ถ่ายทอดการอภิปรายดีอย่างนี้ : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ระหว่างนี้วันศุกร์ที่ 13 กันยายน ถึงวันพุธที่ 18 กันยายน 2562 นับทั้งหมดคือ 6 วัน สายวันที่ 18 กันยายน ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เริ่มประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออภิปรายเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรีมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำไม่ครบถ้วนตามคำปฏิญาณในรัฐธรรมนูญ อาจเป็นเหตุให้การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาต้องเริ่มต้นใหม่หรือไม่

คณะรัฐมนตรีกำหนดให้นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วยตนเองในวันที่ 18 กันยายน 2662 เพียงวันเดียว เพราะหลังจากนั้นเป็นการปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก

การอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา มีการบันทึกการอภิปรายนั้นอย่างละเอียด แทบว่าทุกคำพูด ไม่ว่าการประชุมครั้งนั้นจะมีการถ่ายทอดเสียงผ่านวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือไม่ แม้ไม่มีการถ่ายทอดต้องมีการอัดเสียงลงแถบบันทึกเสียง พร้อมกันนั้นยังมีเจ้าหน้าที่จดบันทึกในลักษณะ “ชวเลข” ด้วย

การจดด้วยภาษา “ชวเลข” เมื่อก่อนเป็นวิชาที่มีการเรียนในโรงเรียนพณิชยการ ที่ทราบ มีทั้งในโรงเรียนพณิชยการพระนคร และพณิชยการบพิตรพิมุข และโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดบางแห่ง

Advertisement

ต่อมามีโรงเรียนพณิชยการธนบุรี ไม่ทราบว่ายังมีการเรียนอยู่หรือไม่

เมื่อมีการยกระดับขึ้นเป็นวิทยาลัยพณิชยการ น่าจะยังมีการเรียนอยู่ และทุกวันนี้โรงเรียนพณิชยการทั้งหมด รวมทั้งวิทยาลัยพณิชยการอาชีวศึกษายกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มีชื่อต่อท้ายของแต่ละแห่ง แบ่งเป็นหลายวิทยาเขต ก็น่าจะยังมีการเรียนวิชา “ชวเลข” เพราะเคยเห็นเจ้าหน้าที่สภายังจดรายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการเป็นชวเลขอยู่

จึงเชื่อได้ว่า การอภิปรายในรัฐสภาทุกครั้ง โดยเฉพาะในวาระสำคัญ จะไม่มีการตกหล่นในการพูดของสมาชิก เพราะสมาชิกแต่ละคนจะนำมาอ้างเสมอว่าสมาชิกคนนั้นพูดอย่างนั้น สมาชิกคนนี้พูดอย่างนี้ ทั้งยังท้าให้นำแถบบันทึกเสียงมาเปิดให้ฟัง

Advertisement

ยิ่งมีการถ่ายทอดทางสภานีวิทยุโทรทัศน์ อากัปกิริยา และการกระทำของสมาชิกขณะอภิปรายยังให้มาเปิดเทปโทรทัศน์เพื่อยืนยันอีกด้วย

การถ่ายทอดออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อสมัยก่อน ยุคที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน การประชุมรัฐสภาในยุคนั้นมีการถ่ายทอดเสียงจากสถานีวิทยุกระจายเสียงสม่ำเสมอ ทำให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสรับฟังการถ่ายทอดเสียงตลอดเวลาเหล่านั้น

จำได้ว่า ครั้งหนึ่งเดินทางไปจังหวัดภูเก็ต และเดินชมร้านค้ากับที่อยู่อาศัยบนถนนสายหนึ่ง ตั้งแต่สี่แยกหนึ่งไปอีกสี่แยกหนึ่ง ทุกบ้านเปิดวิทยุถ่ายทอดเสียงตลอดเวลาเหล่านั้น ทำให้ได้รับฟังถ่ายทอดเสียงการอภิปรายตั้งแต่หัวถนนยันท้ายถนน

นั้นหมายถึงความสนใจทางการเมืองของพี่น้องประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง กับผู้เดินผ่านไปผ่านมาบนถนนสายนี้ และลูกเล็กเด็กแดงพลอยสนใจไปด้วย ไม่มากก็น้อย

ประเทศไทยห่างเหินการถ่ายทอดเสียงการอภิปรายไปนาน เมื่อมีการถ่ายทอดเสียงครั้งนี้ ยิ่งทำให้เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนอภิปรายด้วยข้อมูลหลักฐาน และด้วยเหตุด้วยผล มีการสืบค้นข้อมูลหลักฐานขึ้นมาอภิปราย และผู้ตอบการอภิปรายนำข้อมูลหลักฐานมาตอบการอภิปรายด้วยเหตุด้วยผลเช่นกัน ทำให้ผู้ฟังรู้ถึงข้อมูลในเรื่องนั้นๆ ว่ามีหลักฐานอย่างไร รัฐบาลมีการแก้ไขไปแล้วหรือไม่อย่างไร

ทั้งข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ และข้อมูลในทางลับที่ประชาชนอาจไม่เคยทราบมาก่อน เช่น งบประมาณในเรื่องนั้นเรื่องนี้ มีเท่านั้นเท่านี้ เป็นข้อมูลที่ดีกว่าทางราชการนำมาติดตั้งไว้ในที่ใดที่หนึ่ง เช่น การก่อสร้างว่าการก่อสร้างตรงนั้นตรงนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อใด เสร็จเมื่อใด ใครเป็นผู้รับเหมา ใครเป็นช่างผู้ควบคุม

เพื่อไม่เพียงประชาชนจะเป็นผู้ติดตาม แต่ผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้คอยติดตามให้ด้วย นี้คือข้อดีของการเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image