เส้นทางความเสื่อม เสื่อมซึ่งศรัทธา ศรัทธาการเมือง

เส้นทางความเสื่อม เสื่อมซึ่งศรัทธา ศรัทธาการเมือง

ไม่ว่าจะเป็น “มหากาพย์” ว่าด้วยอดีตอันคลุมเครือของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่กลับมาเป็นข่าวฮือฮารอบใหม่

เมื่อหนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮอรัลด์ ไปขุดค้นเอาบันทึกคำพิพากษาของศาลออสเตรเลียมาตีพิมพ์

ในขณะที่เจ้าตัวผู้ถูกระบุในข่าว ตอบโต้อย่างเกรี้ยวกราด

Advertisement

ทั้งการท้าทายให้ผู้บงการให้เกิดข่าว-ที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ มาเผชิญหน้ากันแบบ “ตัวต่อตัว”

และด้วยการประกาศจะดำเนินคดีกับใครก็ตามที่ยังขุดคุ้ยอดีต-ที่เจ้าตัวประกาศว่าจบไปแล้ว

อันยังเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน

Advertisement

ทั้งในโลกเสมือนและโลกจริง

หรือจะเป็นกรณีที่ นายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย นำพวกรุมทำร้ายร่างกาย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเดียวกัน ถึงในห้องของหัวหน้าพรรค

อันเนื่องมาจากความขัดแย้งในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า ที่ทั้งสองฝ่ายยืนอยู่คนละขั้ว

และปะทะคารมกันมาแล้วทั้งในกรรมาธิการ และในสภา

ก่อนจะมาถึงการ “ลงไม้ลงมือ” จนกลายเป็นข่าวอื้อฉาวใหญ่โต

อันนำมาซึ่งการเปิดปูมอดีตของฝ่ายผู้ลงมือ

ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมกระโดดถีบสมาชิกพรรคเดียวกัน ที่ถูกวางตัวให้ลงสมัครรับเลือกตั้งแทน

และสุดท้ายผู้ลงไม้ลงมือก็ “สมใจ” เมื่อพรรคเปลี่ยนมติให้กลับมาลงสมัครได้เช่นเดิม

ไปจนถึงคดีเกี่ยวข้องพัวพันกับการฆาตกรรมในพื้นที่

รวมทั้ง ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ที่ “เยือกเย็น” เป็นอย่างยิ่ง ต่อข้อเสนอทั้ง ส.ส.ของฝ่ายรัฐบาลเอง และ ส.ส.ฝ่ายค้าน

ที่จะเสนอญัตติให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลบรรจุเอาไว้ใน 12 นโยบายหลักที่จะเริ่มดำเนินการ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันเป็นมั่นเหมาะต่อสาธารณชน

ว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เข้าร่วมรัฐบาล ก็เพราะจะผลักดันเรื่องนี้ให้ออกมาเป็นรูปธรรม

คำสัญญากับความเป็นจริงแตกต่างกันอย่างไร

ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองย่อมสัมผัสได้

ข้อเท็จจริงและความผิดถูกของเรื่องข้างต้นจะเป็นอย่างไร

ย่อมมีกระบวนการพิสูจน์ต่อไป

แต่ในฐานะ “ประเด็นการเมือง” เรื่องเหล่านี้มีความพิเศษเฉพาะเพิ่มขึ้นมา

ประเด็นว่าด้วยความเชื่อและความรู้สึกของสาธารณชน

ฉะนั้น การปล่อยให้ความคลุมเครือและความสงสัยในความสุจริตของรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ยืดเยื้อยาวนาน

โดยไม่มีท่าทีชัดเจนจากรัฐบาลหรือพรรคต้นสังกัด

ความไม่เชื่อมั่น ความระแวงสงสัย จึงไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะเจ้าตัวผู้ถูกกล่าวหา

แต่ย่อมกระทบภาพลักษณ์ของรัฐบาลและพรรคไปด้วย

เช่นเดียวกับ การปล่อยให้พฤติกรรม “เถื่อน” เกิดขึ้นพรรค ในห้องทำงานของหัวหน้าพรรค

โดย “ผู้ใหญ่ในพรรค” ปรารถนาจะให้เรื่องเงียบหายไปเฉยๆ

ด้านหนึ่งย่อมเหมือนพรรคให้การสนับสนุนพฤติกรรมเช่นนี้

รวมไปถึงท่าทีเฉยเมยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของผู้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ย่อมทำลายน้ำหนักและความศรัทธาที่มีต่อบุคคลและระบบ

ความไม่เชื่อมั่นไม่เชื่อถือ ความลดหายของศรัทธา ที่มีสถาบันและระบบ

เรียกสรุปได้สั้นๆ ว่าเป็น “ความเสื่อม”

ความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล ความเสื่อมที่เกิดขึ้นพรรคแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล ความเสื่อมที่เกิดขึ้นกับพรรคแกนนำฝ่ายค้าน

ล้วนแล้วแต่เป็นผลลบต่อระบบการเมืองโดยรวม

ที่อ่อนไหวและเปราะบาง รวมทั้งเป็นเป้าโจมตีของคนบางกลุ่มอยู่แล้ว

ถ้าคนในแวดวงการเมืองด้วยกันเองไม่ตระหนักว่านี่คือความเสื่อม

ถ้าคนในแวดวงการเมืองด้วยกันเองไม่เห็นว่าจะต้องรีบเร่งแก้ไข

การเมืองไทยก็จะเสื่อมทรามลงเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image