปมการสังหารไม่ปรากฏชัด คนแบบคัลด์เวล เอตทัคคะด้านการเมืองและเอเชียศึกษา ผู้หมกมุ่นกับการศึกษาประเด็นใดประเด็นหนึ่งตั้งแต่วันแรกที่เดินเข้ามหาวิทยาลัยจนถึงวันเกษียณอายุ กลายเป็นของหายากขึ้นไปทุกทีในโลกการศึกษาขั้นสูงในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไม่ต้องการให้ผู้สอนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องการอาจารย์ทำหน้าที่ทุกอย่างได้ครบถ้วน ทั้งกรอกเอกสาร สอน วิจัย หรือแม้แต่ออกรายการพอดคาสต์เพื่อโปรโมตมหาวิทยาลัย

บรรยากาศการศึกษาขั้นสูงแบบนี้แหละที่ทำให้โซแอส และมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะอื่นๆ ตกต่ำลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระหว่างปี 2016-2018 ตัวเลขนักศึกษาในระดับปริญญาตรีลดต่ำลงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อนๆ เพราะรายได้หลักของโซแอสคือค่าเทอม ที่ส่วนใหญ่เก็บได้จากนักศึกษาต่างชาติ (ค่าเรียนของนักศึกษาต่างชาติสูงกว่านักศึกษาจากอังกฤษและยุโรปเกือบ 3 เท่า) หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ เท่ากับมหาวิทยาลัยจะต้องเจียดเอาเงินเก็บของตนเองออกมาใช้เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต หรือหากสถานการณ์แย่ลง วิธีเดียวที่โซแอสจะอยู่รอดคือมีมหาวิทยาลัยที่ใหญ่กว่ามา “อุ้ม” หรือพูดง่ายๆ คือควบกิจการ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ Institute of Education (IOE) ประกาศควบรวมกับ UCL เมื่อปี 2014

Advertisement

เพื่อนสนิทคนหนึ่งของผู้เขียนเป็นอาจารย์ในระบบมหาวิทยาลัยของอังกฤษ เขาเคยเล่าให้ฟังหลายครั้งว่ามหาวิทยาลัยในอังกฤษปัจจุบันต้องดิ้นหนีตายกันให้วุ่น นักศึกษาเกรดเอที่เคยเป็นเสาหลักให้กับมหาวิทยาลัยหาได้ยากขึ้นทุกที และการที่แต่ละมหาวิทยาลัยต้องบริหารจัดการการเงินของตนเองทำให้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ต้องรับนักศึกษาคุณภาพต่ำลงทุกปีๆ ซึ่งมีผลกระทบกับบรรยากาศของมหาวิทยาลัย และสภาพจิตใจของอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราไม่รู้ว่าสถานการณ์ของโซแอสจะดีขึ้นหรือไม่ในอนาคต แต่หากจะให้คาดเดา ความไม่แน่นอนของการเมืองอังกฤษในปัจจุบัน ภายใต้มหากาพย์ Brexit นี้ ทำให้ทุกองคาพยพในอังกฤษอ่อนแอลง ไม่เว้นแม้ในภาคการศึกษา การควบรวมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ด้วยสถานการณ์การเงินของมหาวิทยาลัยที่ใหญ่กว่าอื่นๆ ก็ไม่ใช่จะมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ในสัปดาห์ต่อๆ ไป ผู้เขียนจะนำผู้อ่านไปรู้จักกับโซแอส ที่เริ่มจากเป็นโรงเรียนฝึกภาษาให้ข้าราชการอาณานิคมของอังกฤษ ก่อนที่พวกเขาจะถูกส่งไปประจำในอาณานิคมทั่วโลก และการปรับตัวของโซแอสตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาจนเข้าสู่ยุคสงครามเย็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image